Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เปิดลำดับเหตุการณ์ก่อน บริษัท บริลเลียนท์ฯ ปิดงานไม่บอกกล่าวล่วงหน้าทำ 1,300 คนงานตกงานกะทันหัน

16 มี.ค.2564 จากกรณีเมื่อวันที่  11 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ซอย 7 นิคมอุตสาหกรรมบางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ปิดงานไม่บอกกล่าวล่วงหน้า อ้างพิษเศรษฐกิจทรุด โควิดระบาด ทำให้คนงาน 1,300 คน ต้องตกงานกะทันหัน จนคนงานกลุ่มดังกล่าวออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมและการชดเชยนั้น

กลุ่มคนงานนี้ไม่ใช่ใคร หากแต่เป็นคนงานในกลุ่มที่ชื่อว่า 'สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย' ที่มีประวัติการต่อสู้เรียกร้องมาอย่างยาวนั้นตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2523 การต่อสู้เรียกร้องเหล่านี้ทำให้สภาพการจ้างที่นี้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนงานที่ออกมาร่วมต่อสู้ทั้งความเป็นธรรม สวัสดิการและประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง

เดิมคนงานเหล่านี้เป็นคนงานบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) ที่เคยทำการผลิตชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อดังอย่าง ไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO, HOM ภายหลังบริษัท บริลเลียนท์ ฯ มาเทคโอเวอร์เมื่อ 17 เดือนที่ผ่านมา โดยบริษัท บริลเลียนท์ฯ ได้ยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2562 

สำหรับลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อนถึงช่วงปิดงานนั้น สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ทำเอกสารอธิบายไว้ดังนี้

  • 22 มิ.ย.2563 สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท โดยเป็นการยื่นในนามพนักงาน การยื่นข้อเรียกร้องต้องขอมติจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีเนื่องจากสหภาพแรงงานไม่สามารถจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีได้ตามที่สหภาพกำหนดไว้สาเหตุจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 การเจรจาข้อเรียกร้องยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยนัดเจรจาครั้งถัดไปวันที่ 9 มี.ค. 2564 สวัสดิการและสิทธิประโยชน์เดิมที่บริษัทจะต้องจ่ายต่อพนักงานที่โอนย้ายการจ้างงานมาอยู่กับ บริษัท บริลเลียนท์  อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด  บริษัทได้มีการเจรจาขอเลื่อนการจ่าย ชุดยูนิฟอร์ม จากเดิมจ่ายเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 บริษัทได้เชิญกรรมการสหภาพประชุมขอเลื่อนจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2563  ครั้งที่ 2 ส่วนที่เหลือ (เงินบวก 7,200 บาท) สำหรับพนักงานรายเดือน รางวัลอายุการทำงานประจำปี พ.ศ. 2563 (ทอง) โดยการแบ่งจ่ายเหตุผลบริษัทขาดสภาพคล่อง มีการเจรจา 3 ครั้งและตกลงกันได้ (รายละเอียดเอกสารที่ 2,3)
  • 25 ม.ค.2564 บริษัทได้เชิญตัวแทนกรรมการสหภาพไปรับใบประกาศเรื่องการจ่ายค่าจ้างพนักงานรายเดือนงวดเดือนมกราคม (รายละเอียดเอกสารที่ 4) และขอเลื่อนจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2563  ครั้งที่ 2 ส่วนที่เหลือ (เงินบวก 7,200 บาท) (รายละเอียดเอกสารที่ 5) ของพนักงานรายเดือนออกไปย่างไม่มีกำหนด และเงินค่ารักษาพยาบาล (3,000 บาท) โดยการโอนเข้าบัญชีพนักงานงวดแรก 1,500 บาท ทั้งพนักงานรายวันและพนักงานรายเดือน สถานการณ์ภายในบริษัท วันที่ 28 ม.ค.2564 เวลา 14.00 น. กรรมการสหภาพ พนักงาน ฝ่ายบริหาร ได้ประชุมทางไกลผ่านวิดีโอคอล กับ นางสาวมัน ชี แองเจล่า เลา เจ้าของบริษัทจากประเทศฮ่องกง พูดถึงสถานการณ์บริษัท บริลเลียนท์  อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ในประเทศไทย เหตุการณ์ในบริษัท ได้โอนย้ายออร์เดอร์ยี่ห้อ Torid ทั้งหมดในประเทศไทย และแพ็ควัตถุดิบส่งประเทศ อินโดนีเซีย เวียตนาม ในกลุ่มบริษัท โคลเวอร์ กรุ๊ป  ปัจจุบันบริษัท บริลเลียนท์ฯ ในประเทศไทยจะมีงานทำถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากเดือนกุมภาพันธ์แล้วยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีงานให้พนักงานทำหรือไม่
  • 3 ก.พ. 2564 เวลา 15.35 น. บริษัท ได้เชิญกรรมการสหภาพรับฟังคำชี้แจงสถานการณ์บริษัท สจ๊วต จอร์จ แอนเดอร์สัน รองประธานบริษัท แจ้งว่าได้ลาออกจากผู้มีอำนาจในการเซ็นต์เอกสารต่างที่เกี่ยวกับบริษัท ยังคงเหลือแค่ตำแหน่งรองประธาน ฝ่ายบริหารบริษัทแจ้งว่ายังค้างจ่ายค่าจ้างรถรับส่งพนักงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2564  ฝ่ายบริหารบริษัท ในประเทศไทยยังใม่ได้รับความชัดเจนไม่มีข้อมูลจากเจ้าของบริษัทที่ฮ่องกง
  • 17 ก.พ.2564 สหภาพแรงงานได้ยื่นหนังสือถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ แจ้งถึงสถานการณ์ภายในบริษัท
  • 18 ก.พ.2564 เวลา 9.30 น. พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเจ้าหน้าที่รัฐได้เข้ามาประชุมร่วมกันกับบริษัท สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และผู้แทนพนักงาน
  • 3 มี.ค.2564 ฝ่ายบริหารบริษัท ได้เชิญสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และผู้แทนพนักงาน แจ้งเรื่องถ้าบริษัทจะไปต่อได้ต้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง CBA และช่วงนี้บริษัทไม่มีงานให้พนักงานผลิตจึงจะให้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2564 ถึง วันที่ 30 มิ.ย. 2564 โดยจ่ายค่าจ้าง 50%
  • 4 มี.ค. 2564 สหภาพแรงานได้แจ้งสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเจ้าหน้าที่รัฐได้เข้ามาที่บริษัทประชุมร่วมฝ่ายบริหารบริษัท สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ผู้แทนพนักงาน ซึ่งฝ่ายบริหารบริษัทได้แจ้งว่าจะมีเอกสารให้พนักงานทุกคนได้เซ็นต์ยินยอมหรือไม่ยินยอมเรื่องข้อเสนอบริษัทในการรับเงื่อนไขค่าจ้างใหม่วันละ 350 บาท ค่าอาหารวันละ 50 บาท เงินพิเศษ 1,000  บาท ในการทำงานตามเป้าหมายที่กำหนด ผลการเซ็นต์เอกสารที่บริษัทแจกให้พนักงานจำนวน 88% พนักงานไม่ยินยอมเนื่องจากเห็นว่าเป็นการลดสวัสดิการของพนักงานลงอย่างมากประกอบกับระหว่างนี้ยังอยู่ในระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องเจรจาต่อรองเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในนามพนักงานต่อบริษัทที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้โดยมีการนัดเจรจากับบริษัทครั้งถัดไปวันที่ 9 มีนาคม 2564
  • 5 มี.ค. 2564 บริษัทได้ประกาศผ่านเสียงตามสายให้พนักงานหยุดงาน 4 วัน คือวันที่ 6-8-9-10 มี.ค. 2564 โดยเป็นการหยุดพักผ่อนประจำปีของบริษัท โดยในระหว่างวันบริษัทได้มีการขนสินค้า วัตถุดิบใส่รถออกจากบริษัทจำนวน 6 คันรถบรรทุก ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีการขนออกเป็นระยะ ก่อนที่จะหยุดงานจึงไม่มีวัตถุดิบที่จะผลิตเหลืออยู่ในบริษัท ในความเห็น บริษัทได้เคยแจ้งต่อสหภาพแรงงานว่า ไม่ปฏิเสธว่าไม่มีงานให้พนักงานผลิตแต่มีการอ้างว่าไม่มีออร์เดอร์ซึ่งสหภาพแรงงานเห็นว่าย้อนแย้งกัน และตั้งแต่เปลี่ยนบริษัทมาเป็นบริษัท บริลเลียนท์  อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด จะมีออดิเตอร์มาตรวจในโรงงานอย่างต่อเนื่องและผ่านการประเมินมาตลอด
  • 6 มี.ค.2564 เป็นวันแรกที่บริษัทประกาศให้พนักงานหยุดงาน ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2564 รวม 4 วัน
  • 10 มี.ค.2564 เวลาประมาณ 15.00 น. บริษัทได้ปิดประกาศที่หน้าบริษัท เรื่องปิดกิจการของบริษัท

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net