Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ม.112 , ม.116 "จัสติน" ชูเกียรติ แสงวงค์ กรณีถูกกล่าวหาแปะกระดาษข้อความบนรูป ร.10 ระหว่าง #ม็อบ20มีนา64 ระบุ คดีมีประจักษ์พยานเพียงคนเดียว และเป็นการเห็นเพียงข้างหลังภาพกล้องวงจรปิดก็เป็นมุมจากระยะไกล พิพากษาให้ผิดเฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

 

15 มิ.ย. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ข้อหา ม.112 และ ม.116 คดีของ "จัสติน" ชูเกียรติ แสงวงค์ กรณีถูกกล่าวหาแปะกระดาษข้อความบนรูป ร.10 ระหว่าง #ม็อบ20มีนา64

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีประจักษ์พยานเพียงคนเดียว และเป็นการเห็นเพียงข้างหลัง ซึ่งไกลจากที่เกิดเหตุราว 10 เมตร ส่วนภาพกล้องวงจรปิดเป็นมุมจากระยะไกล ไม่ทราบว่าถ่ายไว้เมื่อใด เท่าที่พยานโจทก์เบิกความยังมีข้อสงสัยอยู่พอสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ศาลพิพากษาว่า ชูเกียรติมีความผิดเฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากให้การว่าไปร่วมชุมนุมจริง พิพากษาจำคุก 1 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

ทั้งนี้ การชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 จัดขึ้นโดยกลุ่มรีเด็ม REDEM (Restart Democacy: REDEM) และแนวร่วมกลุ่มอื่นๆ REDEM นัดหมายชุมนุมตั้งแต่เวลา 18.00 น. ไปจนถึง 21.00 น. ที่ท้องสนามราษฎร์ (สนามหลวง) การชุมนุมดังกล่าวไม่มีแกนนำ และไม่มีการเดินขบวน ในวันดังกล่าว ตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลานัดหมายผู้ชุมนุมได้ใช้พื้นที่สนามหลวงดำเนินกิจกรรมน่าสนใจหลายอย่าง เช่น เล่นว่าวที่มีรูปผู้ต้องขังการเมืองขณะนั้น การโชว์งานศิลปะ การขายสินค้ารณรงค์ กิจกรรมเล่นสเก็ตบอร์ด และการพับจรวดจดหมาย

กระทั่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามดึงตู้คอนเทนเนอร์ที่กั้นระหว่างถนนราชดำเนินในและราชดำเนินนอกจำนวน 2 ตู้ออกสำเร็จ สถานการณ์จึงเริ่มตึงเครียด ก่อนจะมีการสลายการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้รถฉีดน้ำ น้ำผสมแก๊สน้ำตา และเจ้าหน้าที่ คฝ. บุกกวาดจับผู้ชุมนุมบางส่วนได้ในช่วงสุดท้าย

ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ต่อมา วันที่ 22 มี.ค. 2564 ชูเกียรติถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม เวลาประมาณ 20.00 น. และถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา รวม 7 ข้อหา ที่ สน.ห้วยขวาง แม้ว่าท้องที่เกิดเหตุจะเป็น สน.ชนะสงคราม และไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ สน.ห้วยขวาง ก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอศาลอาญาฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และคัดค้านการให้ประกันตัว โดยอ้างว่าชูเกียรติเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายแต่อย่างใด หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปอาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันอีก

ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ชูเกียรติถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างการสอบสวนในคดีนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. จนถึงวันที่ 1 มิ.ย. 2564 โดยมีการยื่นขอประกันตัวชั่วคราวทั้งสิ้น 6 ครั้ง

วันที่ 15 มิ.ย. 2564 อัยการได้ยื่นฟ้องชูเกียรติต่อศาลอาญา โดยระบุพฤติการณ์เกี่ยวกับการเข้าร่วมการชุมนุมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มรีเด็ม เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 และได้ร่วมกับผู้ชุมนุมอื่นทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการก่อเหตุแปะกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล” ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 บริเวณข้างศาลฎีกา ในระหว่างการชุมนุมดังกล่าว ทำให้อัยการยื่นฟ้องชูเกียรติต่อศาลอาญา รวมทั้งสิ้น 7 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่

 

1. “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

2. “กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน อันมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

3. “ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215

4. “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุม ตามมาตรา 215 แล้วไม่เลิก” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216

5. “ร่วมกันต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และ 140

6. “ร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 296

7. ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net