Skip to main content
sharethis

'สามารถ ราชพลสิทธิ์' รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชี้ 'ประยุทธ์' เปลี่ยนไป สร้างรอยด่างในการจัดการก่อสร้างระบบราง - เลขา ครป. ระบุแก้ปัญหาพื้นฐานแค่ 10 เรื่องง่ายๆ ยังไม่ได้ แล้วยังอาสาเป็นนายกให้รวมไทยสร้างชาติต่อ - เพื่อไทยชี้ ‘ประยุทธ์’ แก้ยาเสพติดไม่เป็นอย่าฝืน

25 ธ.ค. 2565 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่านายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสบนเฟสบุ๊กส่วน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte ระบุว่า

อย่าให้มี “รอยด่าง” ใน “ระบบราง”

การก่อสร้างทางรถไฟ และรถไฟฟ้าหลากหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟลอยฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) รถไฟฟ้าล้อยางวิ่งบนพื้นคอนกรีตที่เรียกว่า APM (Automated People Mover) และรถไฟความเร็วสูง เกิดขึ้นมากในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ระบบรางของไทยก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่น่าเสียดายที่มี “รอยด่าง” เกิดขึ้นช่วงที่ท่านเป็นนายกฯ ในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน

1.ระบบรางในสมัยรัฐบาล คสช.

ในสมัยรัฐบาล คสช. มีการประมูลทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้า ซึ่งการประมูลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการเปลี่ยนข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (Terms of Reference หรือ TOR) กลางอากาศ ที่สำคัญ ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลเปิดใจรับฟังคำทักท้วง นำข้อเสนอแนะไปปรับแก้

1.1 การประมูลรถไฟทางคู่

ในปี 2560 หลังจากที่ผมได้ทักท้วงว่าการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร มีความไม่ชอบมาพากล ปรากฏว่าได้มีการยกเลิกการประมูล พร้อมทั้งมีการปรับแก้การประมูลโดย (1) ปรับลดราคากลางลงให้เหมาะสม และ(2) ปรับแก้ TOR เปิดโอกาสให้บริษัทผู้รับเหมาขนาดกลางเข้าร่วมประมูลได้ด้วย

ผลจากการปรับแก้ดังกล่าว ทำให้การประมูลใหม่มีการแข่งขันกันมากกว่าเดิม ปรากฏว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถประหยัดค่าก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ทั้งสาย (ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร) ได้ 2,039 ล้านบาท จากราคากลาง 36,021 ล้านบาท คิดเป็น 5.66% ในขณะที่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ สามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้ถึงประมาณ 20%

1.2 การประมูลรถไฟฟ้า

การประมูลรถไฟฟ้าในปี 2559 เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ไม่มีการเปลี่ยน TOR กลางอากาศ ไม่มีการล้มประมูล ไม่มีการกีดกันและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างจริงจัง เป็นผลให้รัฐสามารถประหยัดเงินสนับสนุนได้เฉียด 3 แสนล้านบาท

ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพูปรากฏว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล ขอรับเงินสนับสนุนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) น้อยกว่าบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถึง 124,658.15 ล้านบาท นั่นหมายความว่า รฟม. สามารถประหยัดเงินสนับสนุนได้มากถึง 124,658.15 ล้านบาท
ส่วนผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีเหลืองปรากฏว่า BTSC ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลขอรับเงินสนับสนุนจาก รฟม. น้อยกว่า BEM ถึง 135,634.75 ล้านบาท นั่นหมายความว่า รฟม. สามารถประหยัดเงินสนับสนุนได้มากถึง 135,634.75 ล้านบาท

1.3 การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

ในสมัยรัฐบาล คสช. มีปัญหารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค กล่าวคือหากผู้เดินรถไม่ใช่ BEM ซึ่งเป็นผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนหลัก ผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนขบวนรถ ไม่สามารถเดินทางแบบต่อเนื่อง (Through Operation) ได้ และจะต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน รฟม. (โดยคณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ 42/2559) จึงแก้ปัญหาโดยให้ BEM เป็นผู้รับสัมปทานลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ สื่อสาร และระบบตั๋ว และให้บริการเดินรถตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2592 เพื่อให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง และไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน

เนื่องจากสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีผู้โดยสารน้อย ทำให้ BEM ขาดทุน ด้วยเหตุนี้ รฟม. (โดยคณะกรรมการตามคำสั่ง คสช.) จึงขยายสัมปทานสายสีน้ำเงินส่วนหลักให้ BEM เป็นเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2572-2592 เพื่อนำรายได้จากส่วนหลักมาชดเชยการให้บริการเดินรถส่วนต่อขยาย

2. ระบบรางในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน

ในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน การประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกได้สร้างความกังขาให้กับผู้คนจำนวนมาก

2.1 การประมูลรถไฟทางคู่

ในปี 2564 มีการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งเป็นการประมูลที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากราคาที่ได้จากการประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงนิดเดียวเท่านั้น อีกทั้ง ยังต่ำกว่าราคากลางเป็นสัดส่วนที่เท่ากันอีกด้วย นั่นคือแค่ 0.08% เท่านั้น พูดได้ว่า ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ !
สายเหนือประหยัดได้เพียง 60 ล้านบาท จากราคากลาง 72,918 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% และสายอีสานประหยัดได้แค่ 46 ล้านบาท จากราคากลาง 55,456 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% เท่ากับสายเหนือ

2.2 การประมูลรถไฟฟ้า

ในปี 2563 รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) แต่ในระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล และในที่สุดได้ล้มการประมูล ต่อมาในปี 2565 รฟม. ได้เปิดประมูลใหม่ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการกีดกันและเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?

ผลพวงจากการประมูลถึง 2 ครั้ง อาจทำให้ รฟม. ต้องเสียเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 68,612.53 ล้านบาท !

2.3 การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

ในช่วงปลายของรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องถึงรัฐบาลปัจจุบันมีปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต กล่าวคือหากผู้เดินรถไม่ใช่ BTSC ซึ่งเป็นผู้เดินรถสายสีเขียวส่วนหลักและส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนขบวนรถ ไม่สามารถเดินทางแบบต่อเนื่องได้ และจะต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน กทม.จึงแก้ปัญหาโดยว่าจ้างให้ BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 แต่การเดินรถส่วนต่อขยายประสบภาวะขาดทุน ทำให้ กทม. เป็นหนี้ BTSC จนถึงวันนี้ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท

กทม. (โดยคณะกรรมการตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562) จึงเสนอให้ขยายสัมปทานสายสีเขียวส่วนหลักให้ BTSC เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2572-2602 เพื่อนำรายได้จากส่วนหลักมาชดเชยการให้บริการเดินรถส่วนต่อขยาย โดยมีเงื่อนไขให้ BTSC รับผิดชอบหนี้ทั้งหมดแทน กทม. แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการขยายเวลาสัมปทานให้ BTSC แทนการชำระหนี้ที่พอกพูนขึ้นทุกวัน

3. นายกฯ ประยุทธ์ เปลี่ยนไป ?

การประมูลรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าในสมัยรัฐบาล คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สามารถประหยัดค่าก่อสร้างได้เป็นกอบเป็นกำ อีกทั้ง ยังสามารถแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้อีกด้วย แต่การประมูลรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในสมัยรัฐบาลนี้ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกันกลับต้องเสียค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นเงินก้อนมหึมา อีกทั้ง ยังปล่อยให้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวคาราคาซังมาจนถึงวันนี้ ทำให้เกิด “รอยด่าง” ใน “ระบบราง” ซึ่งท่านนายกฯ ประยุทธ์ ได้เคยสร้างผลงานดีๆ ไว้มากมาย น่าเสียดายจริงๆ

ถามว่ารัฐบาล คสช. ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถทำให้การประมูลรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าประหยัดค่าก่อสร้างได้มาก และสามารถแก้ปัญหาการเดินรถไฟฟ้าได้ด้วย แล้วทำไมรัฐบาลนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนกัน จึงทำไม่ได้ ?

ผมไม่สามารถบอกได้ว่า ท่านนายกฯ ประยุทธ์ เปลี่ยนไปหรือไม่ ? แต่บอกได้ว่า “เรื่องการประมูลถ้ามีอะไรที่ไม่ถูกต้อง มันจะย้อนกลับมาเมื่อหมดอำนาจ”

หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

เลขา ครป. ระบุแก้ปัญหาพื้นฐานแค่ 10 เรื่องง่ายๆ ยังไม่ได้ แล้วยังอาสาเป็นนายกให้รวมไทยสร้างชาติต่อ

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนกล่าวถึงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติว่า แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่ส่งเสริมพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐสภาให้เข้มแข็ง เปิดทางให้ส.ส.ย้ายไปย้ายมา ทำให้พรรคพลังประชารัฐที่ดึงกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาดูแลนโยบายประชารัฐกลายเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่นำตนเองเข้าสู่อำนาจเท่านั้น พอไม่พอใจก็หาพรรคใหม่สิงสถิตย์ เพราะคิดว่าอย่างไรก็มี ส.ว. ที่ตนแต่งตั้ง 250 คนในมือที่จะโหวตเลือกตนเองเป็นนายกฯ อีกรอบ ซึ่งผมเห็นว่า นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ต้องมาจากประชาชน โดยเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร

ผมเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้ไปต่อ ถ้าพรรคการเมืองต่างๆ มีฉันทามติและยุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อสร้างรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ตนอยากจะถามว่า ยึดอำนาจบริหารประเทศมา 8 ปีไม่เพียงพอ ยังจะขอโอกาสรวมไทยสร้างชาติอีกหรือ ต้องสร้างชาติอีกกี่ปีประเทศไทยถึงจะเจริญ  สิ่งที่น่าจับตาคือพรรครวมไทยฯ จะใช้อำนาจรัฐเข้าไปช่วยอำนวยการเลือกตั้งให้ได้เปรียบหรือไม่ เพราะการแต่งตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งมาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นความไม่ชอบธรรมทางการเมืองและไม่ถูกต้อง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีและมารยาททางการเมือง 

นอกจากนี้ ผลงานตลอดปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ สอบตก ผมอยากจะสรุปความล้มเหลว 10 เรื่องพื้นฐานในรอบปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ และรัฐบาล แก้ปัญหาง่ายๆ เรื่องพื้นฐานให้ประชาชนยังไม่ได้เลย แล้วจะอาสาไปแก้เรื่องใหญ่ได้อย่างไร คือ 

1.แก้ปัญหาขายสลากฯ เกินราคา 80 บาท ยังแก้ไม่ได้ ปัจจุบันขายใบละ 100 บาท ชุด 5 ใบ 600-800 บาท ชุด 10 ใบ ขายตั้งแต่ 1500-3500 บาท 2.ปัญหาค่าไฟแพง ไม่ยอมแก้ ไม่ยอมลดค่า FT ให้ประชาชน สงสัยเอาไปประเคนให้นายทุนรวยขึ้นหลายแสนล้านเพราะไปกดดัน กฟผ. ให้ผลิตไฟได้น้อยลง 

3.ปัญหาราคาค่าน้ำมันแพง ปัจจุบันธุรกิจพลังงานร่ำรวยหลายแสนล้านบาทต่อปี ทั้งที่เป็นทรัพยากรของชาติ กำไรเอาไปให้นายทุน 4.ไม่แก้ปัญหาค่าครองชีพแพง ควบคุมราคาเฉพาะกิจ สุดท้ายก็ปล่อยตามกลไกตลาด ตามมีตามเกิด  5.ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามที่รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ 400-425 บาท ถือว่าผิดสัญญาประชาคม

6.นโยบายเงินเดือนขั้นต่ำ ปริญญาตรี 2 หมื่นบาท อาชีวะ 1.8 หมื่น ก็ยังไม่ทำ รวมถึงนโยบายอื่่น จนจะหมดวาระแล้วก็ยังไม่ทำ เช่น มารดาประชารัฐ ตั้งครรภ์รับ 3,000 บาทต่อเดือน 7.ตอนนี้ชาวบ้านมีหนี้สินสะสมเพิ่มพูน กลายเป็นดินพอกหางหมู เพราะรัฐบาลสร้างหนี้และบริหารเศรษฐกิจไม่เป็น ที่บอกว่าจะพักหนี้กองทุนหมู่บ้าน 4 ปี ก็ไปหลอกชาวบ้านไว้ 8.ปัญหาที่ดินหลุดลอย ปัญหาความยากจน นักเรียน นักศึกษาต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเรียน แต่ไม่มีอนาคตจากการศึกษาทีไม่พัฒนา หนี้กยศ.กลายเป็นดินพอกหางหมู

9.ตอนนี้ปัญหาส่วยตำรวจกลับมามากขึ้น ร้านอาหาร สถานบันเทิงต้องจ่ายส่วยตลอด รัฐบาลไม่ปฏิรูปตำรวจ ปล่อยให้มีการซื้อขายตำแหน่งเหมือนเดิม ต้องให้ตำรวจชั้นผู้น้อยไปตั้งด่านหาเงินให้นายจนชาวบ้านด่ากันทั่วประเทศ คอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ทุนสีเทาจีนกลายเป็นตัวอย่างผลงานของรัฐบาล

10.ตอนนี้นายกฯ หรือรู้เปล่าว่าขนาดรถแท็กซี่ก็เริ่มกลับมาเรียกราคาเหมากันทั่วกรุงเทพฯ แล้ว ไปดูตามคิวต่างๆ แถวสุขุมวิท รัชดา แค่เรื่องง่ายๆ พล.อ.ประยุทธ์ ยังแก้ไม่ได้เลย แล้วคนไทยจะหวังว่าปีหน้าจะแก้ปัญหาเรื่องใหญ่ๆ ได้อย่างไร

เพื่อไทยชี้ ‘ประยุทธ์’ แก้ยาเสพติดไม่เป็นอย่าฝืน

สำนักข่าวไทย รายงานว่า น.ส ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง ปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในขณะนี้ ได้สะท้อนให้เห็นชัดถึงความผิดพลาด และล้มเหลวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการจัดการปัญหายาเสพติดในทุกด้านตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปราบปราม ป้องกัน และการฟื้นฟูเยียวยา จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่า คนไทยมีแนวโน้มเป็นผู้ป่วยประสบภาวะเครียด และซึมเศร้าประมาณ 1.36 ล้านคน โดยเดือนกันยายนมีผู้เข้ารับการรักษาอยู่ที่ร้อยละ 90.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี 64 เกือบ 6% ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าคนไทยในปัจุจบันมีความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งความเครียดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประสบภาวะเครียดหาทางออกหลายคนจึงต้องพึ่งพายาเสพติดเพราะไปต่อไม่ได้

นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชยังมีการใช้สารเสพติดสูงถึง 622,172 ราย ในปี 2564 ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับบำบัดรักษาต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 ปี เพื่อป้องกันการกลับมาใช้สารเสพติดซ้ำ

แต่จากรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ในปี 2565 พบว่า กลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดเพียงครึ่งเท่านั้นที่ได้รับการดูแล คือร้อยละ 57.74 ยิ่งในผู้ป่วยยาเสพติดที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงกว่า 53,484 ราย กลับไม่ได้รับการดูแลกว่า 25,234 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 47.18 ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้สนใจ ไม่ใส่ใจ หรือวางแผนการจัดการปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและยั่งยืน และกำลังทำให้ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของคนไทยตกต่ำลง นอกจากปัญหาเก่า “ยาเสพติด” แก้ไม่ได้ ยังเพิ่มปัญหาใหม่ “กัญชาเสรี” เพราะร่างพ.ร.บ.กัญชง กัญชา และมีช่องโหว่ทางกฎหมายมากมาย กำลังจะเป็นภัยร้ายที่จะส่งผลในอนาคตต่อเด็ก และเยาวชนไทย

น ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่ออีกว่า การแก้ปัญหายาเสพติดต้องดำเนินการให้ครบวงจร นอกจากการปราบปราม ต้องรู้จักการป้องกัน วันนี้ รัฐบาลต้องสำรวจศูนย์บำบัดพักฟื้นและเจ้าหน้าที่ แพทย์ ให้เพียงพอ การติดตามผู้ป่วยต้องใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ และในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตาม ม.152 ในเดือนมกราคมปี 2566 พรรคเพื่อไทยจะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความผิดพลาด และล้มเหลวของรัฐบาลพลเอกประประยุทธ์ ตั้งแต่ต้นทางในการปราบปรามยาเสพติดที่ล้มเหลว จนทำให้ยาบ้าถูกกว่าก๋วยเตี๋ยว และการป้องกัน ฟื้นฟูเยียวยาที่ไร้ประสิทธิภาพ และชี้ถึงเหตุผลว่าทำไมคนไทยควรพอได้แล้วกับผู้นำที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ ยาเสพติดแพร่หลาย ทำลายอนาคตลูกหลาน การทุจริตคอร์รัปชันเติบโต ธุรกิจการเมืองเฟื่องฟู นิติรัฐ นิติธรรมถูกตั้งคำถาม อย่าอ้างมีงานต้องทำต่อ เพราะประชาชนทุกวันนี้รู้แล้วว่า มีเวลาตั้ง 8 ปีทำไมไม่ทำ ” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net