Skip to main content
sharethis

#saveหยก รุ้ง-ปนัสยา เล่าประสบการณ์ ‘ไร้ยูนิฟอร์ม’ ตอนที่เป็นนร.แลกเปลี่ยน เผยข้อดีได้ฝึกแต่งตัว-ดูแลบุคลิกถือเป็นประโยชน์ ขอสังคมทลายอคติ มองให้ลึกถึงสิ่งที่หยกอยากสื่อ

16 มิ.ย. 66 แม้หยก-ธนลภย์ เยาวชนวัย 15 ไม่ได้ถูกโรงเรียนไล่ออกเพราะใส่ชุดไปรเวทและย้อมสีผม แต่ก็ทำให้ประเด็นเรื่องชุดนักเรียนกลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง เพราะใส่ชุดไปรเวทและย้อมสีผม แต่ก็ทำให้ประเด็นเรื่องชุดนักเรียนกลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง วันนี้ (16 มิ.ย.) รุ้ง-ปนัสยา แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์เฟซบุ๊กเล่าประสบการณ์ ‘ไร้ยูนิฟอร์ม’ สมัยที่เป็นนร.แลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ เผยข้อดีได้ฝึกแต่งตัว-ดูแลบุคลิกถือเป็นประโยชน์ และทำให้รู้ว่ายูนิฟอร์มไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเรียน แต่เมื่อกลับไทยก็ยังหนีไม่ได้ ขอสังคมทลายอคติ มองให้ลึกถึงสิ่งที่หยกอยากสื่อ

โพสต์ดังกล่าวมีใจความดังนี้

ย้อนกลับไปตอนเราอายุ 15 เท่าหยก เราก็โตมากับการใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียนนี่แหละ ก็มีคำถามต่อการใส่ชุดนักเรียน แต่ไม่รู้ต้องทำยังไงหรือแสดงออกยังไง ส่วนใหญ่ ๆ ก็คือไม่กล้า ช่วงนั้นเราสอบเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนได้ แล้วก็เดินทางไปในวัย 15 ย่าง 16

ไปถึงที่นั่นก็เข้าเรียน High school ตามที่เขาจัดให้ไป เรารู้ว่าโรงเรียนที่นี่ไม่มียูนิฟอร์ม ด้วยความที่ใส่ชุดนักเรียนมาตลอด ไม่แน่ใจว่าต้องแต่งตัวยังไงก็เลยพยายามเลือกเสื้อผ้าที่มันมิดชิดที่สุดไปด้วยความเข้าใจว่าคือความเรียบร้อย พูดได้เลยว่าแต่งตัวได้แย่มาก เรียบร้อยจริง แต่แย่มากเพราะยังไม่รู้จักกับเสื้อผ้าที่เหมาะกับเรา ส่วนคนอื่นเขาชินไงก็แต่งมาได้ดูดีในแบบที่ตัวเองชอบ และก็ได้มาพบว่าถึงจะไม่มียูนิฟอร์ม แต่มันมีสิ่งที่เรียกว่า Dress code

Dress code คือการกำหนดลักษณะการแต่งกาย เป็นกฎอันหนึ่งที่ต้องทำตาม ซึ่งก็กำหนดเป็นธีมไว้ เช่น semi-formal, casual นักเรียนมีหน้าที่ต้องแต่งกายตาม dress code ซึ่งทุกคนก็ทำตามอ่ะนะเพราะอะไร เพราะมันไม่ไร้สาระไง มันเป็นการฝึกให้เด็กเลือกแต่งตัวให้ดูดีและเหมาะสม เวลาเดินเข้าไปในโรงเรียนจะเห็นการแต่งตัวที่หลากหลายมาก แต่นักเรียนจะมีความมั่นใจ ในเสื้อผ้าที่เขาเลือกใส่เอง ได้ออกแบบภาพลักษณ์ภายนอกตัวเอง ใส่อะไรที่เหมาะกับรูปร่างตัวเอง นี่คือการฝึกการเข้าสังคมอีกอย่างหนึ่งและได้เสริมความมั่นใจให้นักเรียนไปด้วย

พอเรากลับมาที่ไทย ตอนนี้รู้แล้วว่ายูนิฟอร์มไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเหตุผลทางการเรียน แต่ก็ยังหนีมันไม่ได้ ก็ยังเรียนอยู่ที่นั่นและจะเรียนต่อจนจบ ก็จบที่ก้มหน้าก้มตายอมรับมันแหละ การแสดงออกว่าเราไม่อยากใส่ชุดนักเรียนในตอนนั้นคือการใส่ชุดพละทุกวันแทน และรุ้งอายุ 15 ก็ทำไปแค่นั้น ไม่ได้เกิดแรงกระเพื่อมใด ๆ แต่หยกอายุ 15 ในวันนี้เอาตัวเองเป็นเครื่องพิสูจน์อยู่ว่าใส่ชุดอะไรก็ตั้งใจเรียนได้ โดยการใส่ชุดไปรเวทเดินเข้าไปเรียน

แต่เพราะเหตุการณ์นี้หยกเลยกลายเป็นจำเลยสังคม กลายเป็นเด็กก้าวร้าวในสายตาคนมอง เราอยากให้คนไม่ลืมว่านี่คือเด็กอายุ 15 ที่กำลังแสดงออกในแบบที่ตัวเองคิด เราว่าบางอย่างจำเป็นต้องมองผ่านมันไปให้ลึกกว่านี้ ให้ลึกพอที่จะผ่านกำแพงอคติส่วนตัวและมองเห็นสิ่งที่หยกต้องการสื่อสารจริง ๆ มันก็คงยากสำหรับผู้ใหญ่เวลาเห็นเด็กทำพฤติกรรมแบบนี้ธงในใจก็จะลอยขึ้นมาว่านี่คือเด็กก้าวร้าว กากบาทสีแดงตัวใหญ่ ๆ ประทับไปที่ภาพหยกปีนรั้วโรงเรียน แต่เอาจริงนะ ไม่รู้สึกเล็ก ๆ บ้างหรอว่าเด็กคนนั้นกำลังพยายามอย่างมากที่จะไปเข้าเรียน อย่างที่เด็กดีควรจะทำ แต่ต้องกลายเป็นเด็กที่ดูไม่ดี ต้องปีนรั้วเข้าโรงเรียนเพราะบุคลากรในโรงเรียนไม่ต้องการ ครูปกครองปกติต้องวิ่งตามเด็กปีนรั้วหนีโรงเรียนกัน แต่นี่หยกมันปีนเข้าไปเรียนน สรุปคือ น้องมันอยากเรียนเหมือนเด็กปกติ แต่ไม่ต้องการใส่ชุดนักเรียนด้วยเหตุผลที่สังคมเราก็คุยกันมาสักพักใหญ่มากแล้ว การเปลี่ยนมาใส่ชุดไปรเวทและได้เพิ่มการฝึกดูแลบุคลิกมันก็เป็นเรื่องดี มันเป็นเรื่องจำเป็นเลยแหละ ผู้ใหญ่ทุกคนโตมาก็รู้ว่าจำเป็น งั้นทำไมเราไม่ฝึกกันตั้งแต่เด็กไปเลยล่ะ

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net