Skip to main content
sharethis

 

  • การแก้ไข ม.112 ถูก ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ยกมาเป็นเงื่อนไขที่จะไม่สนับสนุน 'พิธา' เป็นนายกฯ แถมศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับปมแก้ไขกฎหมายนี้ไว้พิจารณาด้วยนั้น ในโอกาสนี้จึงชวนย้อนดูข้อเท็จจริงที่มาตรานี้ถูกแก้ไขมาตลอด เวอร์ชันที่ใช้ปัจจุบันเพิ่งสร้างมาหลังรัฐประหารปี 19 ขณะที่ คอป.ที่ตั้งสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ปี 53 ก็เคยเสนอแก้ไข
  • หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีเหตุยกเว้นความผิดหากทำเพื่อสาธารณะประโยชน์หรือโดยสุจริต แม้แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์โทษยังต่ำกว่าตอนนี้ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เองเคยพยายามแก้เมื่อปี 51 โดยเพิ่มการคุ้มครองไปที่ "พระบรมราชวงศ์" เพิ่มลักษณะความผิดไปด้วยว่า "กระทำด้วยประการใดๆ ที่สื่อหรือส่อความหมายได้ในลักษณะดังกล่าว" และเพิ่มโทษที่กำหนดขั้นต่ำคือ 5 ปี และขั้นสูงที่ 25 ปี ด้วย

13 ก.ค.2566 ก่อนที่รัฐสภานัดหมายลงมติเลือกนายกฯ ในวันนี้ (13 ก.ค.) ประเด็นที่ถูก ส.ส.และ ส.ว.หยิบยกมาเป็นเงื่อนไขที่จะไม่สนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ คือการมีนโยบายแก้ไข ม.112 อีกทั้งวานนี้ (12 ก.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคดีไว้พิจารณาที่อดีตทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย พิธา และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ม.112 ว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ ม.49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ นั้น

ทั้งนี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดเผยนโยบายของพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงนโยบายของพรรคก้าวไกลด้วย โดยมีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) ม.112 เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ 

นโยบายเกี่ยวกับ ม.112 ที่ปรากฏในเว็บไซต์ของ กกต.

สำหรับนโยบายแก้ไข ม.112 ที่ปรากฏในเว็บไซต์พรรคก้าวไกล ประกอบด้วย

1. ลดโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มีความสอดคล้องกับหลักสากล โดยให้เหลือเพียง

1.1 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระมหากษัตริย์)

1.2 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

1.3 (โทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาจะถูกลดลงจากโทษจำคุก 0-2 ปี เหลือแค่โทษปรับ)

2. ย้ายกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ออกจากหมวดความมั่นคงให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีสิทธิแจ้งความหรือร้องทุกข์กล่าวโทษเพียงผู้เดียว

3. บัญญัติให้ชัดเจนในกฎหมาย เพื่อคุ้มครองกรณีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตหรือการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธาณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

ในโอกาสนี้จึงขอย้อนทบทวนประวิติการแก้ไข ม.112 อีกครั้งดังนี้

ฉบับปัจจุบันแก้ปี 19

สำหรับ ม.112 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการกำหนดโทษขึ้นต่ำที่ 3 ปี และขยายโทษถึง 15 ปีนั้น เพิ่งเกิดขึ้นจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือคณะรัฐประหาร ที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ลงวันที่ 21 ต.ค.2519 หรือหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา กรรมกรและประชาชนผู้ประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร ในวันที่ 6 ต.ค.ปีเดียวกัน

ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ฉบับแก้ไขในปี 19 บัญญัติไว้ว่า

"ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" 

คอป. ที่ตั้งสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ปี 53 ก็เคยเสนอแก้ไข 

หลังเหตุสลายการชุมนุมในปี พ.ศ.2553 ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากจบลงไปไม่ถึงเดือน รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)’ ที่มี คณิต ณ นคร ประธานกรรมการ เพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน เมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 รวมตลอดถึงประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

ตามรายงานของมติชนออนไลน์นั้น คอป. ระบุว่า การใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ กล่าวคือ ม.112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองนั้น นอกจากจะไม่เป็นการปกป้องสถาบันฯแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองในชาติด้วย ที่ผ่านมา คอป.จึงได้เสนอแนะแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันฯและเสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันฯ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาหรือนำไปปฏิบัติตาม คอป.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอแนะของ คอป.ในประเด็นดังกล่าวไปปฏิบัติตามด้วย เพราะจากการสังเกต คอป.พบว่าในความผิดที่บุคคลสาธารณะ (Public Figure) ตกเป็นผู้เสียหายนั้น ระบบกฎหมายของไทยยังไม่มี “ความผิดที่ต้องให้อำนาจ” (Authorization Delict) บุคคลในกระบวนการยุติธรรมจึงดูจะดำเนินคดีไปในทิศทางที่เกิดจากความกลัวหรือประจบประแจง

คอป. เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญามีการระวางโทษในอัตราที่สูงไม่ได้สัดส่วนกับความผิด จำกัดดุลพินิจของศาล ในการกำหนดโทษที่เหมาะสม ไม่มีความชัดเจนในขอบเขตที่เข้าข่ายตามกฎหมาย และยังเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ สามารถกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีได้ ทำให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือกำจัดศัตรูในทางการเมือง คอป.จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลและรัฐสภาจักร่วมกันแสดงความกล้าหาญในทางการเมือง เพื่อขจัดเงื่อนไขของปัญหาจากกฎหมายดังกล่าวด้วยการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ โดยศึกษานโยบายทางอาญาของประเทศต่างๆ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาปรับใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ทั้งนี้ สถาบันฯเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในสังคมไทยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวของรัฐบาลและรัฐสภาจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูงว่าจะไม่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น โดยมีกระบวนการที่เปิดให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง เพื่อแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ คอป.ขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำกับการใช้อำนาจรัฐและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมพึงระมัดระวังในการนำเอากฎหมายหมิ่นสถาบันมาใช้ในเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้ โดยดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อผู้ที่จาบจ้วงล่วงละเมิดด้วยเจตนาร้ายต่อสถาบันฯอันเป็นที่สักการะและหวงแหนของปวงชนชาวไทย แต่ไม่ควรนำมาตรการในทางอาญามาใช้อย่างเคร่งครัดจนเกินสมควร โดยขาดทิศทางและไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี นอกจากนี้ ยังต้องหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันให้กว้างขวางหรือครอบคลุมลักษณะการกระทำที่นอกเหนือไปจากที่กฎหมายบัญญัติไว้เนื่องจากจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง เช่น การแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริต การวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ตามครรลองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คอป.พบว่าการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเกี่ยวกับคดีหมิ่นสถาบันมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ และการดำเนินงานยังไม่สอดคล้องหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คอป.จึงเห็นว่า รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันมีความเป็นเอกภาพ และดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการโดยกำหนดให้มีกลไกหรือองค์กรในการกำหนดนโยบายทางอาญาที่เหมาะสม สามารถจำแนกลักษณะคดีและกลั่นกรองคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบัน โดยพิจารณาจากความหนักเบาของพฤติกรรมเจตนา แรงจูงใจในการกระทำ สถานภาพของบุคคลที่กระทำ บริบทโดยรวมของสถานการณ์ที่นำไปสู่การกระทำ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำและการดำเนินคดี โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นจากการถวายพระเกียรติยศสูงสุดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ

รัฐบาลต้องส่งเสริมการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นสถาบันฯ ให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ คอป.เน้นย้ำถึงความสำคัญของอัยการในการใช้ดุลพินิจสั่งคดีดังที่ คอป.เคยได้เสนอแนะไปแล้วว่า “อัยการซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ควรให้ความสำคัญกับแนวทางการสั่งคดีโดยใช้ดุลพินิจ (Opportunity Principle) ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการอันเป็นสากล แม้ว่าคดีมีหลักฐานเพียงพอในการสั่งฟ้อง แต่อัยการต้องให้ความสำคัญกับการชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบผลดีผลเสียในการดำเนินคดีด้วย…อันเป็นแนวทางที่ใช้อยู่ในประเทศที่มีสถาบันฯ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น”

ปี 55 ประชาชนเคยล่าชื่อเสนอ

กฎหมายฉบับนี้ก็มีความพยายามแก้ไขมาโดยตลอด เช่น ปี 55 คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112  (ครก.112) ยื่นรายชื่อประชาชนแต่เรื่องก็ตกไปแล้วเพราะประธานสภาเวลานั้นไม่รับพิจารณา หรือล่าสุดนอกจากภาคประชาชนที่รวมตัวกันล่ารายชื่ออีกครั้ง เพื่อเรียกร้องยกเลิกกฎหมายมาตรานี้แล้ว ขณะที่เมื่อปลายปี 64 พรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้ไข ม.112 นั้น ออกมาเปิดเผยว่าถูกโต้แย้งโดยสำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ ว่ามีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม.6 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองที่โฆษกพรรคออกมาระบุว่าพร้อมค้านเต็มที่นั้น ในปี 51 ซึ่งเป็นการเพิ่ม 3 เพิ่ม คือเพิ่มการคุ้มครองไปที่ "พระบรมราชวงศ์" เพิ่มลักษณะความผิดไปด้วยว่า "กระทำด้วยประการใดๆ ที่สื่อหรือส่อความหมายได้ในลักษณธดังกล่าว" และเพิ่มโทษที่กำหนดขัดต่อคือ 5 ปี และขั้นสูงที่ 25 ปี ด้วย

ปีเดียวกัน (2551) พรรคพลังประชาชนเองก็เสนอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดบทลงโทษผู้ที่รู้ถึงการกระทำความผิดตามม. 112 แล้วนำไปเผยแพร่ โดยระบุว่า เพิ่ม ม.112/1 และบัญญัติว่า "ผู้ใดรู้ว่ามีการกระทำความผิดตาม มาตรา 112 ไม่นำความเข้าแจ้งต่อพนักงานสอบสวนแต่กลับนำความไปกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายต่อหน้าธารกำนัลหรือประชาชนว่ามีการกระทำความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้นเพื่อหวังผลทางการเมืองโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 112 นั้น"

อย่างไรก็ตามร่างทั้ง 2 ฉบับ ไม่ผ่านสภาเช่นกัน

พัฒนาการกฎหมายตั้งแต่ 2442-2519

เมื่อปี 2558 iLaw เคยนำ สรุปเรียบเรียงจาก วิทยานิพนธ์ ของ นพพล อาชามาส ในหัวข้อ 'การประกอบสร้างความกลัว และการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา112' จากศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2556 มาสรุปเป็นตารางแสดงถึงวิวัฒนาการของกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ดังนี้

ชื่อกฎหมาย

ลักษณะความผิด

ผู้ที่ถูกคุ้มครอง

โทษ

พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 (พ.ศ.2442)

หมิ่นประมาท กล่าวเจรจาด้วยปาก หรือเขียนด้วยลายลักษณอักษร หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผยท่ามกลางประชุมชนทั้งหลาย ด้วยกายวาจาอันมิบังควรซึ่งเป็นที่ แลเห็นได้ชัดว่าเปนการหมิ่นประมาทแท้ (มาตรา4)

1. พระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล

2. สมเด็จพระอรรคมเหษี
3. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

 

จำคุกไม่เกินกว่า 3 ปี หรือปรับไม่เกินกว่า 1500 บาท หรือทั้งจำคุกและปรับ

กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 (พ.ศ.2451)

 

ทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาท มาตรา 98

1.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. สมเด็จพระมเหษี  
3.มกุฎราชกุมาร
4.ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์

จำคุกไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาท (มาตรา 100)

พระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด

จำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับและปรับไม่เกิน 2,000 บาท

กระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย ด้วยประการใดใด โดยเจตนาต่อผล… (1) เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่น  (มาตรา 104)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 1,000 บาท

แก้เพิ่มเติมข้อความและเพิ่มโทษมาตรา104 (1) กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 (พ.ศ.2451)

การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นหรือเกิดความเกลียดชัง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือระหว่างคนในชนชั้น

จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

พ.ร.บ.สมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2470

สมุด เอกสาร หนังสือพิมพ์ หรือบทประพันธ์ที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์อันมีความมุ่งหมายทางตรงหรือทางอ้อม คือโดยอนุมานก็ดีแนะก็ดี กล่าวกระทบก็ดีกล่าวเปรียบก็ดี โดยปริยายหรือประการอื่นก็ดี เพื่อจะ ให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่น.. มีลักษณะอันเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน (มาตร6(5))

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“…เมื่อได้พิมพ์ขึ้นในกรุงสยาม ผู้ประพันธ์บรรณาธิการและเจ้าของ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำและปรับทั้งสองสถาน”(มาตรา36)

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในปี 2477 แก้ไขข้อความ,
ลดโทษ
และกำหนดบทเว้นความผิดในมาตรา 104 (1)
ของประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127

กระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบาย…
ก)ให้เกิดความดูหมิ่น…
แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร
หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ
ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์
หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย
ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด

พระมหากษัตริย์

จำคุกไม่เกิน 7  ปีและปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499

หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (มาตรา 112)
(ไม่มีบทยกเว้นความผิด)

1.พระมหากษัตริย์ 

2.พระราชินี 

3.รัชทายาท 

4.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

จำคุกไม่เกิน 7 ปี

คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

ลงวันที่ 21 ต.ค.2519 เพิ่มอัตราโทษมาตรา 112

หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (มาตรา 112)

1.พระมหากษัตริย์ 

2.พระราชินี 

3.รัชทายาท 

4.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

จำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net