Skip to main content
sharethis
  • 'ประยุทธ์' ยันรัฐบาลดำเนินมาตรการแก้ไขวิกฤตพลังงาน ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
  • บอร์ด กพช. เห็นชอบทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 63-67 รองรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
  • รอง หน.พรรคก้าวไกล บี้รัฐบาลกล้ายอมรับ ‘ถังแตก’ อุ้มราคาน้ำมันไม่ไหวแล้ว แนะเปลี่ยนเป็นหนุนค่าครองชีพโดยตรง มุ่งเป้าช่วย ‘ผู้มีรายได้น้อย’
  • ส.อ.ท.หวั่นรัฐไร้งบดูแลราคาน้ำมัน แนะรัฐเปิดประเทศให้เร็วกว่านี้ 

จากสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ส่งผลต่อค่าครองชีพและรายได้ประชาชน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งราคาสินค้าอื่นๆ นั้น เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (9 มี.ค. 65) เวลา 14.00 น. ที่ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2565 (ครั้งที่ 157) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ รมว.พลังงาน รมว.มหาดไทย รมว.คลัง รมช.พาณิชย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังนี้  
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมว่า สถานการณ์ในวันนี้มีวิกฤตด้านพลังงานจากสถานการณ์นอกประเทศ ที่มีผลกระทบกับไทยในหลายมิติด้วยกัน รัฐบาลจำเป็นต้องมีการปรับแผน พัฒนาแผนต่าง ๆ รวมถึงแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งนี้ มีหลายเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการในการแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่เฉพาะเรื่องของพลังงานและน้ำมันเท่านั้น ทั้งนี้ เรื่องสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกทั้งน้ำมันดีเซล เบนซิล รวมทั้ง LPG และ NGV ทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ซึ่งต้องหามาตรการที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยได้มีการดำเนินการทั้งในเรื่องของภาษี และจัดหาเงินมามาทดแทนกองทุนพลังงานที่มีน้อยลงและอยู่อย่างจำกัด โดยดำเนินการภายใต้สมมติฐาน และบริบทที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เช่น การพิจารณาราคาที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันว่าจะสามารถอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไปได้เป็นระยะเวลาเท่าใดในราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมถึงการคาดการณ์ไปถึงว่าหากราคาเกินกว่าที่กำหนดไว้จะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรต่อไป และท้ายที่สุดหากราคาน้ำมันสูงต่อเนื่องขึ้นไปอีก ณ เวลานั้นก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะหลายประเทศก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามหากเทียบราคาน้ำมันและราคาก๊าซของประเทศไทยกับหลายประเทศอาเซียนแล้ว ราคาน้ำมันและก๊าซในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำถึงแม้จะไม่ได้ต่ำที่สุด เพราะมีบางประเทศที่มีแหล่งพลังงานในประเทศด้วย จึงขอให้ทุกคนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดจะแก้ไขได้ ประชาชนก็ต้องมีความเข้าใจและฟังเหตุผลด้วยว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือตรงไหนอย่างไร ถ้านำงบประมาณมาทุ่มตรงนี้ทั้งหมด อย่างอื่นก็จะไปไม่ได้ ยืนยันว่ารัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยจะพยายามแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด
 
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โดยขอให้เน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้มีผู้เข้าร่วมโครงการตามเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น ทั้งกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล การสูบน้ำเพื่อการเกษตร บ้านเรือนประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลดโลกร้อนด้วย  
 
สำหรับมติ กพช. ที่สำคัญมีดังนี้

1. เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (Energy Pool Price) ในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานที่มีความผันผวน โดยมีหลักการนำต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเตา น้ำมันดีเซลและ LNG นำเข้าของกลุ่ม Regulated Market มาเฉลี่ยกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของภาคไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม Regulated Market อยู่ในทิศทางและแนวปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิงคิดเป็นหน่วยราคา/ความร้อน (บาท/MMBTU) และช่วยลดภาระค่า Ft ที่ส่งผลถึงผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง
 
2. เห็นชอบให้ปรับเพิ่มวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง [T-2] ในแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง ที่มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ จากเดิมวงเงิน 38,500 ล้านบาท เป็นวงเงินไม่เกิน 41,400 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จเร็วกว่าแผนเดิมจากเดือนพฤศจิกายน 2565 มาเป็นเดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตันต่อปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ รวมถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ โดยที่ประชุมได้ให้ กกพ. พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุน โครงการที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคต ไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับเหตุผลของการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน
 
3. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ซึ่งได้พิจารณาเพิ่มเติมให้มีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม จากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวลหรืออื่น ๆ นอกจากชีวมวลจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้วไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปีไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ที่กรอบราคารับซื้อไฟฟ้าสูงสุด ไม่เกิน Avoided cost และมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้า โดยให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) บริหารให้เป็นไปตามนโยบายต่อไป โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีการผลิตและใช้เองอยู่แล้วในปัจจุบันและมีพลังงานส่วนเหลือที่จะจำหน่ายเข้าสู่ระบบ รวมทั้งกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าและเงื่อนไขอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมและเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
4. เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง 2.8432 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2573 และโครงการปากแบง 2.9179 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2576 โดยอัตราค่าไฟฟ้าค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดอายุสัญญาและได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว และให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบอัตราค่า Wheeling Charge ของไทยและหลักการร่างสัญญา Energy Wheeling Agreement (EWA) โครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปประเทศสิงคโปร์ ผ่านระบบส่งของประเทศไทยและมาเลเซีย (LTMS - PIP) ในอัตราเท่ากับ 3.1584 US Cents/หน่วย ระยะเวลาโครงการ 2 ปี โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่างสัญญา EWA โครงการ LTMS - PIP ที่ผ่านการพิจารณาจาก อส. แล้ว ทั้งนี้ หาก อส. และ กพช. มีความเห็นให้แก้ไขร่างสัญญา EWA โครงการ LTMS - PIP ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญาเห็นควรให้ กฟผ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้
 
5. เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ดังนี้ 1. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภท บ้านอยู่อาศัย (โซลาร์ภาคประชาชน) ให้มีการรับซื้อต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยกำหนดเป้าหมาย การรับซื้อปีละ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 2.20 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปี ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องปรับปรุงเป้าหมายการรับซื้อ มอบให้ กบง. พิจารณากำหนด เป้าหมายดังกล่าวได้ 2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร ปี 2565 กำหนดเป้าหมายการรับซื้อ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 1.00 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปี

กพช. ยังมีมติเห็นชอบทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 – 2567 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เพื่อรองรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพ เนื่องจากความผันผวนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป 

รอง หน.ก้าวไกล ระบุต้นทุนขยับ เกษตรกร-ประชาชนสะเทือน

วันเดียวกัน (9 มี.ค.) ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ที่อาคารอนาคตใหม่ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล  แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ทางการเมืองเเละสถานการณ์โลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายด้าน 

ศิริกัญญา กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ส่งผลต่อค่าครองชีพและรายได้ประชาชนอย่างมหาศาล ผ่านราคาพลังงานที่พุ่งสูงที่สุดในรอบ 13 ปี ราคาอาหารสัตว์-ปุ๋ย ขยับขึ้น และจะส่งต่อมาที่อาหารสด ส่วนรายได้จากภาคท่องเที่ยวหยุดจะชะงักเพราะนักท่องเที่ยวจากรัสเซียลดลง

“ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่สินค้าแพงขึ้นจนอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. พุ่งขึ้นเป็น 5.3% สูงสุดในรอบ 13 ปี วิกฤตระลอกใหม่กำลังก่อตัวขึ้นอันเป็นผลมาจากสงครามและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศรัสเซีย ซึ่งจะส่งให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นไปอีก จากราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก รองจากซาอุดิอาระเบีย และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายหลักให้กับทวีปยุโรป ล่าสุด ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ออกข้อสั่งการแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ส่วนยุโรปประกาศลดการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียลง 2 ใน 3 ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบอาจจะขึ้นไปสูงถึง 185$/bll (JP Morgan) บางแห่งประเมินว่าจะขึ้นไปถึง 200$/bll เช่น แบงค์ออฟอเมริกาหรือบาร์เคลย์

“นอกจากนี้ รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลี (29%) และข้าวโพด (19%) ถือเป็นแหล่งใหญ่อันดับต้นๆของโลก ขณะนี้ราคาของทั้งสองตัวกำลังปรับขึ้นสูงมาก ข้าวสาลีราคาขึ้นมาเกือบ 2 เท่า ข้าวโพดเพิ่มขึ้น 50% ตอนนี้วัตถุดิบเริ่มส่งสัญญาณขาดตลาดแล้วในประเทศไทย ซึ่งสุดท้ายต้นทุนก็จะมาตกกับเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์และส่งต่อไปที่ราคาอาหารอย่างเนื้อสัตว์และไข่

“รัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะฟอสเฟตและโปแทส ตอนนี้รัฐบาลรัสเซียประกาศแบนการส่งออกปุ๋ยเคมี ย่อมซ้ำเติมกับต้นทุนราคาปุ๋ยของเกษตรกร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรขายได้แพงขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการทบทวนต้นทุนสินค้าเกษตรที่ใช้ในการคำนวณราคาประกันตามโครงการประกันรายได้ เพื่อให้ราคาประกันที่เกษตรกรได้รับ สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” 

ท่องเที่ยวฟุบ-น้ำมันแพง- รัฐบาล ‘ถังแตก’

ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า ภาคท่องเที่ยวที่กำลังจะฟื้นก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากรัสเซียเข้ามามากเป็นอันดับ 1 หลังเปิดประเทศ แต่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และการถอนเงินจากธนาคารใหญ่ในรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรทำได้ยาก ผู้ประกอบการจึงเกิดความกังวลว่าจะไม่ได้รับเงิน แม้ทาง ททท.จะมีขอเสนอให้กับ ครม.แล้ว แต่กลับไม่ปรากฏแนวทางปฏิบัติออกมาจาก มติครม.เมื่อวานนี้ ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร 

“กลับมาที่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ เรื่องราคาพลังงาน ถึงจุดนี้ รัฐบาลต้องกล้าออกมายอมรับความจริงกับประชาชนได้แล้ว ว่าไม่มีทางรักษาสัญญาที่ว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรได้ ปัจจุบันต้องใช้ทั้งสภาพคล่องจากกองทุนน้ำมันรวมกับภาษีสรรพสามิตราว 9.50 บาท คิดเป็นต้นทุนต่อเดือนราว 17,000 ล้านบาท เพื่อกดราคาดีเซลทุกลิตรที่จำหน่าย หากสถานการณ์ยืดเยื้อ และราคาน้ำมันดิบยังแพงขึ้นเรื่อยๆ สมมติว่าตลอดปีนี้ ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบอยู่ที่ 110 $/bll อาจจะต้องใช้เงินมากกว่า 200,000 ล้านบาท เพื่อราคาน้ำมันเพียงชนิดเดียว หากจะลดภาษีสรรพสามิตต่อ ก็อาจจะกระทบกับงบประมาณ ทุกๆ 1 บาทที่ลด หรือเท่ากับ 5,700 ล้านบาทต่อเดือน

“คำถามคือรัฐบาลจะนำเงินมาจากไหน ในเมื่อกฎหมายกำหนดไว้ใน มาตรา 26 กองทุนต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท ตอนนี้ขอวงเงินไว้กับ ครม. 30,000 ล้านบาท แต่ยังกู้ไม่ได้” 

ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้เงินกองทุนในบัญชีน้ำมันและบัญชีก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนไหลออกเดือนละ 13,000 ล้านบาท ในขณะที่มีเงินไหลเข้ากองทุนเดือนละ 5,000 ล้านบาท โดยประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ 21,838 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 4,988 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 26,826 ล้านบาท อย่างไรเสียก็ไม่น่าจะเพียงพอที่จะอุ้มดีเซลต่อไป หากจะออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อขยายกรอบเงินกู้ ก็ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ

แนะทางออก ยอมรับความจริง หนุนช่วยค่าครองชีพโดยตรง

ในช่วงท้าย ศิริกัญญา ย้ำว่า  ขณะนี้รัฐบาลเดินมาถึงทางตันแล้ว ไม่มีเงินพออุ้มราคาน้ำมันได้อีก พรรคก้าวไกล จึงมีข้อเสนอเพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพสูงจากราคาน้ำมัน ดังนี้ 

1. รัฐบาลต้องยอมรับกับประชาชนตรงไปตรงมา ว่าด้วยงบประมาณที่มี ‘รัฐถังแตก’ แล้ว ไม่มีเงินพออุดหนุนราคาน้ำมันต่อในระยะยาว 

2. ต้องเปลี่ยนจากการอุ้มราคาน้ำมันแบบเหมารวมทั้งประเทศ มาเป็นการอุดหนุนค่าครองชีพโดยตรงให้ประชาชน ช่วยทั้งผู้ใช้เบนซินและดีเซล มุ่งเป้าคนรายได้น้อย โดยเติมเงินเพิ่มในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมกับต้องขยายสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะมีคนจนเพิ่มจำนวนมากจากสภาวะเศรษฐกิจในเวลานี้ แต่ยังไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

3. นำเงินไปอุดหนุนตรงให้กับขนส่งสาธารณะและภาคโลจิสติกส์ เช่น กลุ่มรถบรรทุก เพื่อใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกลุ่มเป้าหมาย 

“เราต้องการรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน มองการณ์ไกล รวมถึงต้องกล้ายอมรับ กล้าพูดความจริงกับประชาชน” ศิริกัญญา ระบุ  

ส.อ.ท.หวั่นรัฐไร้งบดูแลราคาน้ำมัน แนะรัฐเปิดประเทศให้เร็วกว่านี้ 

ด้าน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นั้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาฯ ระบุปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเพราะสถานการณ์ยังยืดเยื้อ โดยเฉพาะผลกระทบกับราคาน้ำมันตลาดโลกจะยืนอยู่ที่ 100 กว่าดอลลาร์/บาร์เรล ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งทำให้ไทยที่เป็นประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเกิดภาวะเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพงขึ้น เพราะทุกอย่างต้องใช้น้ำมันเป็นต้นทุนด้านการขนส่ง ส่วนกรณี ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการทางภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ในมุมของเอกชนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี การดูแลไม่ให้ราคาพลังงานแพงก็เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลจะเก็บภาษีอะไรได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ใช้วิธีแจกเงินอย่างเดียว รัฐบาลควรเปิดประเทศให้เร็วกว่านี้ ให้นักท่องเที่ยว นักลงทุนเข้ามาให้มากขึ้นและสะดวกขึ้น ซึ่งจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจแข็งแรงขึ้นได้ เพราะปัจจุบันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายได้เร็วก็จริงแต่ไม่รุนแรง ถ้าไม่ผ่อนคลายให้มากกว่านี้เศรษฐกิจจะแย่ในขณะที่ไทยต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ระบบ Test&Go ควรจะยกเลิกเพราะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางเข้ามาของต่างชาติ การเปิดเศรษฐกิจจะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นในขณะที่ไทยกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ แต่ประชาชนมีรายได้เท่าเดิม ภาระของประชาชนเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องใส่เงินในการอุ้มค่าน้ำ ค่าไฟ น้ำมัน ซึ่งในระยะยาวจะอุ้มต่อไปไม่ไหว แม้สงครามรัสเซีย ยูเครนจะยุติวันนี้ ราคาน้ำมันไม่ได้ลดลงทันทีต้องใช้เวลา ซึ่งประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ต่อไปอีก 20-30 วัน ซึ่งเอกชนเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะมีเงินเพียงพอดูแลได้เท่าไหร่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net