Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พลันที่พรรคเพื่อไทยแถลงการณ์ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 และมีเอกสารแถลงการณ์ฉบับเต็ม [1] เผยแพร่ทั่วไปในโซเชียลมีเดีย ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า โอกาสจัดตั้งรัฐบาลสัญญาประชาคมบนฐานฉันทมติประชาชนคงไม่เกิดโดยง่ายอีกต่อไป พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคฉันทมติลำดับ 2  “ขอถอนตัว” ภายใต้รูปประโยคที่ว่า “ได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกล” ซึ่งเป็นการสื่อสารที่เกิดปัญหาในตัวเอง เห็นจาก Hashtags ที่ติดอันดับใน Twitter ว่า #เพื่อไทยการละคร #มันจบแล้วครับนาย สอดรับกับในท้องถนนที่เกิดกระแสตีกลับ จากขบวนขันหมากก็กลายเป็นพรรคก้าวไกลตกพุ่มม่ายขันหมาก แรงกระเพื่อมที่ก่อตัวลักษณะนี้ คาดเดาได้ยากว่า พรรคเพื่อไทยมีการประเมินสถานการณ์เหล่านี้ไว้แค่ไหน เพียงไร ยังเอาอยู่หรือไม่

 เพราะไม่ว่าความจริง (fact) ของพรรคเพื่อไทยหน้าตาอย่างไร แต่โชคร้ายที่ พ.ศ.2566 โลกที่สื่อเป็นตัวกำหนด (McLuhan’s Laws of Media) ส่งผลอย่างรุนแรงกับพรรค ทำให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกซ้ำรอยเดิม ซึ่ง The return of history ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย 20 ปี กลับมาอีกครั้ง

ถึงวันนี้ ต้องเป็นบทเรียนเสียทีหรือไม่ เรื่องการสื่อสารการเมืองแบบใหม่ เพราะ Digital Footprint ของพรรค (และรวมถึงพรรคร่วมในอนาคตอันใกล้ด้วย) จะกลายเป็นความน่าสะพรึงกลัว (terror) ที่ติดตามหลอกหลอนรัฐบาลอายุสั้นไปตลอดอายุขัย หากอ่านปรากฏการณ์นี้จากทัศนะนักวิชาการ เป็นต้น Zizek (2008) [2] ก็น่าจะยังรับรองได้ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีความชอบธรรมที่จะหลอกหลอนและสร้างความน่าสะพรึงกลัวตามที่จำเป็น เพื่อเรียกคืนหลักการที่สูญหายไปของประชาธิปไตย ประเด็น คือ พรรคเพื่อไทยมีการประเมินสถานการณ์เหล่านี้ไว้แค่ไหน เพียงไร เพราะตนเองได้เป็นผู้พรากหลักการนั้นไปเสีย

หากจะทำความเข้าใจพรรคเพื่อไทย ดูเหมือนว่า พรรคจะอยู่ใน Sandwich Generation กล่าวคือตรงกลางระหว่างสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) กับเยาวชนคนวัยทำงานตอนต้น เช่น Gen Z ดังนั้นจึงกลายเป็น “เดอะแบก” ที่เผชิญทั้งแรงกดดันและแรงเสียดทาน ส่งผลให้ บุคคลที่สื่อสารทางการเมือง ในนามพรรค ผู้สนับสนุนพรรค ออกอาการเครียด บริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกได้ไม่ดี และเกิดการแสดงออกที่ส่งผลทางลบต่อภาพรวมของเหตุการณ์ พล็อตเรื่องทำนองนี้ ดูเพื่อไทยการละครแล้วย้อนดูตัว จะพบว่า Sandwich Generation เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกองค์กร จะมีคนที่เหมือนพรรคเพื่อไทยในวันนี้ ผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ต่างจากรัฐสภา สว. หรือแม้แต่ผู้มีอิทธิพลนอกระบบที่ส่งผลกระทบต่อบริษัท และระดับปฏิบัติงานที่มีความคิดอ่านแบบก้าวไกล ดังนั้น องค์กร บริษัท หน่วยงานก็ติดกับดักเดียวกับรัฐสภา เมื่อทุกคนต่างก็ต้องอยู่ในองค์กรลักษณะนั้น ไม่ว่าด้วยอุดมการณ์ ความอยู่รอด ปากท้อง หรืออะไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราต่างได้ลิ้มรสทั้งแรงกดดันและแรงเสียดทานจากปัญหารูปแบบคล้ายกัน

แต่หลัก คือ เพื่อนในองค์กรที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องอย่างจริงจังจนอาจดูก้าวร้าวรุนแรง (aggressive) ก็เช่นเดียวกับคนที่แบกเอาไว้ที่เต็มไปด้วยการกดข่มและไม่ระบายอารมณ์ ต่างจำเป็นต้องเข้าใจสภาพจิตใจ (mental health)  กันและกัน สำหรับผู้ที่สุขภาพจิตและวุฒิภาวะทางอารมณ์เสียไปแล้ว ความรู้เรื่องสุขภาพจิต (mental health literacy) เป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึง---ถึงเวลาแล้วที่สนามการเมืองต้องพูดเรื่องพวกนี้ด้วย

โดยข้อเท็จจริง เสียงสะท้อนจากระบบตัวแทน (representative system) ของรัฐสภาแน่แล้วว่ายังไม่สิ้นสงสัยในรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ ออกท่ายอมรับว่า โลกล้วนเปลี่ยนแปลงพลิกผัน จึงยังสามารถอ้างขอเปิดอภิปรายกันได้อย่างไม่รู้จบสิ้น กลายเป็นกลเกม กลหมาก ที่นำไปสู่หมากตาย เพราะมีแนวโน้มตกลงกันไม่ได้ และ “เดอะแบก” จะกลายเป็นกระโถนท้องพระโรง ทุกครั้งไป การเปลี่ยนผ่านที่คาดหวังกัน จึงยังเสี่ยงมากว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าไปสู่ประวัติศาสตร์โฉมหน้าใหม่ หรือถอยหลังวนกลับไปตั้งหลักที่ พ.ศ.2475 พ.ศ.2481 พ.ศ.2516 พ.ศ.2519 พ.ศ.2535 พ.ศ.2549 พ.ศ.2553 พ.ศ.2557

จากที่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็น “เดอะแบก” ที่มีทั้งรอยแผล ความเจ็บปวด รอยน้ำตา ทุกข์ทนจากความไม่เข้าใจของคนทั้งสอง Gen แบบ Sandwich Generation จึงตั้งความหวังไว้สูงมากกับ Change Agent เพราะอยากพ้นจากสภาพนี้แบบฉับพลันทันที  [3] แต่ ณ วันนี้ เส้นทางดังกล่าวเต็มไปด้วยกับระเบิด และค่ายกลนิติสงครามที่ใช้เวลากว่า 10 ปีที่สร้างอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเป็นระบบ สำหรับคนที่เพิ่งได้มาเห็นการยุติวงจรนี้ระบบยาวจึงควรเริ่มด้วยการถอดบทเรียน ตกผลึก สะท้อนคิด และมองความเป็นไปได้ใหม่ ๆ การทดลองเหลากลยุทธ์ที่แหลมคม เช่น การยกขันหมาก Car Mob Flash Mob หรือการนำของ บก.ลายจุด ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์คม ๆ ของช่วงนี้  แต่กระนั้น ยังไม่เพียงพอ ต้องมุ่งเน้น “วิถีแห่งความแตกต่างหลากหลาย” สร้างกระแสรอง กระแสทางเลือก ให้เกิดขึ้น ทั้งในรูปของพรรคใหม่และกลุ่มขบวนการใหม่ เหมือนพรรคประชาชาติ พรรคเป็นธรรม พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย หรือแม้แต่พรรคไทยภักดี ที่แม้จะคล้ายกับคนรุ่นเก่าที่ยังจับทางเด็กรุ่นใหม่ไม่ถูก แต่ก็เป็นคุณกับการเมืองใหม่ เพราะถ้าหลากหลายแท้จริง (ไม่ใช่กลยุทธแตกแบงค์พัน) ก็ย่อมจะคลายเงื่อนทางการเมืองระบบขั้วขัดแย้ง (binary opposite) ที่ครอบงำกรอกหูสังคมไทยมานานผ่านปาก เทคโนแครตและนักวิเคราะห์การเมืองยุคเก่าที่ไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ไปสู่ (paradigm-shift) ระบบหลากหลายแนวคิดแบบไม่จำกัดขั้ว ซึ่งจะก่อให้เกิดระบบหลากหลายพรรค (multi-party system) สร้างสภาพความร่วมมือโดยธรรมชาติที่ต้องตกลงร่วมกันเพราะแต่ละพรรคมีแนวทางที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ การเลือกตั้ง พ.ศ.2566 ได้สร้างมาตรฐานที่ดีแล้วด้วยการแถลงลงนาม MOU (แม้จะฉีกไปแล้ว)

ด้วยวิธีนี้เสียงสะท้อนจากระบบตัวแทน (representative system) จากรัฐสภาในอนาคต จึงจะมีพลังเพียงพอที่จะหลุดพ้นจากระบบขั้วขัดแย้ง สิ้นสุดข้ออ้างและวิวาทะ ผลัดสิ่งแปลกปลอมของยุคสมัยด้วยการเลือกตั้งเป็นคราวๆไป --- ภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่จึงพอมีหวังเกิดขึ้นได้

แต่ความพยายามเป็นสถาบันทางการเมือง (institutionalize) ของพรรคการเมืองในระบบขั้วขัดแย้ง จะเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่นี้หรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะแม้แต่ประชาธิปัตย์ ก็ยังมีโอกาสฟื้นฟูตนเอง ประกอบสร้างตัวตนขึ้นใหม่ (กี่ครั้งก็ได้) และเป็นตัวแสดงที่ยังมีบทบาทในนิเวศทางการเมือง และอาจถูกเลือกหากมีคุณสมบัติเพียงพอให้เลือก เช่นเดียวกับที่ผู้เล่นเกมเลือกตัวละครในเกมน่าสนใจที่ วันนี้ พรรคเพื่อไทยก็จ่อรออยู่ในคิวรื้อสร้าง (re/de-construct) ในโรงจอดเดียวกัน ที่จริงรวมถึงพรรคก้าวไกล ในฐานะที่ Branding ถูก Label ให้เป็นขั้วขัดแย้ง (แม้ตนเองจะปฏิเสธและไม่เต็มใจ) ด้วย

 สิ่งแปลกปลอมแท้จริงในโลกหลังปี พ.ศ.2562 เห็นจะเป็น “การสื่อสารการเมืองแบบเก่า” สังเกตว่า เพียง 4 ปีโดยประมาณ การสื่อสารการเมืองแบบก่อนปี พ.ศ. 2562 ถูกปัดทิ้งโดยไม่ไยดี เพิ่มเติมซ้ำด้วยกระแสตีกลับที่รุนแรงจากการขยายตัวตามธรรมชาติของสื่อ เช่น ปรากฏการณ์โหนกระแส ปรากฎการณ์สรยุทธ ปรากฏการณ์จอมขวัญ ปรากฏการณ์จตุพร เร่งปฏิกิริยาด้วยวิถีการตลาดบนแอปพลิเคชั่นที่เน้นการผลิตซ้ำ ประกอบข้อเท็จจริงที่ว่า ประชาชนไทยเสพสื่อโซเชียลมีเดียติดอันดับโลก จึงไม่แปลกที่ได้ยินวาทะของนักวิเคราะห์แม้ยุคเก่าหลายคน ยกเรื่องนี้มาใช้อธิบายการไม่ Landslide ของพรรคเพื่อไทย และปรากฏการณ์แบบนี้ก็ไม่อาจหยุดยั้งได้อีกแล้ว

วิธีการสื่อสารทางการเมืองแบบใหม่ต้องวางธรรมชาติอยู่บนความเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้สื่อเป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองแม้ไม่อยากเรียนรู้ก็ต้องเรียนรู้ เพื่อเป็นตัวแสดงทางการเมืองต่อไปไม่ถูกปัดทิ้งหรือลบลงถังขยะ ที่ ณ ตอนนี้ นักการเมืองและพรรคทั้งหลายได้ประสบแล้ว

การสื่อสารทางการเมืองแบบใหม่ (new political communication) เป็นสนามใหม่ (new frontier) ณ วันนี้ มีเพียงพรรคก้าวไกลที่เล่นบทบาทในสนามใหม่ ถึงจะไม่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ แต่ก็ทำคะแนนได้ดี สอดคล้องกับที่ประชาชนมีฉันทมติให้ อย่างไรก็ตาม พรรคที่มีฉันทมติอันดับ 2 อย่าง พรรคเพื่อไทยกลับสอบตกไปเรียบร้อย อย่างน้อยจากวิธีที่สื่อสารในแถลงการณ์ ประกอบกับการเสียอาการของเดอะแบก ทำให้พรรคดูแย่ลงมากในโลกทัศน์แบบเกม ROV หากฟังเสียงสะท้อนในโซเชียลมีเดีย และจากท้องถนนประกอบกัน พรรคต้องทบทวนการสื่อสาร เพราะยังคงต้องรับบทบาท “เดอะแบก” เป็น sandwich ที่จะรับทุกแรงกดดันและแรงเสียดทานต่อไปจนกว่าสนามการเมืองใหม่จะเกิด วิธีการหนึ่งที่ดี และคงเป็นทางรอดเดียวในห้วงเวลาสั้น ๆ คือ การแสดงออกถึง “ความเป็นคน” มีความรู้สึก มีเลือดเนื้อ มิได้เป็นอื่น (other) หรือเป็นเครื่องจักรนั่งร้าน

เป็นเพียง “คน” ที่เหมือนทุกคน รู้จักพลาดพลั้ง รู้จักขอโทษ มีวันที่เหวี่ยง วันที่เหนื่อย วันที่ไม่พอใจ เป็นคนที่ไม่ใช่เทวดา อาจทำผิดบางครั้ง แต่ก็ไม่ขลาดเขลาจนยอมทิ้งหลักการได้ทุกเมื่อ

เมื่อเลือกหนทางนี้ กล่าวคือ ไม่เป็นรัฐบาลสัญญาประชาคมบนฐานฉันทมติอีกต่อไปแล้ว พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงมีภาระต้อง “พิสูจน์ตัวเองอย่างอย่างหนัก” ต้องไม่ลืมการเป็นรัฐบาลอายุสั้น ที่ตั้งขึ้นเพื่อปรับสมดุลทางการเมืองในภูมิทัศน์ใหม่ สร้างสนามสำหรับการดำรงอยู่ของพรรคกระแสรอง ทดลองสื่อสารการเมืองแบบใหม่ และรับประกันเสียงข้างน้อยทุกเสียง ที่ต้องรวมความถึงเสียงของผู้ชุมนุม เสียงของญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมในอดีต และที่ไร้เสียงในเรือนจำ

เมื่อไม่รักษาฉันทมติและสัญญาประชาคม จึงต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้ายังออกท่าเป็นรัฐบาลขุนนางจากการเลือกตั้ง (elective aristocracy)

#มันจบแล้วครับนาย


อ้างอิง

[1] https://twitter.com/KhaosodOnline/status/1686641528389918720/photo/2

[2] Slavoj, Zizek. (2008). In defense of lost cause. NY: Verso, pp. 157-159

[3] https://mgronline.com/daily/detail/9660000048728

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net