Skip to main content
sharethis

ในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 2535 เคยขึ้นเวทีย่อยของพันธมิตรเพื่อเสนอประเด็นผู้หญิง ค้นหาความจริงในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 และเกาะติดประเด็นสิทธิมนุษยชน กฤตยาให้มุมมองของตนต่อบทเรียนที่ได้ ข้อเสนอ และความหวัง ในวาระ 15 ปีรัฐประหาร 2549

  • การเสนอให้มีนายกฯ พระราชาทานของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถือว่าข้ามเส้นความเป็นประชาธิปไตยและถูกคัดค้าน
  • ประเทศไทยตกอยู่ในกับดักวาทกรรมว่านักการเมืองชั่วร้ายและชอบเรียกทหารให้เข้ามาระงับความวุ่นวาย
  • ปัญหาประการหนึ่งในยุคทักษิณคือระบบตรวจสอบมีปัญหาทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายเรื่อง จำเป็นต้องสร้างระบบตรวจสอบที่ดีและตรวจสอบทุกสถาบันเหมือนกัน
  • การเรียนรู้และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยจะช่วยให้เห็นภาพเบื้องหน้าเบื้องหลังของการรัฐประหารว่าต้องมีผู้บอกว่าทำได้หรือไม่ได้
  • กฤตยาเชื่อว่าการชุมนุมแบบพันธมิตรฯ และ กปปส. จะไม่เกิดขึ้นอีก ขณะที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่เอารัฐประหาร เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆ กับการโฆษณาชวนเชื่อกำลังอ่อนแรงลงเรื่อยๆ

‘ประชาไท’ พูดคุยกับ กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และหนึ่งในคณะทำงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ในฐานะบุคคลคนหนึ่งที่ถูกชวนให้ขึ้นปราศรัยบนเวทีย่อยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2549 เพื่อเสนอประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผู้หญิงในสังคมไทยร่วมกับชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นครั้งเดียวที่เธอขึ้นปราศรัย ก่อนที่จะตัดขาดกับการชุมนุมของพันธมิตรฯ เพราะไม่สนับสนุนนายกฯ พระราชทาน และต่อต้านการรัฐประหาร

กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

เป็นการถอดบทเรียนในฐานะคนคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย กฤตยาซึ่งติดตามประเด็นสิทธิมนุษยชน นโยบายในยุคทักษิณ ชินวัตรหลายเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่าเธอติดกับวาทกรรมที่ว่านักการเมืองชั่วร้าย

กฤตยามีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เธอเก็บบทเรียนได้ว่าประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่จะทำให้เห็นผู้เล่นทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารคือสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ และปัจจุบันคนรุ่นใหม่กำลังเรียนรู้ท่ามกลางที่มนต์เสน่ห์ของโฆษณาชวนเชื่อถดถอยลงทุกขณะ

ประเด็นผู้หญิงในขบวนประชาธิปไตย ก่อนลาขาดเพราะนายกฯ มาตรา 7

ปี 2549 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจัดชุมนุมและมีการปราศรัยหลายครั้ง พูดได้ว่ามีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ แล้วนักวิชาการทุกคนที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ต้องเป็นเนื้อเดียวกับพันธมิตรฯ หรือไม่ เราคงตอบแบบเหมารวมเช่นนั้นไม่ได้

กฤตยาที่จับประเด็นผู้หญิงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ร่วมกับชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ่งที่ดันให้เธอขึ้นปราศรัยในการชุมนุมครั้งนั้นและเป็นครั้งเดียวคือเหตุผลเดียวกันกับที่ประเด็นที่เธอทำงาน

เธอเล่าว่าได้รับการติดต่อจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านผู้หญิงขอให้ขึ้นเวทีพันธมิตรเพื่อพูดในประเด็นนี้ กฤตยาตั้งข้อสังเกตว่าในสายธารของการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยไทยไม่เคยมีประเด็นผู้หญิงร่วมอยู่ด้วยเลย เธอจึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะสื่อสารเรื่องนี้สู่สังคม

อีกเหตุผลหนึ่ง กฤตยายอมรับว่าขณะนั้นตนเองไม่ชอบในตัวทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากมีแนวโน้มจะรวบอำนาจ

“ในวันที่เราไปเดินดูขบวนเราก็พบคนหลายคน คือพบอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คือพบคนที่อยู่ในขบวนการประชาธิปไตยจำนวนมากที่ไปดู แต่ไม่ได้มีส่วนร่วม เรารู้ว่าเขาไปดูเหมือนเราไปดู แล้วก็มีอยู่วันหนึ่งก็มีคนมาติดต่อว่าให้ไปขึ้นเวที เพราะฉะนั้นเราขึ้นเวทีนี้เราก็มี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นผู้หญิง ถ้าให้พูดประเด็นอื่นเราคงไม่พูด แต่ในช่วงเวลานั้นเองพันธมิตรได้เสนอข้อเรียกร้องเรื่องมาตรา 7 แล้ว

“ดิฉันจำได้แม่นยำ วันที่อยู่บนเวที ดิฉันเป็นฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ไม่เอานายกพระราชทาน ไม่เอามาตรา 7 แล้วหลังจากนั้นไม่นานก็เลิกลากับพันธมิตรฯ ไป ไม่สนับสนุน แล้วตั้งแต่วันนั้นเลยไม่เคยไปม็อบสักม็อบไม่ว่าที่ไหนจนถึงทุกวันนี้ เพราะส่วนหนึ่งคิดว่าเราต้องออกมาอยู่ให้ไกลแล้วดูข้างนอกจะดีกว่า”

เส้นแบ่งที่กฤตยาเห็นว่าพันธมิตรฯ ก้าวข้ามความเป็นประชาธิปไตยไปแล้วคือการเสนอนายกฯ พระราชทานหรือนายกฯ มาตรา 7

ทักษิณกับนโยบายที่ผิดพลาด

กระแสการขับไล่ทักษิณช่วงปี 2549 ค่อนข้างร้อนแรง มีภาคประชาชน เอ็นจีโอ และนักวิชาการเข้าร่วมด้วยไม่น้อย ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวและเป็นผู้สังเกตการณ์ กฤตยากล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“เวลาเราคุยกันเรื่องม็อบ รัฐประหาร 19 กันยา เราจะไม่พูดถึงทฤษฎีสองไม่เอาของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลคงยาก เขาเสนอว่ากลุ่มนักวิชาการประชาธิปไตยเป็นพวกสองไม่เอา คือไม่เอาทักษิณและไม่เอารัฐประหาร ซึ่งมันขัดแย้งกันเอง สำหรับอาจารย์สมศักดิ์แล้ว คุณไม่เอาทักษิณและไล่ทักษิณไปโดยวิธีการที่พันธมิตรฯ ทำ มันก็คือการเชิญชวนให้เกิดรัฐประหาร เพราะฉะนั้นถ้าไม่เอาทักษิณไม่มากก็น้อยเหมือนมีนัยว่าคุณสนับสนุนรัฐประหาร

“ดิฉันชัดเจนว่าไม่ชอบทักษิณ แต่เห็นด้วยที่ทักษิณยุบสภา แล้วก็ลาออกให้มีการเลือกตั้ง รัฐประหารไม่เอาอันนี้เราชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นถ้าให้เราแก้ตัว เราก็คิดว่าเราไม่ได้เป็นสองไม่เอา

“ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ชาญวิทย์หรืออาจารย์ธำรงศักดิ์ก็ดี ลองไปถามเขา อาจารย์วรเจตน์ก็ดี ตอนที่มันมีประเด็นเทมาเส็ก เราจัดเสวนากันที่ห้องที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อาจารย์วรเจตน์มาพูดด้วยซึ่งก็พูดได้ดีมากว่าการที่ทักษิณขายหุ้นมันแย่ยังไง เพราะฉะนั้นแล้วการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการสมัยนั้น มันก็ค่อนข้างไปในทางเดียวกันหมดที่จะไม่เอาทักษิณ การที่อาจารย์เกษียรสร้างวาทกรรมระบอบทักษิณขึ้นมาก็เป็นอีกนัยหนึ่งให้เห็น คนมันมองภาพเดียวกันว่าทักษิณจะต้องอยู่ยาวอยู่นาน แล้วก็จะเหลิงอำนาจ”

นอกจากนี้ กฤตยายังไม่ชอบนโยบายหลายเรื่องของทักษิณ เช่น สงครามยาเสพติดหรือการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี

“ไม่มีใครที่ดีเกินไปจนตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีใครชั่วเกินไปจนต้องตรวจสอบเป็นพิเศษ”

เมื่อถามว่าถือเป็นความผิดพลาดหรือไม่ที่ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ กฤตยาตอบว่า ไม่ เนื่องจากตนไม่ได้เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ทุกเรื่อง ทั้งข้อใหญ่ใจความที่เธอขึ้นปราศรัยบนเวทีก็เพื่อสื่อสารประเด็นปัญหาของผู้หญิงในสังคมไทย

“แต่เราคิดว่าเรามองเรื่องทักษิณผิดพลาด เราไม่ได้มองงานทักษิณโดยรอบด้าน เราไม่ชอบทักษิณ มันเหมือนกับคนทั่วไปที่พร้อมจะด่ารัฐบาล มีอารมณ์ที่จะไม่ชอบรัฐบาลได้ง่าย เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐบาลทำไม่ดีตามที่เรารู้สึกก็คือทั้งเรื่องภาคใต้ เรื่องยาเสพติดเราก็รู้สึกไม่ชอบ เราไม่ชอบมากๆ ที่เขาจะรวบอำนาจอยู่นาน

“ประเด็นสำคัญอันหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นรากฐานที่สำคัญในสังคมไทยก็คือว่ามันเกิดการสร้างวาทกรรมที่ทำให้คนเกลียดนักการเมือง ซึ่งมีคำอภิปรายอันนึงของอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ที่ว่าสังคมไทยเป็นอะไรไม่รู้ มันทำให้คนเกลียดนักการเมือง มองนักการเมืองชั่ว ทำให้ดิฉันมาคิดย้อนว่า เออ เราก็เป็นแบบนั้น เราก็เป็นหนึ่งของคนซึ่งตกอยู่ในหลุมนี้ คือเราเกลียดนักการเมืองไปหมดเลยซึ่งดิฉันคิดว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง”

กฤตยาคิดว่านี่เป็นบทเรียนสำคัญที่เธอได้ จำเป็นที่ตัวเธอและสังคมไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการเมืองและนักการเมืองโดยมองตามความเป็นจริง อีกทั้งต้องสร้างระบบการตรวจสอบที่ดี มีประสิทธิภาพ

“เราก็เห็นว่าระบบตรวจสอบในยุคทักษิณมีปัญหาไง ก็เพราะระบบตรวจสอบมันอ่อนแอ มันทำให้การฆ่าคนในสงครามยาเสพติดมีคนตายตั้ง 2,000 กว่าคน ถ้าเราคิดระบบตรวจสอบที่ดี มันก็สามารถจะสร้างสังคมที่ดีได้ ต้องตรวจสอบคนทุกคน ไม่มีใครที่ดีเกินไปจนตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีใครชั่วเกินไปจนต้องตรวจสอบเป็นพิเศษ ไม่มีสังคมอย่างนั้น ไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อมาพูดถึงเรื่องสถาบัน ก็มีการพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เขาก็พูดในไอเดียแบบเดียวกันว่ายังไงเราก็ควรจะต้องตรวจสอบทุกสถาบันเหมือนกัน”

เข้าใจอดีตเพื่อตอบคำถามปัจจุบัน

ในฐานะนักวิชาการคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของทักษิณ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และร่วมตรวจสอบการสังหารหมู่กลางกรุงเดือนเมษายนและพฤษภาคมปี 2553 บทเรียนที่กฤตยาได้และนักวิชาการควรต้องตระหนักคือการเข้าใจเบื้องหลังการรัฐประหาร

“นักวิชาการที่สนใจประชาธิปไตยแล้วไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารควรจะศึกษาเบื้องหลังการรัฐประหารทุกครั้งให้ดี เวลาเรามาคุยกันเรื่องเบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน รัฐประหารก่อนหน้านั้นนักวิชาการเข้าใจมันมากน้อยแค่ไหนหรือสังคมไทยเรียนรู้เรื่องการรัฐประหารในอดีตมากน้อยแค่ไหน โดยส่วนตัวมีความรู้สึกว่าเราเรียนรู้น้อยมาก แม้ว่าเราจะอยู่ในกลุ่มคนซึ่งสนใจเรื่องนี้ แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ที่เรียนกันอยู่ในโรงเรียนไม่บอกอะไรเลย

“พวกนี้มันเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย มีคนที่สนใจศึกษาน้อยมากเพราะเวลาที่เราจะศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเราจะไปศึกษานู่น รัชกาลที่ 6 ที่ 7 หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถ้าเราไม่เข้าใจในอดีตเราตอบคำถามปัจจุบันยาก เนื่องจากว่าเราก็ทำศูนย์ฮอทไลน์มหิดลมาตั้งแต่ปี 2535 เราก็ติดตามการเปลี่ยนแปลงพวกนี้ เราเห็นว่า รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) มาได้อย่างไร ล้มรัฐบาลพลเอกชาติชายได้อย่างไร มีปาหี่เรื่องนี้มาได้อย่างไร แล้วก็เบื้องหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พอมันผ่านมา 20 ปีคนมาพูดเรื่องที่เขาไม่ได้พูดตั้งเยอะ เช่น พัลลภ ปิ่นมณีก็ออกมาพูดว่าเขาเองเป็นคนที่ไปปาระเบิดอยู่ที่นางเลิ้ง ไปทำให้โรงพักนางเลิ้งถูกเผา ผ่านไป 20 ปีมันก็เห็นภาพของพวกนี้มากขึ้น เห็นจิ๊กซอว์มากขึ้น เราก็รู้เลยว่ารัฐประหารจะทำไม่ได้ ถ้าไม่มีใครบางคนสนับสนุนบอกว่าโอเค ทำได้”

ในวันที่โฆษณาชวนเชื่อคลี่คลายลงทุกขณะ

“ทำไมม็อบเยาวชน ถึงมีข้อเสนอที่มันทะลุเพดาน เพราะเขาเริ่มต้นทำความเข้าใจตั้งแต่ 2475 มาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเวลากลับไปถามเรื่องม็อบ 19 กันยายน 2549 สำหรับเยาวชนที่ศึกษา 2475 เขาเข้าใจได้ง่ายนิดเดียวว่ารากเหง้าของเรื่องมันมาจากอะไร เพราะฉะนั้นมันต้องส่งเสริมให้คนเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วมสมัยให้มากที่สุด เปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึงข้อมูล และให้คนสามารถพูดถึงได้ ถ้าเราสามารถพูดถึงประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดในอดีตได้มากเท่าไหร่ ในวงกว้างเท่าไหร่ โอกาสที่สังคมไทยจะทำผิดพลาดซ้ำรอยก็จะน้อยลง”

กฤตยาแสดงทัศนะว่าเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีการรัฐประหารมากที่สุดในโลกเป็นเพราะสังคมไทยติดกับวาทกรรมอัศวินขี่ม้าขาว ถ้าสังคมวุ่นวายก็ชอบเรียกร้องให้ทหารออกมารัฐประหารไม่ว่าจะในอดีตหรือแม้กระทั่งตอนนี้

สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ ขณะที่มีคนเรียกร้องรัฐประหาร แต่ก็มีคนต่อต้านรัฐประหารชัดเจนมากขึ้น ไม่เอานายกฯ พระราชทานเด็ดขาด ต้องมาตามระบอบกลไกของประชาธิปไตยเท่าที่จะเป็นได้ในขณะนี้ แล้วค่อยแก้ไขข้อบกพร่องกันต่อไป

กับอนาคตข้างหน้า กฤตยาจึงมีความเชื่อว่ามวลชนที่จะออกมาสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น เพราะกระแสโฆษณาชวนเชื่อที่เกิดขึ้นในยุครัชกาลที่ 9 คลายตัวลง เธอบอกว่าพันธมิตรฯ และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เลือกเครื่องมือในการระดมมวลชนถูกในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็คือความจงรักภักดี

“แต่อย่าหวังว่าจะมีม็อบอย่างนี้อีกเลยในสังคมไทย เพราะว่า Propaganda มันคลี่คลายลงมาเรื่อยๆ จนถึงเจเนอเรชั่นปัจจุบัน คนที่เกิดปี 2549 ขณะนี้มันอายุเท่าไหร่ จนถึงวันนี้ 2564 จะมาให้คนที่ไม่ได้อยู่ในอิทธิพลของ Propaganda หรือกระแสที่จะเห็นภาพพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ที่ทำให้คนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณมันก็ผ่อนคลาย มันก็คลี่คลายลงเอาอย่างนี้แล้วกัน และรัชกาลที่ 10 ก็ไม่มีอะไรอย่างนี้ที่จะมาแทนได้ อีกอันหนึ่งคือ Social Media มันเปิดอีกสนามรบหนึ่งด้วย”

อาจกล่าวได้กระมังว่าสังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net