Skip to main content
sharethis

ฐานข้อมูลใหม่ ILOSTAT เน้นย้ำให้เห็นถึงความท้าทายของคนพิการในตลาดแรงงาน ในระดับทั่วโลกพบว่าคนพิการ 7 ใน 10 คน ไม่มีงานทำหรือกำลังตกงาน เทียบกับ 4 ใน 10 คน ของผู้ไม่มีความพิการ สถานการณ์การจ้างงานคนพิการมีแนวโน้มแย่ลงในช่วงวิกฤตโควิด-19

Summary

  • อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานของคนพิการต่ำมาก ในระดับทั่วโลกพบว่าคนพิการ 7 ใน 10 คน ไม่มีงานทำหรือกำลังตกงาน เทียบกับ 4 ใน 10 คน ของผู้ไม่มีความพิการ
  • อัตราการว่างงานในผู้หญิงที่พิการก็ยังสูงเป็นพิเศษ นี่แสดงให้เห็นว่าพวกเธอต้องเผชิญกับความเสียเปรียบถึง 2 เท่าในตลาดแรงงานเนื่องจากทั้งเพศและความพิการของพวกเธอ
  • คนพิการมีโอกาสเป็น 2 เท่าที่จะมีระดับการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน พวกเขามีแนวโน้มที่จะมีระดับการศึกษาขั้นสูงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น คนพิการจึงมีโอกาสน้อยที่จะทำงานในอาชีพที่มีทักษะสูง
  • คนพิการมีแนวโน้มไม่มีงานทำมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น และรมักจะมีรายได้น้อยลง
  • สถานการณ์การจ้างงานคนพิการมีแนวโน้มแย่ลงในช่วงวิกฤตโควิด-19


ที่มาภาพ: ILO (CC BY-NC-ND 2.0)

26 มิ.ย. 2565 มีคนพิการประมาณ 1 พันล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรโลก ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ตัวบ่งชี้ด้านตลาดแรงงานใหม่ที่รวบรวมโดยฝ่ายสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILOSTAT) เผยให้เห็นความท้าทายมากมายที่ผู้พิการต้องเผชิญในตลาดแรงงาน

'อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ' ได้การรับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) เมื่อเดือน ธ.ค. 2549 อนุสัญญาฯ นี้ได้ครอบคลุมสิทธิในโอกาสในการทำงาน การหาเลี้ยงชีพด้วยงานที่ได้รับการคัดเลือกหรือยอมรับอย่างเสรีในตลาดแรงงานและสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้างที่คนพิการเข้าถึงได้ ภายใต้อนุสัญญาฯ นี้ได้ห้ามการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานทุกรูปแบบ เรียกร้องให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เอื้ออำนวยมากขึ้น และกำหนดให้รัฐภาคีส่งเสริมการเข้าถึงการฝึกอบรมสายอาชีพและโอกาสในการจ้างงานตนเองสำหรับคนพิการ

อนุสัญญาฯ นี้ ยังรวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลทางสถิติ (ข้อที่ 31) เพื่อให้ได้ภาพที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสถานการณ์ของคนพิการในตลาดแรงงาน ปัจจุบันองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลสำหรับตัวบ่งชี้ตลาดแรงงานจำนวนหนึ่งอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยในการหาปริมาณความเหลื่อมล้ำในผลลัพธ์ของตลาดแรงงานของบุคคลที่มีและไม่มีความพิการ ซึ่งรวมถึงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับกำลังแรงงาน การจ้างงาน การว่างงาน เวลาทำงาน และรายได้ สถิติดังกล่าวมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนา ติดตาม และประเมินผลนโยบายและแผนงานที่มุ่งส่งเสริมโอกาสการจ้างงานที่เหมาะสมสำหรับคนพิการและปกป้องสิทธิแรงงานคนพิการ

สำหรับฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงานของคนพิการที่รวบรวมโดย ILOSTAT มีข้อพิจารณาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ผู้หญิงพิการต้องเผชิญกับความเสียเปรียบถึง 2 เท่าในตลาดแรงงาน ทั้งเพศและความพิการ


ที่มาภาพ: ILO (CC BY-NC-ND 2.0)

อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานของคนพิการต่ำมาก ในระดับทั่วโลกพบว่าคนพิการ 7 ใน 10 คน ไม่มีงานทำหรือกำลังตกงาน เทียบกับ 4 ใน 10 คน ของผู้ไม่มีความพิการ, อัตราการว่างงานในผู้หญิงที่พิการก็ยังสูงเป็นพิเศษ นี่แสดงให้เห็นว่าพวกเธอต้องเผชิญกับความเสียเปรียบถึง 2 เท่าในตลาดแรงงานเนื่องจากทั้งเพศและความพิการของพวกเธอ โดยใน 60 ประเทศที่มีข้อมูล พบว่าอัตราการว่างงานของผู้หญิงพิการไม่เพียงสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่พิการเท่านั้น แต่ยังสูงกว่าอัตราของผู้ชายทั้งที่พิการและไม่พิการอีกด้วย

คนพิการต้องเผชิญกับอุปสรรคในการศึกษา

คนพิการมีโอกาสเป็น 2 เท่าที่จะมีระดับการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน พวกเขามีแนวโน้มที่จะมีระดับการศึกษาขั้นสูงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

การค้นพบนี้ยืนยันว่าคนพิการต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ซึ่งรวมถึงอุปสรรคในการศึกษาอันเป็นช่วงเวลาในช่วงการเริ่มต้นของชีวิต สิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลลัพธ์ของตลาดแรงงานที่ตามมา เนื่องจากอัตราการจ้างงานสำหรับทั้งผู้พิการและไม่พิการนั้นจะสูงขึ้นตามระดับการศึกษา นอกจากนี้ความสำเร็จทางการศึกษายังสัมพันธ์กับระดับทักษะของอาชีพ ข้อมูลของ ILOSTAT แสดงให้เห็นว่าคนพิการมีโอกาสน้อยที่จะทำงานในอาชีพที่มีทักษะสูง

ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ทุพพลภาพได้รับการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน และต้องมีโปรแกรมที่แก้ไขช่องว่างในคุณสมบัติและทักษะของพวกเขา

คนพิการมีแนวโน้มไม่มีงานทำมากขึ้น

ข้อมูลจากกว่าครึ่งของประเทศที่มีข้อมูลพบว่าอัตราการว่างงานของคนพิการสูงกว่ากลุ่มที่ไม่พิการ ทั้งนี้อัตราการว่างงานเฉลี่ยของคนพิการอยู่ที่ร้อยละ 7.6 เทียบกับร้อยละ 6.0 สำหรับผู้ไม่พิการ

การว่างงานในช่วงใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเวลานานจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลลัพธ์ของตลาดแรงงานในอนาคต การว่างงานที่ยาวนานขึ้นย่อมทำให้คนพิการจำนวนมากต้องหยุดทำงานหรืออาจบังคับให้พวกเขาหางานทำในระบบเศรษฐกิจนอกระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คนพิการมีโอกาสได้รับการจ้างงานเพียงครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับผู้ไม่พิการ

มีคนพิการประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีงานทำ ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของผู้ไม่พิการ โดยช่องว่างในการจ้างงานระหว่างคนพิการกับผู้ที่ไม่พิการนี้เพิ่มขึ้นตามอายุ

ตัวอย่างจากการสำรวจที่ดำเนินการในประเทศมองโกเลีย ปัจจัยหลักที่จะทำให้คนพิการสามารถหางานทำได้ง่ายขึ้น ได้แก่ ความพร้อมของสถานที่ทำงานที่ตอบสนองความต้องการของคนพิการ ความช่วยเหลือในการจัดสรรงานที่เหมาะสม การเข้าถึงการศึกษาหรือฝึกอบรมที่ทำให้ทักษะของคนพิการเพิ่มขึ้น และประสบการณ์การทำงาน ซึ่งหมายความว่าคนพิการสามารถได้รับการจ้างงานได้มากขึ้น หากพวกเขาได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม รวมถึงโอกาสในการฝึกอบรมที่เพียงพอ

(คลิกดูภาพขนาดใหญ่)

คนพิการมีแนวโน้มที่จะทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบมากขึ้น

คนพิการส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนามักทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นงานที่มีลักษณะที่ขาดความปลอดภัยและขาดสวัสดิการ 3 ใน 4 ของประเทศที่มีข้อมูล พบว่าคนพิการมีแนวโน้มมากกว่าผู้ที่ไม่พิการที่จะได้รับการจ้างงานนอกระบบ นี่หมายความว่าพวกเขาประสบปัญหามากขึ้นในการเข้าถึงงานในระบบเศรษฐกิจในระบบ ซึ่งโดยทั่วไปจะช่วยให้รายได้ที่มั่นคงมากขึ้น เนื่องจากแรงงานนอกระบบไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานหรือประกันสังคม คนพิการที่ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบจึงอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางยิ่งขึ้น

คนพิการมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น

ในเกือบทุกประเทศที่มีข้อมูล คนพิการมีแนวโน้มมากกว่าผู้ที่ไม่พิการในการประกอบอาชีพอิสระ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นโอกาสอันน้อยนิดที่พวกเขาจะได้รับการว่าจ้างให้ทำงานที่ได้รับค่าตอบแทน

คนพิการมักจะมีรายได้น้อยลง

ในประเทศส่วนใหญ่ที่มีข้อมูล คนพิการมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่าผู้ที่ไม่พิการ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและมาตรฐานการครองชีพ รายได้ต่อเดือนที่ต่ำของคนพิการ จะจำกัดความสามารถในการบริโภคและทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงที่จะตกเข้าสู่ภาวะความยากจน

เยาวชนพิการมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการจ้างงาน การศึกษา และการฝึกอบรม (NEET)


ที่มาภาพ: ILO (CC BY-NC-ND 2.0)

อุปสรรคที่คนพิการเผชิญในการเข้าถึงสถานที่ทำงานเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่นๆ เยาวชนพิการที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 29 ปี มีแนวโน้มที่จะอยู่นอกระบบการศึกษา รวมทั้งไม่ได้อยู่ในระหว่างการทำงานหรือฝึกอบรมใดๆ (NEET) สูงกว่าผู้ไม่พิการถึง 5 เท่า

นอกจากนี้อัตรา NEET ผู้หญิงพิการนั้นสูงกว่าผู้ชายพิการ ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่ามีอุปสรรคในการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานตลอดจนการศึกษาและการฝึกอบรม

ทั้งนี้คนพิการจำนวนมากไม่ได้รับการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานในอนาคต ด้วยการลงทุนด้านการฝึกอบรม มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อทั้งตลาดแรงงานและการกีดกันทางสังคม

สถานการณ์การจ้างงานคนพิการมีแนวโน้มแย่ลงในช่วงวิกฤตโควิด-19

ภายหลังการรับรอง 'อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ' ในปี 2549 มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันและอุปสรรคที่คนพิการจำนวนมากต้องเผชิญ เป็นผลให้การมีส่วนร่วมของคนพิการในการจ้างงานเพิ่มขึ้นในหลายประเทศในช่วงหลายปีก่อนการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤตความก้าวหน้านี้หยุดลงหรือถดถอยในบางที่ โดยพิจารณาจากหลักฐานที่กำลังปรากฏอยู่

สัดส่วนการจ้างงานคนพิการในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 จาก 11 ใน 12 ประเทศที่มีข้อมูล สาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้ คือการสูญเสียตำแหน่งงานจำนวนมากระหว่างการระบาดนั้นอยู่ในภาคการค้าปลีกและการบริการ ซึ่งคนพิการจำนวนมากมักจะทำงานในภาคนี้ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่าคนพิการไม่เต็มใจที่จะกลับไปทำงานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19

สรุปข้อสังเกตจากฐานข้อมูล

แม้จะมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการมาเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ แต่คนพิการมักถูกปฏิเสธสิทธิในการทำงานอย่างเท่าเทียมกันกับผู้อื่น คนพิการโดยเฉพาะผู้หญิงต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านทัศนคติ ร่างกาย และข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งขัดขวางไม่ให้มีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน และคนพิการก็ไม่ได้รับโอกาสในการจ้างงานในระดับเดียวกับผู้ไม่พิการ คนพิการมีอัตราการว่างงานและการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในสถานการณ์การจ้างงานที่เปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงที่จะตกไปสู่ภาวะความยากจน

ILO มีความมุ่งมั่นมาอย่างยาวนานในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับคนพิการ โดย ILO ได้ปฏิบัติตามแนวทาง 2 ทางในเรื่องนี้ แนวทาง 1 ประกอบด้วยโครงการหรือความคิดริเริ่มเฉพาะด้านความพิการที่มุ่งเอาชนะข้อเสียหรืออุปสรรคโดยเฉพาะ แนวทางที่ 2 คือการรับรองการรวมตัวของคนพิการในบริการและกิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึกอบรมทักษะ การส่งเสริมการจ้างงาน แผนการคุ้มครองทางสังคม และกลยุทธ์การลดความยากจน 


ที่มา
New ILO database highlights labour market challenges of persons with disabilities (Valentina Stoevska, ILOSTAT, 13 June 2022)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net