Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมด่วนผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ส่งศาลรรัฐธรรมนูญออกคำสั่งชะลอการโหวตนายกฯ 27 ก.ค.นี้ หลังเกิดปมใช้ข้อบังคับ 41 ห้ามเสนอชื่อซ้ำในการลงมติเลือกนายกฯ เตรียมส่งคำร้อง 1-2 วันนี้ ด้านประธานรัฐสภา เผยรอประชุมวิป 3 ฝ่าย ประเด็นเลื่อนวันโหวตนายกฯ

24 ก.ค.2566 จากกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาขอให้วินิจฉัยกรณีที่ประชุมรัฐสภาลงมติข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ไม่ให้เสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชิงตำแหน่งนายกฯ ซ้ำ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญและขอให้เลื่อนการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 27 ก.ค.เพื่อโหวตนายกฯ รอบสามออกไปก่อน นั้น

ขณะที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวว่า เรื่องนี้ให้ฝ่ายกฎหมายประชุมกันเพื่อสรุปผลแล้วแจ้งให้ตนทราบ จากนั้นจะนำเรื่องไปหารือกับวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 26 ก.ค.ต่อไป รวมถึงต้องฟังผลการหารือของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล มาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งวันที่ 25 ก.ค. อาจจะชี้แจงในรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง

รายงานข่าวระบุว่า ในส่วนการประชุมทีมกฎหมายของรัฐสภาที่ได้หารือถึงการจะต้องเลื่อนการโหวตนายกฯ ในวันที่ 27 ก.ค.หรือไม่ ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปจะให้เลื่อนการประชุมออกไปหรือไม่ โดยทีมกฎหมายขอให้ไปฟังความเห็นในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย วันที่ 26 ก.ค.ก่อน

สำหรับกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกรัฐสภาและประชาชนจำนวน 17 คำร้องเรียน โดยผู้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 213 จากกรณีที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็น “ญัตติ” ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ซึ่งกำหนดว่า “ญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน” เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

“ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน โดยพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนว่าเข้าองค์ประกอบ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ ในการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 หรือไม่ โดยเห็นว่า รัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย รัฐสภาจึงถือเป็นหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญและการกระทำของ “รัฐสภา” ในการลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็น “ญัตติ” ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้วมาตรา มาตรา 159 ประกอบ มาตรา 272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำของรัฐสภาที่ลงมติวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนโดยตรง” เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว

พ.ต.ท.กีรป กล่าวว่า ผู้ร้องเรียนเป็นสมาชิกรัฐสภาและประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ตามหมวด 3 ว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หากการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้ และมีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน นอกจากนี้ ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวยังคงมีอยู่และมิได้รับการวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ภายใต้การใช้อำนาจของรัฐโดยรัฐสภา ผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไปจึงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คำร้องเรียนส่วนหนึ่งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อวินิจฉัย ซึ่งเป็นคำขอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย

“ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัย ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2560 ประกอบ มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 โดยจะส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน1-2 วันนี้ เพื่อให้ทันศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนการการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค. นี้” เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net