Skip to main content
sharethis

นักวิชาการแนะ ศธ.ควรยกเครื่องหนังสือเรียนใหม่ทั้งหมด ดึงครู-นักจิตวิทยาเด็ก-ผู้ปกครองร่วมออกแบบเนื้อหา หลังเลขากพฐ.แจง ไข่ต้มแค่เรื่องแต่ง

24 เม.ย. วันนี้ (24 เม.ย.) มติชนออนไลน์รายงานว่า จากกรณีที่นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุดภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ชั้น ป.1-6 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายหลังสังคมวิพากษ์วิจารณ์หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ภาษาพาที ระดับชั้น ป.5 ซึ่งมีเนื้อหาว่า กินไข่ต้มครึ่งซีก เหยาะน้ำปลา หรือข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง ทำให้ตัวละครในหนังสือมีความสุข ถือเป็นการพอเพียง เห็นคุณค่าของชีวิต ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงโภชนาการของเด็ก ว่า ศธ.มุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะทางภาษาจากการอ่าน เขียน ฟัง ดู พูดเรื่องที่น่าสนใจ ผสานความเข้าใจลักษณะของภาษาไทย รับรู้ความงามในความงามของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา กระบวนการคิด และการบูรณาการ เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ด้วยตนเอง

โดยนำเสนอเนื้อหาบทอ่านในภาพรวมของหนังสือโดยใช้รูปแบบของวรรณกรรม มีเรื่องราวที่น่าสนใจผ่านบทสนทนา ความคิดเห็น ความรู้สึก และอารมณ์ของตัวละคร เชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ในเรื่องหลักการใช้ภาษา โดยมีภาพประกอบเนื้อเรื่อง ตามหลักการจัดทำหนังสือเรียนสำหรับนักเรียนประถม โดยผู้โพสต์วิเคราะห์เนื้อหาเพียงบางส่วน อาจทำให้เข้าใจสาระสำคัญของเรื่องไม่ถูกต้อง และเป็นการใช้ตรรกวิบัติ ที่นำเรื่องในชีวิตประจำวันมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่แต่งขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจเกิดความเข้าใจผิด และสร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของหนังสือเรียนนั้น

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แบบเรียนเล่มนี้ถูกผลิตโดย ศธ.ซึ่งเดิมถูกกำหนดว่าทุกโรงเรียนจะต้องใช้แบบเรียนดังกล่าวสอนเด็ก แต่ปัจจุบันเปิดให้โรงเรียนเลือกแบบเรียนของเอกชนมาสอนเด็กได้ ดังนั้น ขณะนี้แบบเรียนภาษาพาที ไม่ได้เป็นแบบเรียนที่บังคับให้เด็กทั้งประเทศอ่าน ตามที่สอบถามครู กลุ่มครูสะท้อนว่าไม่ได้ใช้แบบเรียนภาษาพาทีสอนเด็กแล้ว เพราะครูมองว่าเรื่องที่แต่งมาให้เด็กอ่านนั้น เชย ไม่สมเหตุสมผล และมีบางเนื้อหาที่ครูไม่สามารถอธิบายให้เด็กเข้าใจได้

ผศ.อรรถพลกล่าวต่อว่า เป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ประชาชนมีสิทธิตั้งคำถามในหนังสือเล่มนี้ เมื่อหนังสือเรียนนี้เป็นของรัฐ จึงควรถูกตั้งคำถามว่าขณะนี้รัฐต้องการจะกล่อมเกลาค่านิยมอะไรผ่านแบบเรียนนี้ ศธ.ควรจะยอมรับว่าแบบเรียนของตนทำหน้าที่ผิดบทบาท ไม่ใช่แค่กล่อมเกลาภาษา แต่กลายเป็นสอนคุณค่าบางอย่าง ซึ่งแบบเรียนนี้เป็นการย้อนแย้งกันเอง เพราะในขณะที่แบบเรียนสุขศึกษา สอนให้เด็กกินอาหารครบ 5 หมู่ แต่แบบเรียนภาษาไทยกลับสอนให้เด็กกินข้าวคลุกไข่ และน้ำปลา

“ศธ.ไม่ควรปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้ และต้องยอมรับว่าแบบเรียนนี้ทำหน้าที่ผิดไปจากการสอนภาษา แต่กำลังกล่อมเกลาค่านิยมบางอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ และเป็นนามธรรมมากๆ เช่น ความสุขของชีวิต แต่ผมมองว่าควรจะปลูกฝังชุดคุณค่าอื่นให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก เช่น การเห็นคุณค่าในตัวเอง การรู้จักเคารพคนอื่น เป็นต้น และต้องกลับมาถามว่าชุดความคิดนี้ เป็นสิ่งที่สังคมโอเคหรือไม่ หรือเป็นค่านิยมที่รัฐต้องการจะกล่อมเกลา” ผศ.อรรถพล กล่าว

ผศ.อรรถพลกล่าวต่อว่า มองว่าขณะนี้คนใน ศธ.อยู่ในบับเบิ้ล ที่ไม่อิงกับโรงเรียน และสังคมจริงๆ เพราะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า ศธ.มีนโยบายที่ผิดฝาผิดตัวอยู่หลายเรื่อง เช่น การสอนประวัติศาสตร์ ที่ไม่ใช่เรียนเพื่อชวนให้เด็กตั้งคำถาม แต่กลับปลูกฝังการรักชาติแบบผิดๆ ซึ่งในหลายประเทศ กระบวนการผลิตสื่อจะมีการใช้ครูเข้ามาร่วมผลิตแบบเรียนให้นักเรียนด้วย เพราะครูรู้ว่าเด็กมีคลังคำศัพท์มากน้อยแค่ไหน เด็กจะเข้าใจคำสอนมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่แค่จ้างคนนอกเขียน และให้แต่งเนื้อหาตามโจทย์ที่รัฐให้ แล้วมาบังคับให้โรงเรียนใช้ ซึ่งตนไม่มั่นใจว่ากระบวนการผลิตแบบเรียนของไทย มีครูเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net