Skip to main content
sharethis

‘ประชาไท’ ยกให้ ‘ปรากฏการณ์กองทุนราษฎรประสงค์’ เป็น ‘บุคคลแห่งปี 2565’ กองกลางเชื่อมแนวหน้ากับแนวหลังในการเคลื่อนไหว ที่ทำงานอย่างหนักให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีทางการเมืองได้รับการประกันตัว มันไม่ใช่เงิน อันที่จริงมันเป็นภาพตัวแทนเจตจำนงหรือความประสงค์ของ ‘ราษฎร’ ที่ไม่เห็นด้วยและต้องการต่อสู้กับระบบ-ระบอบ กองทุนที่สะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรมและระบอบที่ค้ำจุนมัน กองทุนที่ไม่ควรต้องมีตั้งแต่ต้น

‘กองทุนราษฎรประสงค์’ จัดตั้งเป็น 'มูลนิธิสิทธิอิสรา' เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ช่วงที่สถานการณ์การเมืองเข้มข้น รัฐกวาดจับผู้เห็นต่าง ทำให้ต้องการเงินประกันตัวจำนวนมาก ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ เคยระดมเงินได้ถึง 10 ล้านบาทภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง มันสร้างทั้งความแปลกใจและหงุดหงิดรำคาญใจให้แก่บางฝักฝ่ายทางการเมือง

“โดยตัวมันเองคือการแสดงพลังทางการเมือง” ไอดา อรุณวงศ์ ผู้ดูแลกองทุนบอก

ไอดา อรุณวงศ์ (แฟ้มภาพ : ประชาไท)

จำนวนเงินในบัญชีมีหน้าที่โดยตรงของมันอยู่ แต่อีกด้านหนึ่งมันยังทำหน้าที่ส่งเสียง แบ่งระบายความอึดอัดคับข้องต่อระบบ-ระบอบ และเป็นตัวแทนของประชาชนผู้บริจาค

ไม่ผิดจากความเป็นจริงถ้าจะลอกเลียนถ้อยคำจากหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่ว่า ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ ไม่ใช่ตัวเงิน แต่คือผู้คน

ประมวลบุคคลและกลุ่มบุคคลแห่งปีที่ผ่านมา

ไอดา ให้สัมภาษณ์ ‘ประชาไท’ ว่า

“มั่นใจว่าคนที่บริจาคส่วนใหญ่ไม่ใช่คนมีฐานะ ยอดเงินน้อย แล้วบางทีแปะสลิปที่เหมือนเขาภูมิใจมากแล้ว 300 ยอดมันประมาณนี้แหละ ทุ่มสุดตัวแล้ว 500 แล้วเขาก็จะเขียนแค่สั้นๆ ว่าฝากไปช่วยเด็กๆ นะ โอนแล้วนะ

“เรารู้สึกขนลุกเวลาที่ไปอัพสมุดแล้วมันยาวมาก นี่มันไม่ใช่แค่เงิน มันคือพลัง ตอนหลังจึงเกิดคำที่เราใช้ต่อมาคำว่า เจตจำนง เราไม่ได้คิดคำสวยๆ นั้นขึ้นมาก่อน แต่มันเกิดขึ้นจริงๆ เวลาที่เราไปอัพบุ๊คแล้วเห็นยอดที่มันไหล ที่สำคัญมันเป็นยอดเล็กๆ จำนวนมาก เราเรียกตรงนั้นว่าพลังทางการเมือง การแสดงเจตจำนงทางการเมือง”

ฝั่งผู้บริจาคเข้า 'กองทุนราษฎรประสงค์' ทั้งแบบขาประจำและไม่ประจำให้เหตุผลสำคัญในการสนับสนุนหรือบริจาคว่าต้องการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการกระทำของรัฐ

"เป็นช่องทางที่จะสนับสนุนจากคนที่อยู่แนวหลังที่น่าจะไว้วางใจได้ที่สุดแหล่งหนึ่ง โดยเฉพาะเป้าเหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการกระทำของรัฐ" หนึ่งในผู้บริจาคกล่าว

หลายคนไม่สามารถไปร่วมชุมนุมหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองได้โดยตรงจากหลากหลายเงื่อนไขในชีวิต ตำแหน่งหน้าที่การงาน ผลกระทบที่อาจจะตามมา ระยะทางที่อยู่ห่างจากจุดที่ชุมนุม และความเหนื่อยล้าในการเคลื่อนไหว เป็นต้น ผู้บริจาคอีกรายหนึ่งบอกว่า

"เป็นอีกช่องทางที่ได้แสดงจุดยืนและมีส่วนร่วมกับขบวนการนี้ เหมือนได้เปย์ให้สิ่งที่เราเชื่อ และได้ยืดหยัดเคียงข้างคนที่พยายามเปลี่ยนสังคม ในแบบที่เราออกหน้าทำเองไม่ได้"

"การให้เงินในทางหนึ่งมันสะดวกและมีประสิทธิภาพมากในระบบแบบทุนนิยม แม้ว่ามันคล้ายกับความมักง่าย และคล้ายจะเป็นการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมแบบหนึ่งก็ตามที ในอีกทางหนึ่งสำหรับผู้รับนั้นมันก็ดีเพราะกระบวนการต่างๆ เงินถูกเอามาใช้เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการขัดขวางการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงและใช้กีกกันการมีส่วนร่วม" ผู้บริจาคอีกรายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ออกนามกล่าว พร้อมกับวิจารณ์ตัวเอง

ขณะที่บางคนก็เชื่อมั่นในตัวไอดา

"สนับสนุนเพราะเชื่อมั่นในแนวคิดของกองทุน และเชื่อมั่นในหลักยึดของชีวิตและหลักปฏิบัติของคุณไอดา"

เหนืออื่นใด พวกเขาเชื่อมั่นว่าเงินที่บริจาคไปจะถูกใช้ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งทางกองทุนก็ได้แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสด้วยการเผยแพร่ข้อมูลในเพจอย่างสม่ำเสมอ

กับบางคน ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ คือการลงแรงและการตอบแทน

สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น นักกิจกรรมทางการเมืองที่โดนคดีจำนวนมากและเป็นคนหนึ่งที่ต้องใช้เงินจากกองทุนไปประกันตัว สุรีรัตน์เริ่มมาช่วยงาน ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ ในฐานะอาสาสมัครเมื่อมีการขยับขยายเป็นมูลนิธิสิทธิอิสราด้วยความตั้งใจที่ต้องการทำให้กองทุนนี้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้เพราะมันคือเงินของประชาชน

ในฐานะนักวิชาชีพด้านบัญชี สุรีรัตน์ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์เข้ามาวางระบบบัญชีให้แก่กองทุน

“ถ้าทำบัญชีปกติ เงินเข้าเงินออก แต่เผอิญเราคิดแทนตอนที่เซ็ตอัพระบบ เราควรทำให้มันเก็บข้อมูลได้ ดึงข้อมูลอัตโนมัติได้ เช่น เราอยากรู้ว่าเงินที่ใช้ประกันตัวเป็นของคดีไหนบ้าง เป็นของศาลไหน เราก็ต้องเซ็ตอัพ ไม่ได้มีซอฟต์แวร์ที่ซื้อมา แต่เป็นซอฟต์แวร์โลคอลปกติ แค่ใช้ประสบการณ์มาดัดแปลงประยุกต์ใช้บวกกับที่ลูกเราก็เป็นคนที่ใช้ทุนนี้เราเลยรู้ว่าควรจัดระบบยังไง เก็บข้อมูลไหนบ้าง”

สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ (แฟ้มภาพ)

เธอบอกว่ามันคือการตอบแทนอย่างหนึ่งที่เธอทำได้ สุรีรัตน์ต้องการทำให้เป็นตัวอย่างแก่องค์กรไม่แสวงหากำไรอื่นๆ ที่ควรให้ความสำคัญกับระบบบัญชี เพื่อสร้างความโปร่งใส สามารถตรวจสอบติดตามข้อมูลและเส้นทางการเงินได้ อีกเหตุผล การทำระบบให้ชัดเจนมันง่ายต่อการสานต่อในอนาคต

“ถ้าไม่มีกองทุนนี้ ป่านนี้เด็กก็ยังอยู่ในคุก คงต้องปิดทั้งคุกเพื่อขังเด็กพวกเรา ถ้าไม่มีเงินประกันเด็กก็ต้องติดคุก เสียอนาคต” สุรีรัตน์ กล่าว

ด้วยความคิด ความเชื่อที่มอมเมาสังคมไทยมายาวนานว่า องค์กรธุรกิจไม่ควรแสดงจุดยืนทางการเมือง องค์กรธุรกิจในไทยจึงมักเลี่ยงความข้องเกี่ยวกับการเมือง อย่างน้อยก็ในรูปแบบที่เปิดเผย โดยเฉพาะการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐ

เจ้าของ River Art Hotel Chiangmai คิดต่างออกไป

“ถ้าเรามองแบบประชาธิปไตย มันควรจะสามารถแสดงออกทางการเมืองได้ไม่ว่าคุณจะชอบฝ่ายไหน ซึ่งปัจจุบันเมืองไทยโดนวาทกรรมมาตลอดเวลาว่าห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งมันไม่ใช่วิถีของประชาธิปไตย เราควรเลือกได้ว่าเราชอบใคร คนไหน แล้วเราจะบริจาคให้ฝ่ายไหน”

สิ่งนี้ทำให้ River Art Hotel Chiangmai ออกตัวชัดเจนว่าเป็นผู้บริจาคให้แก่ ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ และยืนอยู่ฝั่งฝ่ายประชาธิปไตย การบริจาคแต่ละครั้งทำทั้งในนามส่วนตัวและในนามของธุรกิจโดยการจัดแคมเปญระบุว่าจะมีการหักค่าห้องเป็นเงินเท่าไหร่เพื่อมอบให้แก่กองทุน

ไม่ต้องสงสัย River Art Hotel Chiangmai เคยถูกฝ่ายรัฐเข้าตรวจสอบ แต่ด้วยความที่ดำเนินการตามขั้นตอนงตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาตโรงแรม ใบอนุญาตก่อสร้าง หรือภาษี ทำให้ผ่านพ้นมาได้

“มี (ครอบครัว) บ่น แล้วก็เป็นห่วง เขาพยายามให้เราหยุดเหมือนกัน แต่อย่างที่บอก เราคิดว่าเราอยู่ประเทศนี้ ถ้าเราไม่สามารถพูดได้ ไม่มีสิทธิถามคำถามอะไรได้ มันก็ไม่ได้ทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น ถึงแม้เราคิดว่าเป็นแค่ตัวเล็กๆ พ่อแม่ก็บอกนะว่าทำธุรกิจไปเถอะ เราเป็นแค่ตัวเล็กๆ ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่เราบอกว่าในเมื่อเราอยู่ประเทศนี้แล้ว เราก็ควรจะมีส่วนช่วยเพราะว่าเสียงเล็กๆ แต่ละคนยิ่งรวมกันยิ่งดัง เพราะประเทศนี้มันบริหารด้วยการด่าของประชาชน”

ทำไมจึงบริจาค? เจ้าของ River Art Hotel Chiangmai ตอบว่า

“เพราะกองทุนนี้ช่วยเหลือสิทธิมนุษยชนและเป็นสิ่งที่ประเทศนี้ควรจะมี และเราไม่แน่ใจว่าวันดีคืนดีเราจะโดนมั้ย มันเป็นคอนเซ็ปต์ของโรงแรมที่ว่าเราสนับสนุนประชาธิปไตย พวกนี้มันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย เรารู้ว่าประเทศนี้กำลังโดนอะไรอยู่ จะได้รู้ว่ามีคนซัพพอร์ตอยู่หรือธุรกิจที่ซัพพอร์ตกองทุนนี้อยู่ไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไป”

เสียงเหล่านี้คือ ‘ผู้คน’ ที่ส่งเสียงผ่าน ‘กองทุนราษฎรประสงค์’

ยังมีพวกเขาอีกมากมายที่เราไม่สามารถติดตามไปนำ ‘เสียง’ มาได้

“ตอนที่ตั้งชื่อว่ากองทุนราษฎรประสงค์คือการปักหมุดว่านี่คือความหมายจริงๆ ของมัน ไม่ใช่แค่กองทุนประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง มันคือกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นความประสงค์ เป็นเจตจำนง มันคือการแสดงเสียงของประชาชน” ไอดา กล่าว

แคนดิเดทอื่นๆ

สำหรับปีนี้ นอกจาก ‘ปรากฏการณ์กองทุนราษฎรประสงค์’ ในกระบวนการเสนอชื่อแคนดิเดทบุคคลแห่งปีของประชาไท ยังมีรายชื่ออื่นอีก ตัวอย่าง

  • พชร คำชำนาญ เอ็นจีโอรุ่นใหม่ไฟแรง แต่เดิมสิทธิและปัญหาของชาวชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในสื่อมากนัก และมักถูกมองข้ามอยู่เสมอมา แต่ในขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2564 พชร นักกิจกรรมรุ่นใหม่ และเป็นผู้จุดประกายรณรงค์สิทธิของคนชาติพันธ์ุ การเคลื่อนไหวของ พชร สร้างคุณูปการต่อสังคมอย่างมาก ทำให้คนได้รับทราบปัญหาสิทธิชาติพันธุ์เป็นวงกว้าง เช่น ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนบ้านบางกลอย ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี การสร้างความเข้าใจต่อการทำไร่หมุนเวียนของชาติพันธุ์ ผลกระทบจากนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ยุค คสช. และอื่นๆ นอกจากนี้ พชร ยังคงทำกิจกรรมโดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำเรื่องข้อตกลง ‘เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน’ (BCG) ขึ้นมาพูดคุย และทำให้สังคมรับทราบว่าการประชุม APEC 2022 สามารถก่อปัญหาต่อประชาชนอย่างไร นอกจากนี้ พชร ยังเป็นภาพสะท้อนคลื่นลูกใหม่ที่เข้ามาแทนที่เอ็นจีโอรุ่นเก่า ที่เข้าไปขับเคลื่อนทั้งประเด็นเฉพาะและเชื่อมร้อยเข้ากับการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย
  • กลุ่มทะลุวัง และกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวค้ำยันเพดานการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หลายคนถูกดำเนินคดีทำให้การเคลื่อนไหวมีการปรับตามสภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยังยืนหยัดพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะ ผ่านการทำโพลหรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่ต้องใช้คนจำนวนมาก
  • อานนท์ ทะลุ Multiverse รอบปีที่ผ่านมามีคนที่ชื่อ 'อานนท์' มีบทบาทในหลายฝ่ายจำนวนมาก ตั้งแต่ 'อานนท์ นำภา' ทนายความ ผู้ต้องหาและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้นำเอาความคับข้องใจที่กระจัดกระจายทั้งในโซเชียลเน็ตเวิร์คและที่ชุมนุมมาแปลงเป็นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และประกาศในที่สาธารณะ 'อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์' นักวิชาการที่เป็นฝ่ายปฏิกิริยาต่อการเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หากมีอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เป็นสายวิชาการ สายเคลื่อนไหวก็มี 'อานนท์ กลิ่นแก้ว' แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ที่ทำหน้าที่ฟ้องร้องด้วย ม.112 กับกลุ่มเรียกร้องหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ล่าสุดเมื่อ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา เขาก่อเหตุทำร้ายร่างกายเยาวชนนักเคลื่อนไหวจนบาดเจ็บที่บริเวณสนามหลวงทั้งที่บริเวณที่เกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่หลายนายก็ตาม 'อานนท์ แสนน่าน' จากผู้จัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง แปลงมาเป็น 'หมู่บ้านเห็ด' หลังรัฐประหาร 57 จนเป็น 'หมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชันแห่งประเทศไทย' และปีนี้เขาเดินตามเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ 'แรมโบ้อีสาน' กลางปีได้รับการแต่งตั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกฯ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ เป็นต้น
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net