Skip to main content
sharethis

สะพานถล่ม ย่านลาดกระบัง เสียชีวิตแล้ว 2 ราย ย้อนดู ส.ก.ลาดกระบัง เคยตั้งกระทู้โวยสะพานข้ามแยก งบ 1,600 ล้าน ไม่คืบ ก่อนเกิดเหตุ ขณะที่ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างที่เป็นข่าวรวมอย่างน้อย 5 ครั้ง ถนนพระราม 2 ครองแชมป์

10 ก.ค.2566 กรณีเหตุโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ทรุดตัวถล่ม ทับคนงานก่อสร้าง และรถยนต์ มีผู้บาดเจ็บหลายรายช่วงเย็น วันที่ 10 ก.ค. จนต่อมามีผู้เสี่ยชีวิต 2 ราย นั้น

ต่อมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กรุงเทพมหานคร' รายงานว่า เวลา 21.00 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังคงต้องประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของโครงสร้างก่อนเพราะโครงสร้างได้รับความเสียหายมาก มีความไม่เสถียรอยู่ อาจมีการพังต่อเนื่องได้ การเข้าพื้นที่ต้องประเมินความปลอดภัยทางวิศวกรรมก่อน ต้องมั่นใจว่าเมื่อเข้าไปจะไม่เสียหายมากขึ้น

นายกสมาคมวิศกรโครงสร้างวิเคราะห์เหตุสะพานข้ามแยกถล่ม พร้อมเสนอแนวป้องกัน

ตอนนี้ได้มอบหมายรองปลัดกทม.ร่วมกับผอ.สำนักการโยธา และวิศวกรรมสถานฯ วิศวกรและผู้รับเหมามาประเมินสถานการณ์ก่อนว่ามีความปลอดภัยแค่ไหนในการเข้าไป ซึ่งตอนนี้มีศพผู้เสียชีวิตติดอยู่ข้างใน 1 ศพ และยังไม่แน่ชัดว่ามีผู้ติดค้างอยู่ข้างในซากอีกหรือไม่ การเข้าไปกู้ภัยไม่สามารถเข้าได้ทันที ต้องประเมินทางวิศวกรรมด้วย และมอบให้ผอ.เขตดูแลการคมนาคมการเข้าออกพื้นที่ การตัดไฟในบางจุด เร่งจัดการเพื่อให้กลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว ทุกส่วนต้องดูคู่ขนานกันไป

สำหรับผู้บาดเจ็บ มอบให้ทางศูนย์เอราวัณ และผอ.โรงพยาบาลลาดกระบัง เป็นผู้รวบรวมตัวเลขผู้บาดเจ็บ สูญหาย และหากใครมีญาติ หรือคนรู้จักที่คาดว่ายังไม่ได้กลับบ้าน ติดต่อไม่ได้ หรือสูญหายจากเหตุการณ์ ให้โทรไปที่เบอร์ 199 และได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลืออยู่ที่วัดพลมานีย์ สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ

“เป็นเรื่องไม่ควรจะเกิด ต่อไปต้องดูโครงการต่างๆให้รอบคอบ ดูเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก เรื่องนี้คงต้องมีคนรับผิดชอบเพราะไม่ใช่เหตุสุดวิสัย” ชัชชาติ กล่าว

ขณะที่ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ทรุดตัวถล่มนั้น เวลา 23.54 น.  เพจ 'กรุงเทพมหานคร' รายงานเพิ่มเติมว่า ชัชชาติ เปิดเผย ภายหลังลงพื้นที่เกิดเหตุ  ระบุในขณะนี้จะต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ การกู้ซากจะต้องให้วิศวกรเข้ามาประเมินขั้นตอนเพิ่มเติมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้การกู้ภัยเป็นไปอย่างปลอดภัย และไม่เกิดเหตุซ้ำซ้อนขึ้น สำหรับสถานการณ์ในวันพรุ่งนี้ (11 ก.ค.66) ขอแนะนำให้ประชาชนวางแผนการเดินทาง โดยหาเส้นทางเลี่ยงไว้ก่อน เนื่องจากการกู้ซากโครงสร้างต้องใช้เวลา เพราะเป็นโครงสร้างชิ้นส่วนขนาดใหญ่

ส.ก.ลาดกระบัง เคยตั้งกระทู้โวยสะพานข้ามแยก งบ 1,600 ล้าน ไม่คืบ ก่อนเกิดเหตุ

มติชนออนไลน์  ชวนย้อนที่มาโครงการก่อนเกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว โดยชื่ออย่างเป็นทางการของโครงการดังกล่าวคือ ‘โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง’ มีเป้าหมายเพื่อให้การจราจรบนถนนดังกล่าว มีความรวดเร็ว รองรับการเจริญเติบโตของชุมชนและสนามบินสุวรรณภูมิ แก้ไขปัญหาการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตลาดกระบัง ระยะทางโครงการรวม 3,500 เมตร

ลักษณะงาน เป็นการก่อสร้างทางยกระดับ ค.ส.ล.บนถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังขนาด 4 ช่องจราจร 1 แห่งก่อสร้างปรับปรุงสะพาน ค.ส.ล. ข้ามคลองหนองปรือ 1 แห่ง

ก่อสร้างระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบจราจรสงเคราะห์ และงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

เจ้าของโครงการ คือ สำนักการโยธา กทม.

ผู้ออกแบบ คือ สำนักงานวิศวกรรมทาง สำนักการโยธา กทม.

เริ่มสัญญา 23 ก.พ. 64 -11 ส.ค.66 สัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) ลงวันที่ 27 ต.ค. 65 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) ลงวันที่ 24 พ.ค. 66

ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน

ค่าก่อสร้าง 1,664,550,000 บาท (เงินกทม. 100 เปอร์เซ็นต์)

คาดว่าจะแล้วเสร็จ เดือนธันวาคม 2567


สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นกระทู้ถาม ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. เข้าประชุมด้วย ถึงความคืบหน้าของสะพานดังกล่าว เมื่อ 18 ม.ค. โดยระบุว่า การก่อสร้างสะพานยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง มีระยะทางเพียง 3.3 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 1,664,550,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งเจ้าหน้าที่เขต และผู้อำนวยการเขตต่างก็ไม่ทราบข้อมูล หรือเป็นที่ปรึกษาในโครงการนี้

สุรจิตต์ ได้สอบถามทางกทม. ว่าจะดำเนินการเร่งรัดให้เร็วขึ้นอย่างไร โดยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. ได้ระบุว่า ทางกทม. ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างทางยกระดับ จากแบบเดิมที่เป็นการก่อสร้าง girder box segment ซึ่งติดตั้งแบบหล่อคอนกรีตและเทในที่ ให้เป็น precast box segment โดยหล่อจากโรงงาน และขนย้ายมาติดตั้งบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และจะแจ้งให้ผู้รับจ้างเพิ่มแรงงาน วัสดุ และเครื่องจักรเพื่อเร่งรัดงานก่อสร้างให้เร็วขึ้น และลดผลกระทบในระหว่างการก่อสร้าง

เมื่อตรวจสอบข้อมูลจาก ACT AI พบว่า โครงการดังกล่าว เลขที่โครงการ 64136000032 ผู้รับจ้าง คือ กิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา วงเงินสัญญา 1,664,550,000 บาท

5 อุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างในรอบปี พระราม 2 มากสุด

นอกจากเหตุการณ์ที่ลาดกระบังแล้ว อุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างมักเป็นข่าวปรากฏอยู่บ่อยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมายังมีอีก 4 เหตุการณ์ 

  • 7 พ.ค.66 : ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า บริเวณจุดสร้างทางด่วน ตรงข้ามศาลเจ้าแม่งู ถนนพระราม 2 ฝั่งขาออก แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เกิดเหตุ คานปูนตกทับคนงานเสียชีวิต ที่เกิดเหตุอยู่บริเวณเกาะกลางถนน เป็นโครงการทางด่วนพระราม 2 - บ้านแพ้ว พบคานปูนขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 10 เมตร ตกลงมาทับร่างของ นายวรวุฒิ พานนนท์ อายุ 54 ปี ชาวจังหวัดหนองบัวลำภู คนงาน เสียชีวิต
  • 5 ก.ย.65 : ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า เกิดอุบัติเหตุรถเครนยกเหล็กชิ้นส่วนของคอนกรีตที่อยู่บริเวณหัวเสา (Pier Segment) เสียหลักและทรุด ทำให้เหล็กร่วงลงบนทางหลวงหมายเลข 304 ซึ่งอยู่ในโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 290 กับทางหลวงหมายเลข 304 จ.นครราชสีมา ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดนั้น
  • 31 ก.ค.65 : เดลินิวส์ รายงานว่า เกิดเหตุแผ่นปูนสะพานกลับรถที่อยู่ระหว่างปิดซ่อมบำรุง หล่นลงมาทับรถยนต์หลายคันบนถนนพระราม 2 ฝั่งมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ หน้าโรงพยาบาลวิภาราม กม.ที่ 34 ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย  เป็นผู้ขับรถเก๋ง และมีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 3 คน ส่วนรถยนต์ได้รับความเสียหาย 4 คัน ฐานเศรษฐกิจรายงานด้วยว่ามีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย 
  • 17 ก.ค.65 : เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กรมทางหลวง' รายนงานว่า เกิดเหตุวัสดุก่อสร้างร่วงหล่นลงบนถนนพระราม 2 ทำให้รถได้รับความเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน  ในพื้นที่โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ   (ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - เอกชัย ตอน 2 ที่ กม.17+500 (ขาเข้า กทม.) จ.สมุทรสาคร

สำหรับกรณีเหตุเกิดที่ถนนพระราม 2 จำนวนหลายครั้ง บีบีซีไทย เคยรายงานด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2561 ถนนเส้นนี้ เต็มไปด้วยโปรเจกต์ก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 3 โครงการ ไม่นับโครงการซ่อมแซมอื่น ได้แก่ 1) ทางยกระดับบนทางถนนพระราม 2 หรือมอเตอร์เวย์ 2) ทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และ 3) โครงการขยายพระราม 2 ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือน ก.ค. 2564

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net