Skip to main content
sharethis

นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองระบบความรู้เก่าในสังคมไทยกำลังอยู่ในสภาพพังทลาย ระบบความรู้เก่าที่เคยผดุงอำนาจชนชั้นนำไทยถูกตั้งคำถามใหม่และถูกตอบคำถามใหม่ ทั้งไม่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงได้อีก สิ่งที่ชนชั้นนำไทยเหลือคือการใช้อำนาจดิบเพื่อรักษาอำนาจและคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาเนื่องในโอกาสตีพิมพ์วารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับ 80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนสยามยุคเปลี่ยนผัน ในหัวข้อเรื่อง ‘เสรีภาพทางวิชาการ ในสภาวะเสื่อมถอย’

โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวบรรยายดังนี้

ความรู้ถูกควบคุมโดยใคร

ผมมีเรื่องที่อยากจะพูดอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นหนึ่งก็คือว่าเสรีภาพทางวิชาการ เวลาเราพูดถึงมันมีบริบทอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าในแต่ละสังคมบริบทของสิ่งที่เราเรียกว่าเสรีภาพทางวิชาการมันไม่เหมือนกัน

ประเด็นที่ 2 คือเสรีภาพทางวิชาการมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของความรู้และระบบความรู้เป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งว่าเราจะเข้าใจเสรีภาพทางวิชาการในสังคมหนึ่งจากการที่เราย้อนกลับไปดูเรื่องของความรู้และระบบความรู้ของสังคมนั้นๆ มากกว่า

และอันที่ 3 ก็คือว่าเสรีภาพทางวิชาการมันก็ไม่ได้รออยู่ใต้แต่มันต้องสัมพันธ์อยู่กับเสรีภาพอื่นๆ ด้วย

แต่ผมจะขอพูดข้อ 2 ก่อน เสรีภาพทางวิชาการมันสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่าความรู้และระบบความรู้อย่างไร คือฟังเผินๆ มันเหมือนกับว่าเสรีภาพทางวิชาการก็คือคุณอยากรู้อะไร คุณก็รู้ได้ อยากถามอะไร คุณก็ถามได้ คุณจะอยากให้คนอื่นได้รู้บ้างยังไง คุณก็สามารถทำได้ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่รู้อะไร รู้อย่างไร คนอื่นรู้บ้างหรือไม่ ทั้งหมดเหล่านี้เรากำลังพูดถึงความรู้อยู่นั่นเอง

แต่ความรู้นั้นมันสัมพันธ์อยู่กับอำนาจของกลุ่มคนในสังคม ความรู้ชนิดหนึ่งมันให้อำนาจกับคนกลุ่มหนึ่ง ความรู้อีกชนิดหนึ่งให้อำนาจกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ในขณะเดียวกันมันมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีเกียรติยศเข้ามาเกี่ยวข้อง มีสถานะทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรู้ด้วย เพราะฉะนั้นความรู้หนึ่งๆ มันดำรงอยู่ในสังคมหนึ่งได้ไม่ใช่ตัวมันเองดำรงอยู่เฉยๆ มันมีกลไกอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ช่วยผดุงให้ความรู้นั้นดำรงอยู่ได้ อย่างที่เขาพูดกันว่าความรู้คืออำนาจเพราะมันไม่ใช่แค่อะไรคืออะไรเฉยๆ แต่มันมีระบบที่อยู่รอบความรู้ช่วยผดุงให้ความรู้เหล่านั้นให้อำนาจแก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นในทุกสังคมความรู้ไม่ใช่สิ่งที่เสรี ความรู้จะถูกกำกับควบคุมเสมอในทุกสังคมมากบ้างน้อยบ้าง ที่สำคัญที่สุดก็คือควบคุมโดยใครมากกว่า

ระบบความรู้เก่าในสังคมไทยกำลังพังทลาย

สำหรับในเมืองไทยปัจจุบัน ความรู้ที่ผดุงโครงสร้างอำนาจ ผลประโยชน์ และอื่นๆ อย่างที่พูดถึง ผมขอพูดอย่างสรุปว่ามันกำลังพังลง มันกำลังพังลงยังไง ไม่ต้องชู 3 นิ้วก็เห็นอยู่ชัดๆ ว่าอะไรที่คุณเคยเชื่อว่าเป็นความจริง มันถูกตั้งคำถามและถูกให้คำตอบที่มีเหตุมีผล มีหลักฐาน มีข้ออ้างอิงที่น่าเชื่อถือกว่าความรู้เดิมที่คุณเชื่อว่าจริงเคยให้เอาไว้ทั้งสิ้น และกระทบต่ออำนาจ ผลประโยชน์ เกียรติยศ และอื่นๆ ร้อยแปดที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง โดยสรุปก็คือมันไม่เหลือใครที่จะสามารถควบคุมระบบความรู้ที่มีอยู่ในสังคมได้

สมัยหนึ่งเราเชื่อว่าอธิการบดีจะสามารถควบคุมให้ระบบให้การเผยแพร่ความรู้ชนิดหนึ่งสามารถส่งผ่านให้แก่คนรุ่นหลังในมหาวิทยาลัยได้ ปัจจุบันถ้าอธิการบดีคนใดยังคิดอย่างนั้นอยู่ผมคิดว่าจะหูหนวกตาบอดอะไรขนาดนั้น คือเห็นอยู่ชัดๆ ว่าคุณไม่สามารถควบคุมความรู้หรือระบบความรู้ในสถาบันการศึกษาไว้ในมือคุณได้อีกแล้ว ยังไม่พูดถึงโรงเรียนมัธยมที่มันก็พังไปหมดแล้วเพราะไม่ว่าครู ครูใหญ่ หรือใครก็แล้วแต่กับนักเรียนเขาแสวงหาความรู้พวกนี้จากทางอื่นที่ไม่ใช่ผ่านทางโรงเรียนเพียงอย่างเดียว

ด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่าความรู้ที่เคยอยู่ในสังคม ที่เคยเป็นอยู่ในสังคมไทย มันจึงไม่มีคนควบคุม ไม่มีทางผดุงมันไว้ได้ ต้องอาศัยอำนาจรัฐและนั่นคือเหตุผลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ ต้องออกมาคุกคามอาจารย์มหาวิทยาลัยเพราะมันไม่มีทางเลือกอื่น เพราะทางเลือกอื่นก็คือคุณต้องเสนอความรู้เก่าที่มีเหตุผลและรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันได้ดีกว่าที่มันได้ผ่านมาแล้ว และจนถึงนาทีนี้ผมยังไม่เห็นคนทำ ไม่เห็นมีใครที่พยายามสร้างหรือสืบต่อความรู้เก่าโดยการปรับปรุงดัดแปลงให้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ เพราะฉะนั้นทางรอดทางเดียวของความรู้เก่าที่มีในสังคมไทยคือการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ คือทำให้เสรีภาพทางวิชาการเสื่อมถอย มันเป็นตรรกะที่หลีกหนีไปไหนไม่พ้น

ผมอยากจะยกตัวอย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกาบ้างที่เราคิดว่ามันมีเสรีภาพทางวิชาการเปี่ยมล้น เมื่อสมัยที่ผมเริ่มไปเรียนที่อเมริกาผมจำได้ว่ามีนักวิชาการคนหนึ่งเขียนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โจมตีหรือค่อนข้างวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ e.g. Hall หลายท่านก็คงทราบดีว่า e.g. Hall อยู่ลอนดอนก็จริงแต่ว่าเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนอย่างมากในการที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลนำเอาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ามาเผยแพร่ในหมู่นักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาระยะแรกๆ หนังสือของเขาไปวิจารณ์บรมครูของวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาว่าอย่างนั้นก็แล้วกัน ปรากฏว่าไม่มีคนพิมพ์ เหตุผลที่ไม่พิมพ์ก็เพราะว่าหนังสือตำราวิชาการก็ขายไม่ค่อยออกอยู่แล้ว จะขายออกได้ก็ต่อเมื่ออาจารย์ที่สอนวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แนะนำให้อ่านและถ้าเกิดอาจารย์ที่สอนล้วนเป็นลูกศิษย์โดยตรงหรือโดยอ้อมก็แล้วแต่ของ e.g. Hall หมดก็จะไม่มีใครแนะนำเลย เพราะฉะนั้นคุณพิมพ์ไปก็เจ๊งแหงๆ

ในที่สุดปรากฏว่าหนังสือเล่มนี้ถูกพิมพ์ครั้งแรกโดยมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ซึ่งเพิ่งเปิดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเป็นครั้งแรกในมหาวิทยาลัยและถ้าคุณเปิดวิชานี้เป็นครั้งแรกซึ่งเขาเปิดกันมาตั้งหลายแห่งแล้ว คุณต้องสร้างที่ยืนที่เด่นให้ตัวเองเพราะฉะนั้นทีมงานของนักวิชาการหน้าใหม่คนนี้ คุณมีที่ยืนที่แปลก ที่มีเสน่ห์ในตัวเอง โอกาสที่จะมีตลาดเล็กๆ เกิดขึ้น งานชิ้นนี้ที่ถูกพิมพ์ครั้งแรกมันพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดแล้วก็เอามาโรเนียวและเย็บเล่มมาขายกัน

ทั้งหมดนี้มันคือการไม่ได้ทำให้เสรีภาพทางวิชาการเกิดขึ้นได้เองโดยระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมมันก็ทำให้ตัวมันเองแพ้เพราะทุนนิยมอีกเหมือนกันที่มหาวิทยาลัยจะเปิดโปรแกรมใหม่ของตนเองเลือกเอามาใช้ เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าเสรีภาพทางวิชาการมันมีคนคุม แต่จะเป็นใครคุมและคุมอย่างไรที่แตกต่างกัน เรากำลังพูดถึงสังคมไทยซึ่งตัวระบบความรู้เดิมมันกำลังพังทลายลงต่อหน้าเราและมันไม่มีทางที่จะคุมได้ต่อไปอีกนอกจากใช้วิธีป่าเถื่อนรุนแรงเท่านั้น

ชนชั้นนำไทยในอดีตสร้างระบบความรู้ใหม่เพื่อรับความเปลี่ยนแปลงสำเร็จ

เพราะฉะนั้นในทุกสังคมอำนาจที่ดำรงอยู่ได้มันดำรงอยู่บนความรู้หรือระบบความรู้ชนิดหนึ่ง ในสังคมไทยมันก็มีระบบความรู้ผดุงอำนาจที่มีอยู่และเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมขึ้นมันก็มีการปรับเปลี่ยนความรู้ ลองนึกง่ายๆ แล้วกันว่าเมื่อศาสนาพุทธนิกายลังกาเข้ามาในประเทศไทยมันเป็นครั้งแรกที่คุณมีศาสนามวลชนเกิดขึ้น มันเป็นความเปลี่ยนแปลงมโหฬารมากเลยเมื่อตอนที่พระในพุทธศาสนาอยู่ในวัดที่วังสร้างไว้ให้ต้องคอยอยู่แถวนั้นและเป็นราชครูอย่างเดียว แต่กลายเป็นคนที่ออกไปสอนคนในต่างจังหวัด ชาวบ้าน ระบบความรู้ที่เคยผดุงศาสนาชั้นสูงทั้งหลายเหล่านี้ดำรงอยู่ไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนตัวระบบความรู้ใหม่เพื่อจะรองรับศาสนามวลชนซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และถ้าเราคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ผ่านมาในอดีตมีเยอะแยะไปหมด คุณทำการค้ามามหึมาแบบนั้นมันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเยอะแยะแต่ต้องเปลี่ยนตัวระบบความรู้ยังไง

โดยสรุปผมอยากจะพูดว่าชนชั้นนำไทยประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนความรู้เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงตลอดมาได้ค่อนข้างเก่งมากๆ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ามันมีความสืบเนื่องของระบบความรู้ในสังคมไทยข้างสูงมาก ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและแรงที่สุดและชนชั้นนำสามารถตอบสนองมาได้อย่างเก่งที่สุดก็คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ซึ่งผมขอเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความทันสมัย คงจำได้ว่าความทันสมัยนี้มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงไม่ใช่เฉพาะในเอเชีย แม้แต่ที่เกิดในยุโรปเองมันก็พังอะไรต่ออะไรมาเยอะแยะไปหมดและในสังคมยุโรปเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารเพราะความเปลี่ยนแปลงที่เราเรียกว่าความทันสมัยมันโผล่เข้าไปในยุโรป

เพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ว่าจริงๆ แล้วเมื่อตอนที่ความทันสมัยโผล่เข้ามาในเมืองไทย มันเป็นการกระทบกับความเปลี่ยนแปลงที่แรงมากๆ แต่พวกชนชั้นนำไทยสามารถจะปรับความรู้ของตัวเองหรือสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมารองรับความเปลี่ยนแปลงได้เก่งมากๆ และทำให้ผลกระทบของความทันสมัยที่มีต่อสังคมไทยไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

ผลกระทบที่น่าจะรุนแรงและผมขอพูดสั้นๆ เพียง 2 เรื่องคือคุณคิดถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของความทันสมัยที่ถูกนำมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ยังไงคุณก็ต้องมีรถไฟใช้ต้องสั่งปืนกลมาจากต่างประเทศมาให้ทหารใช้ กับอีกอันหนึ่งคือเหตุผลนิยม ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยในช่วงศตวรรษที่ 19 เก่งมากในการที่จะกลืน 2 อย่างนี้เข้ามาโดยเปลี่ยนตัวระบบความรู้พอสมควร แต่เปลี่ยนยังไงก็แล้วแต่ก็ไม่ทำให้ระบบความรู้ไปกระทบต่อโครงสร้างอำนาจ ผลประโยชน์ และอื่นๆ ในประเทศอย่างรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเอาไปเปรียบกับรัฐบาลอาณานิคมทั้งหมด

รัฐบาลอาณานิคมก็เหมือนรัฐบาลสยาม ยังไงคุณก็ต้องนำความทันสมัยเข้ามาด้วยเหตุใดก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลอาณานิคมนำความทันสมัยเข้ามามันทำลายตัวมันเอง มันเกิดระบบความรู้อีกชนิดหนึ่งที่ไม่สืบต่อกับระบบความรู้แบบเก่า ในชวากลุ่มคนที่เป็นเชื้อสายเจ้านายหรือชนชั้นปกครองเก่าที่เรียกในภาษาชวาว่า พวกระเด่น ตกมาถึงปลายศตวรรษที่ 19 กลายเป็นตัวตลกของคนที่เรียนหนังสือทั้งหลาย แล้วเรียกกลุ่มพวกนี้ว่าเป็นพวกกลุ่มระเด่นซึ่งเป็นกลุ่มที่เชยๆ ถ้าพูดมากมันก็อาจจะไปคล้ายกับบางประเทศก็ได้ที่น่าขำ น่าเยาะเย้ย นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ระบบความรู้ใหม่นำมาสู่ชนชั้นที่มีการศึกษาของชวาและอินโดนีเซียโดยรวม

ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเฉพาะกับประเทศอาณานิคมก็ได้ ความรู้ใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาในจีน ในญี่ปุ่น มันทำให้ตัวระบอบเก่าพังหรือเกือบพังไปเลย อย่างจีนเปลี่ยนไปเลยในปี 1910 ในกรณีของญี่ปุ่นถึงไม่เปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด แต่โดยเนื้อแท้แล้วคนที่ขึ้นมามีอำนาจเป็นชนชั้นรองระดับล่างลงไปแต่ไม่ใช่ล่างสุด ไม่ใช่กลุ่มชนชั้นนำเก่าอีกต่อไป เหล่านี้เป็นต้น ถ้าเปรียบเทียบอย่างนี้จะพบว่าชนชั้นนำไทยนี่เก่งที่สามารถรองรับระบบความรู้ใหม่ แล้วยังรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมไว้ได้พอสมควรไม่ใช่ได้หมดเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์

ความรู้เกี่ยวกับความเป็นไทย

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ชนชั้นนำไทยสามารถสร้างระบบความรู้ใหม่ขึ้นและผดุงความเปลี่ยนแปลงไว้ได้อย่างดีที่สุดผมอยากจะเรียกสั้นๆ ว่าคือความรู้เกี่ยวกับเรื่องความเป็นไทยกลายเป็นความรู้ที่ถูกจับจองโดยกลุ่มชนชั้นนำไปเลย พูดสั้นๆ ว่าความเป็นไทยกับความเป็นวังเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่วัด แต่เป็นวัง ถ้าย้อนกลับไปดูในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างที่งานเขียนของท่านไพศาล วิสาโลเขียน ศาสนาไม่ใช่ตัวนำ ไม่ใช่สิ่งสำคัญในการสร้างความเป็นไทยในสมัยนั้นแต่มาในภายหลังต่างหากที่เหมาเรื่องความเป็นไทยเข้ามาความเป็นไทยมันมีลักษณะสำคัญ 2 อย่างอันที่ 1 คือมีลักษณะเป็นสารัตถะนิยม (essentialism) มันเคยเป็นมายังไงก็เป็นมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงอนาคตต่อไปข้างหน้า ความเป็นไทยมันเป็นเหมือนออกซิเจนไม่มีวันเปลี่ยนตราบใดที่คุณเรียกมันว่าออกซิเจน มันจะเหมือนเก่าตลอดตั้งแต่ล้านๆ ปีมาแล้วและล้านๆ ปีต่อไปข้างหน้า ความเป็นไทยก็เหมือนกันมีลักษณะเป็น essentialism

อันที่ 2 ก็คือมันมีลักษณะที่เปรียบเทียบได้กับสิ่งที่เป็นในโลกสากล ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม สิ่งที่เป็นสาระสำคัญของความเป็นไทย มีเหตุมีผล มีประโยชน์ เหมือนกันกับที่คุณจะเทียบได้กับระบบคุณค่าที่เป็นสากลเหมือนกัน และผมขอนอกเรื่องนิดหนึ่งว่าปัจจุบันนี้คุณได้ยินสิ่งตรงกันข้ามกับเรื่องของความเป็นไทยเยอะคือพูดถึงความเป็นไทยว่าเป็น exceptionalism เราไม่เหมือนใครในโลกนี้ นั่นคือความเสื่อมนะครับ พลังของความเป็นไทยที่สร้างกันมาในสมัยรัชกาลที่ 5 คือความเป็นสากล แต่เป็นความเป็นสากลอีกรูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันนี้คุณกลับไปบอกว่าความเป็นไทยคือข้อยกเว้น อันนั้นแสดงให้เห็นว่าระบบความรู้ที่ถูกสร้างไว้มันไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงแล้ว และคุณยิ่งไปทำให้ตัวระบบความรู้นั้นเสื่อมความน่าเชื่อถือลง เสื่อมคุณค่าในตัวของมันเองลงไปเป็นอย่างยิ่ง

และในบรรดาสิ่งที่เรียกว่าความเป็นไทย ผมอยากจะพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์และไทยคดีศึกษา สมัยนั้นไม่ได้ใช้คำว่าไทยคดีศึกษา แต่ที่สำคัญผมอยากจะพูดโดยสรุปว่าหัวใจสำคัญของ 2 อย่างนี้มันถูกสร้างขึ้นอย่างแข็งแกร่งโดยคนที่เก่ง คุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ตาม กรมพระยานริศฯ ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเหล่านั้นเก่งมาก และไม่ใช่ตัวเขาเองอย่างเดียวรวมถึงเครือข่ายของเขาด้วย รวมถึงลูกศิษย์ของเขาด้วย คนอย่างหลวงประดิษฐไพเราะคุณจะชอบหรือไม่ชอบฟังเพลงไทยก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นศิลปินด้านดนตรีและเพลงที่ถือว่าระดับโลก ซึ่งลองมาคิดถึงในปัจจุบันว่าระบบความรู้แบบเก่าผลิตคนที่เก่งขนาดนี้ขึ้นมาในยุคปัจจุบันไหม คำตอบคือศูนย์ ไม่มี เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นเหตุใดก็แล้วแต่ ไม่มีเวลาจะพูดถึง แต่มันทำให้ตัวการสร้างระบบความรู้แบบใหม่เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดมาในวันข้างหน้ามันได้ระบบความรู้ที่เจ๋งมากๆ โดยคนที่เก่งมากๆ ด้วย

ชนชั้นนำไทยเหลือเพียงอำนาจดิบที่จะผดุงรักษาระบบความรู้เก่า

แต่ไม่มีอะไรถาวรในโลกนี้พอมาถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาระบบความรู้เหล่านี้ก็ไม่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ แล้วก็เกิด 2475 อันนี้ก็ขอนอกเรื่องอีกนิดหนึ่งด้วยว่าจริงๆ แล้วในช่วง 2475 ถึง 2490 ผมคิดว่ามีความพยายามของผู้นำคณะราษฎรในการสร้างระบบความรู้เกี่ยวกับความเป็นไทยใหม่ขึ้นมา แต่ไม่สำเร็จ

เหตุผลที่ไม่สำเร็จมีหลายอย่างด้วยกันหนึ่งในหลายๆ อย่างที่ไม่สำเร็จก็คือว่าคุณไม่มีคนที่มือถึงขนาดกรมพระยาดํารงฯ คุณเอาหลวงวิจิตรวาทการมาสร้างความเป็นไทยแบบใหม่ มือมันคนละชั้นกันที่จะสร้างให้มันมั่นคงแบบนั้นได้ ให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเช่นนั้นได้ เพราะฉะนั้นตัวระบบความรู้แบบเก่ามันเสื่อมลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึง 2500 จึงได้รื้อฟื้นกลับมาใหม่ เพราะจาก 2500 เป็นต้นมาคุณละทิ้งสิ่งที่มันเป็นมรดกของคณะราษฎรออกไปหมด ฉะนั้น คุณก็จำเป็นต้องรื้อฟื้นความเป็นไทยกลับมาใหม่แล้วก็ไม่รู้จะรื้อฟื้นอะไรก็ไปรื้อฟื้นความเป็นไทยแบบของรัชกาลที่ 5 กลับเข้ามาใช้ แต่มันไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยมากขึ้นไปอีก

เหตุดังนั้นผมจึงคิดว่าการเสื่อมถอยของเสรีภาพทางวิชาการที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับความเสื่อมถอยหรือการพังสลายของระบบความรู้ที่จะรองรับอำนาจและผลประโยชน์ต่างๆ ที่มันดำรงอยู่ในสังคมไทย คุณจะเห็นไม่เพียงแต่เฉพาะเสรีภาพทางวิชาการ แต่ผมคิดว่าคุณจะเห็นชะตากรรมของชนชั้นนำที่ต้องอาศัยแต่อำนาจดิบผ่านกฎหมาย ผ่านปืน ผ่านตำรวจควบคุมฝูงชน คุณต้องอาศัยอำนาจดิบในการผดุงรักษาโครงสร้างอำนาจไว้เพราะคุณไม่มีระบบความรู้รองรับมันเพียงพอ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net