Skip to main content
sharethis

เมื่อ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา นักกิจกรรมจาก ‘ทะลุราม’ ทำโพล “อยากให้ประยุทธ์ บริหารประเทศต่อหรือไม่’ ที่ ม.รามฯ บางนา แต่ถูก ตร.ขอให้ยุติกิจกรรม อ้างนายสั่งมา และไม่ให้ถ่ายภาพ ขอดูบัตร ปชช.  

 

6 ก.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สมาชิกกลุ่ม "ทะลุราม" ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.รามฯ) ถูกตำรวจคุกคามขณะทำกิจกรรมโพล "คุณอยากให้ ประยุทธ์ บริหารประเทศต่อหรือไม่" ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง (บางนา) เมื่อ 4 ก.ค. 2565 

"มัชรูมบอย" (นามสมมติ) นักศึกษา ม.รามฯ อายุ 22 ปี หนึ่งในสมาชิกทะลุราม กล่าวว่า ทางกลุ่มมีการทำกิจกรรมโพลสอบถามความเห็นผู้ที่มาสมัครเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงรอบ 2 วันสุดท้าย และวันปฐมนิเศษนักศึกษา ระหว่างวันที่ 3-4 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า “คุณอยากให้ประยุทธ์ บริหารประเทศต่อหรือไม่” โดยคำตอบแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ‘อยากให้บริหารต่อ’ หรือ ‘ไม่อยากให้บริหารต่อ’   

สมาชิกทะลุราม กล่าวต่อว่า จุดประสงค์ของกิจกรรมโพลครั้งนี้ เพื่อสอบถามความเห็นของเพื่อนนักศึกษาใน ม.รามฯ เท่านั้นว่าคิดเห็นยังไงต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล และเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุย ตลอดจนสร้างบทสนทนาร่วมกัน

ครั้งแรกทำกิจกรรมที่ ม.รามคำแหง หัวหมาก ไม่ได้มีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด แต่พอไปทำกิจกรรมครั้งที่ 2 ที่ ม.รามคำแหง (บางนา) กลับมีตำรวจเข้ามาคุกคามพวกเขา

ทะลุราม ทำกิจกรรมโพลที่ ม.ราม (บางนา)

มัชรูมบอย เล่าเหตุการณ์ให้ฟังอย่างละเอียดว่า เมื่อ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา พวกเขาไปทำกิจกรรมโพลที่งานปฐมนิเทศ ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง บางนา ตั้งแต่เวลา 9.00 ถึงประมาณ 15.30 น. 

แต่ 1 ชั่วโมงก่อนสิ้นสุดกิจกรรม หรือประมาณ 14.30 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คนเดินทางมากับหัวหน้าฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา โดยตำรวจเดินมาหานักกิจกรรม และบอกว่ามีนายสั่งมาว่า ทำกิจกรรมเดี๋ยวจะเป็นภาพไม่สร้างสรรค์ ก่อความวุ่นวาย และเจ้าหน้าที่บอกด้วยว่า เขาเป็นรุ่นพี่จาก ม.รามฯ เหมือนกัน และมีการแนะนำนักกิจกรรมด้วยว่า ให้เรียนให้จบก่อน และค่อยมาทำกิจกรรม ซึ่งทางทะลุราม ยืนยันว่าต้องการทำกิจกรรมต่อ 

“เราแค่อยากสอบถามความคิดเห็นว่า เพื่อนเราหรือใครที่รุ่นเดียวกับเราเขาคิดเห็นอย่างไร และคำถามดูแล้วไม่ได้มีอะไรเลยที่ทางตัวมหาวิทยาลัย ตัวทางเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกเองว่ามันจะเป็นการก่อความวุ่นวาย ตัวคำถามและตัวกิจกรรมไม่ได้มีอะไรที่ดูรุนแรง และน่าวุ่นวายเลย … เราไม่มีการชี้นำ เชิญแสดงความคิดเห็นเต็มที่ ติดฝั่งไหนก็ได้ ไม่งั้นเราจะไม่ได้เห็นว่ามีคนคิดอยากให้บริหารต่อ

“ภาพที่พวกผมทำกิจกรรมกัน ผมเอาไปสอบถาม ก็ไม่มีใครมีท่าทีว่ากิจกรรมมันไม่ปลอดภัย มันวุ่นวาย ทุกคนก็ให้ความร่วมมือ” มัชรูมบอย กล่าวย้ำ 

หลังจากนั้น ตำรวจขอให้ทางนักกิจกรรมเปลี่ยนข้อความบนโพล จากคำว่า “ประยุทธ์” เป็นแค่ตำแหน่ง แต่ทางนักกิจกรรมไม่เห็นด้วย และมองว่า ถ้าระบุเป็นตำแหน่ง ถือว่าเป็นการระบุโดยชี้ชัดเกินไป แต่คำว่า ‘ประยุทธ์’ อาจเป็นใครก็ได้ที่ชื่อประยุทธ์ โดยไม่ได้เจาะจงใครเป็นพิเศษ 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการสอบถามข้อมูลว่า นักกิจกรรมที่มาจัดทำโพลนี้เรียนที่คณะไหน แต่ทางนักกิจกรรมไม่ได้ตอบ เพราะกลัวจะส่งผลกระทบด้านการเรียนของตัวเอง 

การเจรจาระหว่างนักกิจกรรมและเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงดำเนินต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ยังคงขอให้กลุ่มทะลุรามยกเลิกทำกิจกรรม ขณะที่ทางนักกิจกรรมยืนยันว่าจะจัดทำโพลต่อ

ระหว่างทำกิจกรรม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามห้ามไม่ให้สมาชิกทะลุรามถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า นักกิจกรรมไม่มีสิทธิถ่ายภาพเขา ถ้าเกิดเอาวิดีโอไปลง และเจ้าหน้าที่ถูกถ่ายภาพถูกด่าทอจนเกิดความเสียหาย เขาจะฟ้องร้องกลับ และมีการขอบัตรประชาชนของนักกิจกรรมด้วย ซึ่งนักกิจกรรมคนดังกล่าวปฏิเสธ โดยระบุว่าเป็นการถ่ายภาพเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง 

มัชรูมบอย ระบุเพิ่มว่า ตำรวจมากัน 2 คน โดยคนแรกยืนคุยกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และอีกคนพยายามมาขอบัตรประชาชนของนักกิจกรรมทะลุรามที่กำลังถ่ายภาพอยู่ ซึ่งตำรวจที่คุยกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยพยายามตะโกนบอกตำรวจอีกคนที่พยายามห้ามไม่ให้นักกิจกรรมถ่ายภาพว่า ให้นักกิจกรรมถ่ายภาพ และถ่ายชื่อได้เลย ไม่เป็นไร 

“พอผมถ่าย เขา (ตำรวจคนที่ 2) เหมือนแสดงอาการไม่พอใจ และเริ่มขึ้นเสียง และขอดูบัตรประชาชนให้ได้ท่าเดียว จนตำรวจอีกคนไล่เขาให้กลับไป เพราะเหมือนว่าจะเริ่มอารมณ์ร้อนแล้ว

“จังหวะที่เขาเริ่มมีอารมณ์ ไม่พอใจ และบังคับจะดูบัตรประชาชน เริ่มรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยในพื้นที่มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ดูแลความปลอดภัยของพวกเรา” มัชรูมบอย ระบุ 

ภาพบรรยากาศการทำกิจกรรมของทะลุราม

สุดท้าย นักกิจกรรมสามารถทำกิจกรรมต่อได้จนจบ และไม่เกิดเหตุวุ่นวายแต่อย่างใด 

สมาชิกทะลุราม มองว่า การทำโพลของพวกเขา อาจส่งข้อความไปไม่ถึงรัฐบาล แต่ว่านั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ คืออยากให้ประชาชนเห็นว่านักศึกษารามฯ มองเรื่องการบริหารประเทศตอนนี้อย่างไร เขาเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย อยากตั้งคำถามในสังคม และอยากถามความเห็น 

มัชรูมบอย ระบุว่า หลายเดือนก่อนหน้านี้ ทะลุรามเคยถูกคุกคามมาก่อนตอนทำกิจกรรม เช่น มีการโทรหา และขอรูปทำกิจกรรม แต่ยืนยันว่าจะทำกิจกรรมต่อ เพราะสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ผิดอะไร อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มมีความเป็นห่วงต่อสมาชิกบางคน เพราะแต่ละคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน บางคนเข้ามาเริ่มชีวิตใหม่ใน กทม. ต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เพื่อหาเลี้ยงชีพ มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ และมีความเสี่ยงที่ต้องแลกสูง ทำให้กังวลความปลอดภัยของสมาชิกบางคน

สมาชิกทะลุราม อยากทิ้งท้ายถึงตำรวจว่า เขาเข้าใจว่าตำรวจต้องทำตามคำสั่ง แต่ไม่ต้องคุกคาม และสามารถคุยกับพวกเขาดีๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องมาถ่ายรูป คุกคาม และติดตาม เราเป็นมนุษย์ และเป็นผู้ถูกกดทับมาเหมือนกัน 

ขณะที่ข้อทิ้งท้ายถึงมหาวิทยาลัย ทางมัชรูมบอย ระบุว่า เขาอยากให้มหาวิทยาลัยช่วยปกป้องนักศึกษาที่ออกมาใช้สิทธิการแสดงออกในพื้นที่มหาวิทยาลัย 

“ในฐานะที่เป็นนักศึกษา และ ม.รามฯ ก็เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน เพราะฉะนั้น กิจกรรมอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการสำรวจความเห็น ความจริง และอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน มันไม่ได้ผิดต่อสโลแกนมหาวิทยาลัย ถ้าไม่ได้ทำอะไรที่ผิด เขาอยากให้มหาวิทยาลัยปกป้องนักศึกษา แค่อยากแสดงออก และไต่ถามเพื่อนๆ ทำไมถึงไม่ปกป้อง ทำไมถึงปฏิเสธที่จะโอบอุ้มคนที่เป็นลูกหลาน เขาแค่ต้องการความปลอดภัยในการแสดงออกด้านสิทธิและเสรีภาพ” สมาชิกทะลุราม ทิ้งท้าย

รู้จัก "ทะลุราม"

สำหรับกลุ่มทะลุราม เกิดจากเพื่อนที่เจอกันตามการชุมนุมทางการเมือง จึงมีการรวมตัว และตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกัน ทางกลุ่มสนับสนุนข้อเรียกร้องด้วยกัน 3 ข้อ คือ ไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

มัชรูมบอย ระบุว่า ที่ทางกลุ่มเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อนี้ เพราะว่าต้องการรัฐธรรมนูญที่ฟังเสี่ยงคนจนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องไม่เอื้อนายทุน และต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ดีขึ้น ทันสมัย และอยู่ร่วมกับสังคมไทยได้

“ไม่ได้มีอันไหนผิด ไม่ได้มีอันไหนไม่ได้จริง ทุกอย่างมันคือข้อมูล และข้อเท็จจริง และข้อเรียกร้องพวกนี้มันทะลุไปได้ คนจนจะได้รับการพัฒนา ลืมตาอ้าปากได้ พวกเราเลยสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อนี้” สมาชิกทะลุราม ระบุ

ทั้งนี้ การทำกิจกรรมจะจัดอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื่องจากต้องการสร้างความมีส่วนร่วมของนักศึกษา และมีการสร้างข้อท้าทายของกลุ่ม ไม่อุดหนุนสินค้าในร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น”
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net