Skip to main content
sharethis

สำรวจนิยามความงามแต่ละยุคสมัย พร้อมมุมมองของ นศ. ม.อุบลฯ ต่อนิยามคิดว่า มาตรฐานความงาม หรือ Beauty Standard ว่ามันทำร้ายตัวเขาอย่างไร รวมทั้งสิ่งที่สำคัญกว่ากว่าคำนี้

 

นิยามความ ”งาม” ของคุณคืออะไร? ภาพจำในอุดมคติหลายคนอาจจะมีความแตกต่างกันไป สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความสวยความงามว่า เป็นสิ่งที่ผู้หญิงในทุกยุคทุกสมัยและในสังคมนั้นให้ความสำคัญและใส่ใจอยู่เสมอ

ประติมากรรม Venus Willendorf (ภาพจากวิกิพีเดีย)

หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้นความงามที่ถูกสะท้อนผ่านงานประติมากรรม Venus Willendorf ปัจจุบันตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ในเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย เป็นสัญลักษณ์แทนความงามของผู้หญิงในช่วงยุคสมัยแรกของโลก (ยุคหินเก่า) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความงามของผู้หญิงในยุคนั้นว่า การที่มีรูปร่างอวบอ้วน หน้าอกใหญ่ สะโพกผาย สื่อถึงร่างกายที่อุดมสมบรูณ์เหมาะกับการตั้งครรภ์

ขณะที่ความงามของผู้หญิงในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ หรือเรอเนซองซ์ (ศตวรรษที่ 15-16) ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นผ่านจิตรกรรม ในลักษณะของผู้หญิงเปลือยหน้าอกพร้อมสัญลักษณ์และแรงดึงดูดทางเพศ Birth of Venus เช่น ผิวซีดขาว แก้มแดง หุ่นเว้าโค้ง และใบหน้ากลม แสดงให้เห็นถึงค่านิยมความงามของยุคนั้นว่า นอกจากจะมีความสมบรูณ์ของร่างกายแล้ว ยังต้องมีความงามที่เร้าตัณหาของผู้พบเห็นอีกด้วย

The Birth of Venus (c. 1484–1486) ภาพจากวิกิพีเดีย

ต่อมาความงามของผู้หญิงในยุคควีนอลิซาเบธ (ศตวรรษที่ 16) ซึ่งเป็นยุคแรกของการแต่งหน้า ค่านิยมความงามจึงเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า “ยิ่งแต่งยิ่งสวย” และมีความเชื่อว่าผู้หญิงที่มีสีผิวซีดพร้อมกับสีลิปสติกแดงฉูดฉาดตามแบบอย่างของควีนอลิซาเบธ จะยิ่งเป็นผู้หญิงที่มียศสูงศักดิ์ ขณะที่สามัญชนที่มีลักษณะสีผิวคล้ำแสดงให้เห็นถึงคนที่ต้องทำงานหนักกลางแดด

ความงามของผู้หญิงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) ผู้หญิงมากมายเลือกที่จะลดขั้นตอนการแต่งตัวใส่ชุดให้น้อยลง เพื่อเพิ่มเวลาในการแต่งหน้าให้มากขึ้น และเน้นสัดส่วนเพื่อให้ฝ่ายชายเกิดความหลงใหล

ยุควิคตอเรีย (ศตวรรษที่ 19) ถือว่าเป็นยุคความงามที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและจิตใจของผู้หญิง โดยความงามทั้งหมดจะอยู่ที่ภาพลักษณ์ทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่การใส่กระโปรงบานและใส่คอร์เซ็ท เพื่อให้ดูตัวเล็ก เปราะบาง น่ารัก น่าทะนุถนอม นอกจากนั้นเครื่องสำอางในยุควิคตอเรียส่วนใหญ่มีสารประกอบของตะกั่ว แอมโมเนีย ปรอท และพืชอันตราย ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวอีกด้วย

เริ่มศตวรรษใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1(1920) ผู้หญิงก็ละทิ้งการใส่คอร์เซ็ทไปและรวบผมสูง เพราะความงามของผู้หญิงได้รับอิทธิพลจากเพศชายทั้งด้านความงามที่มาพร้อมกับอำนาจ ส่งผลให้เห็นค่านิยมความงามของสมัยนั้นในลักษณะที่เป็นบอยอิส (Boyish) หญิงสาวร่างกายผอมตรง ไม่มีส่วนเว้าโค้ง

ในทศวรรษ 1960 ภายหลังจากนั้นค่านิยมความงามของผู้หญิง และบทบาททางเพศเริ่มเปลี่ยนแปลง การมีบ้านที่มั่นคง มีรถให้ขับและมีอาชีพการงานที่ดี หรือเป็นแม่บ้านที่ดี แต่ก็ไม่วายที่จะถูกทำลายลงแทนที่ด้วยความผอม ถึงแม้ในช่วงยุคสมัยต่อมาผู้หญิงจะมีอิสระทางความคิด แต่ความคลั่งผอมกลับยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจวบจนปัจจุบัน[1] 

มุมมองเกี่ยวกับความสวยความงาม จะเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่อาจจะแตกต่างหรือหลากหลายในแต่ละยุคสมัย แต่สังคมส่วนใหญ่ก็ยังคงเลือกตัดสินตัวบุคคลแค่ภายนอกที่พบเห็น หรือที่เรียกว่า “มาตรฐานความงาม Beauty Standard” ของสังคม

มาตรฐานความงาม (Beauty Standard) หมายถึง คุณค่าความงามที่ถูกกำหนดขึ้นจากคนในสังคมใดสังคมหนึ่ง เช่น ผิวขาว ตาโต จมูกโด่ง หน้าใส ปากกระจับ หุ่นเพรียว ขาเรียว คือความงามในอุดมคติของสังคมไทยปัจจุบัน ขณะที่คนในสังคมต่างประเทศทั่วโลกก็มีการกำหนดมาตรฐานความงาม ประเทศสหราชอาณาจักร ความงามของผู้หญิงต้องมีผิวสีแทน เพราะเชื่อว่าดูมีสุขภาพดีกว่าผู้หญิงผิวขาวทั่วไป หรือทวีปอเมริกาเหนือ อย่างสหรัฐอเมริกา ที่ยอมรับอิทธิพลของคนดังอย่างไคลี่ เจนเนอร์ ส่งผลต่อค่านิยมความงามของสหรัฐฯ ขณะที่ทวีปอเมริกาใต้ อย่างบราซิล นิยมสาวหน้าอกเล็ก แต่มีบั้นท้ายกลมกลึง ส่วนทวีปฝั่งเอเชีย อย่างจีน ผู้หญิงนิยมทำตาสองชั้น เพราะทำให้รู้สึกน่ารักเหมือนตุ๊กตา[2]

มาตรฐานความงามของผู้หญิงแปรเปลี่ยนไปตามค่านิยมและวัฒนธรรม ความงามจึงเป็นเรื่องค่านิยมของสังคมและวัฒนธรรม ที่ให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาหรือความงามภายนอกมาเป็นอันดับแรกและมากกว่าความสวยงามภายในจิตใจ

ปัจจุบันนี้ สื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ และสื่อโฆษณา มีบทบาทและมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะกำหนดมาตรฐานความงามเป็นอย่างมาก เพราะสื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่นำเสนอความงามเพียงด้านเดียว หรือความงามแค่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้คนทำศัลยกรรม หรือสื่อออนไลน์ที่นำเสนอความงามว่าแบบไหนถึงที่เรียกว่า ”สวย” เพื่อให้เพศตรงข้ามเกิดความสนใจ

ทำให้คนที่มีรูปลักษณ์ไม่ได้ตรงตามมาตรฐานความงามเกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง บางครั้งก็ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจภายในของผู้ถูกกระทำ ขณะเดียวกันการพูดถึงความสวยความงาม ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือการแสดงความงามได้อย่างปัจเจก ก็เกิดขึ้นควบคู่กับมาตรฐานความงามที่คนในสังคมกำหนดขึ้นเช่นกัน

Beauty Standard ทำร้ายคุณอย่างไร?

“ด้วยความที่เฟิร์นเป็นคนตัวใหญ่ หุ่นท้วม ซึ่งมันผิดกับมาตรฐานผู้หญิงไทยอยู่แล้ว ก็คือมาตรฐานของผู้หญิงไทย ต้องผอม ผิวขาว ตัวเล็ก ซึ่งเฟิร์นไม่ใช่ เฟิร์นก็จะโดนทักบ่อยๆ และก็โดนสายตามองมาบ่อยๆ มันทำให้เฟิร์นกลับไปมองดูตัวเองในกระจกแล้วรู้สึกกดดันตัวเอง จนมันทำให้เฟิร์นอยากไปผ่าตัดกระเพาะตัวเองไปลดให้มันน้อยลง เพราะเฟิร์นคิดว่ามันคือสาเหตุที่ทำให้เฟิร์นตัวใหญ่ ตัวอ้วนกว่าคนอื่น รู้สึกอยากแก้ไขตัวเองมากตอนนั้น อีกทั้งอยากไปดูดไขมัน อยากกินยาลดหุ่น ยากระชับสัดส่วน เฟิร์นรู้สึกว่าสังคมมันกดดันให้เราต้องผอมนะถึงจะสวย ซึ่งเราเองก็เหนื่อยมาก เพราะเราแคร์สายตาคนอื่นเกินไป จนลืมคิดไปว่าถ้าเฟิร์นไปผ่าตัด เฟิร์นอาจจะทรมานมากหลังจากที่ผ่าตัดมา อาจจะได้รับผลข้างเคียงที่เสี่ยงจนเกินไป หรืออาจจะได้รับผลกระทบเมื่อเรากินยาลดความอ้วนก็ได้ นี่คือสิ่งที่เราไม่ได้อยากเลือกแต่ว่าสังคมกดดันให้เราต้องเลือกและต้องอยากทำ” เฟิร์น นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าว

“ส่วนตัวรู้สึกว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่โรงเรียนมัธยม มหาวิทยาลัย จนไปถึงระดับประเทศ ซึ่งในระดับมัธยมที่ผมเจอ เช่น การคัดเลือกผู้นำเชียร์ลีดเดอร์ อันดับแรกที่เขาดูก็จะมีรูปร่างหน้าตาก่อนเสมอ ส่วนความสามารถเอาไว้ทีหลัง เหมือนกันกับมหาวิทยาลัย เช่น การประกวดดาวเดือน หลายคนก็จะดูรูปร่างหน้าตา หรือบุคลิกภายนอกก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนความสามารถก็ค่อยตามหลังมา ระดับประเทศก็ยิ่งต้องสูงขึ้นไปอีก ซึ่งจริงๆ ถ้ามองอีกมุมหนึ่งที่เห็นด้วย รูปร่างหน้าตาหรือบุคลิกภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่สำหรับกลุ่มคนที่อยากจะเป็นที่ยอมรับของสังคมก็ไม่สามารถเข้าถึงตรงนี้ได้ กล่าวคือ ในเมื่อคนเรามันเลือกเกิดไม่ได้ แต่มีหนึ่งสิ่งที่เลือกได้เมื่อเกิดมา คือ การเลือกที่จะเป็น แต่การเลือกที่จะเป็นกลับถูกทำให้มีบทบาทน้อยมากในสังคม” ต้า นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าว

ต้า และ เฟิร์น นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

สิ่งที่สำคัญกว่าคำว่า Beauty Standard?

“เฟิร์นว่า มันคือการยอมรับในตัวเองมากกว่า เพราะว่าถ้าเรายอมรับในตัวเองได้ โดยที่เราพอใจในตัวเองไม่สนใจคำพูดของคนอื่น เวลาที่คนอื่นมาพูดลดคุณค่าในตัวเรา เฟิร์นคิดว่า คำว่า Beauty Standard มันคือมาตรฐานความงามก็จริง แต่ถ้าเรายอมรับในตัวเองได้ เราจะไม่สนมาตรฐานความงามของสังคมตรงนั้นเลยที่สังคมตั้งขึ้น แล้วมันจะทำให้เราสบายใจมากกว่า” เฟิร์น กล่าว

“ส่วนตัวผมคิดว่า มุมมองทัศนคติ ความมั่นใจในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง และการไม่ดูถูกดูแคลนคนอื่น เพราะสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เราควรให้ความสำคัญ แต่สำหรับ Beauty Standard เองเราไม่สามารถที่จะบังคับให้หยุดตามที่ใจเราต้องการได้ แต่เราก็สามารถที่จะเปลี่ยนจุดโฟกัสตรงนั้นมาโฟกัสในความงามที่เป็นฉบับของเราแทน ผมเชื่อว่าทุกคนมีความงาม มีเอกลักษณ์อยู่ในตัวเองเพียงแต่ว่ามันถูกกดทับด้วยความงามที่เป็นอุดมคติของสังคมมากจนเกินไป” ต้า กล่าว

แม้ความงามของยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยมของสังคมและวัฒนธรรม แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการที่คนเรายอมรับตัวตนของตัวเองได้ โดยที่ไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น อาจจะเป็นสิ่งที่แตกต่างบ้างในสังคมที่เคร่งครัดเรื่องมาตรฐานความงาม แต่นั้นก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ชูเอาความงามที่แตกต่างซึ่งได้รวมเอาทัศนคติ กับความมั่นใจในฉบับ “ของเราเอง” เข้าผสมผสานเข้าไปด้วย

 

[2] ที่มา: https://women.kapook.com/view145334.html

สำหรับรายงานนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน นิตยสาร Anew ซึ่งเป็นนิตยสารที่จัดทำโดย นักศึกษาเอกวารสารศาสตร์ และเอกวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และภาพยนตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net