Skip to main content
sharethis

เริ่มงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 หวังเป็นต้นแบบการประชุมระดับประเทศในยุค New Normal ที่ประชุมถก 2 ระเบียบวาระ ‘ความมั่นคงทางอาหาร-จัดการโรคระบาดใหญ่” เดินหน้าสร้างนโยบายสาธารณะฯ กรุยทางสู่การทำข้อเสนอเพื่อรับมือวิกฤตการณ์อนาคต

16 ธ.ค.2563 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า สช. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 ณ หอประชุมใหญ่ สำนักงาน TOT ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ภายใต้ประเด็นหลัก (ธีม) “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” ซึ่งนับเป็นการพลิกโฉมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และเป็นตัวอย่างการจัดงานประชุมระดับชาติท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่าสองพันคนทั้งในงานและประชุมผ่านระบบออนไลน์เชื่อมทุกจังหวัด

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เป็นการจัดงานประชุมระดับชาติภายใต้วิถีใหม่หรือ New Normal ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้และการปรับตัวร่วมกัน โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาสนับสนุนการประชุมควบคู่ไปกับการประชุมแบบพบปะกัน หรือที่เรียกว่าการประชุมแบบผสมผสานทั้ง Online และ On-site

“ปีนี้ มีสองร่างระเบียบวาระที่เข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 16-17 ธันวาคมนี้ ได้แก่ 1. ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต 2. การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นการสร้างนโยบายสาธารณะจากฐานรากที่จะมุ่งไปสู่การจัดทำข้อเสนอต่างๆ เพื่อรับมือวิฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน” อนุทิน กล่าว

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ. 2563-2564 กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มองเห็นความเปราะบางของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พบการเกิด “วิกฤตซ้อนวิกฤต” อย่างชัดเจน ดังนั้นเพื่อที่จะอุดช่องว่างดังกล่าว คจ.สช.จึงประกาศระเบียบวาระที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาใน 2 ระเบียบวาระ

1. ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อคนไทยและคนทุกประเทศทั่วโลก เห็นได้จากมาตรการปิดเมือง ระงับการเดินทางหรือกิจกรรมทางสังคม อันนำไปสู่การขาดรายได้ เศรษฐกิจชะงักงัน เกิดปัญหาคนตกงานและว่างงาน จนทำให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงอาหาร ซึ่งถึงแม้ว่าประเทศไทยจะตั้งรับโรคระบาดครั้งนี้ได้ดี แต่ก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับกับวิกฤตในอนาคต ทั้งมิติของการซื้อขาย มิติการผลิต มิติการเก็บหาจากฐานทรัพยากร มิติการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน และมิติด้านนโยบายรัฐ ตลอดจนการกระจายอาหารให้ครอบคลุมทั้งระบบ

2. การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกรณีโรคระบาดใหญ่ โดยสามารถถอดบทเรียนได้จากทั่วโลก ซึ่งพบว่าทันทีที่เกิดโรคระบาดใหญ่ สังคมจะเกิดความสับสนอลหม่าน ประชาชนตื่นตระหนก มีการกักตุนสินค้า วัสดุอุปกรณ์เพื่อป้องกันมีไม่เพียงพอ อุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน สถานพยาบาลไม่พร้อม ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ข่าวปลอมกระจายตัวอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า มาตรการป้องกันโรคที่เข้มข้นยังได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องในวงกว้าง คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด มีการตีตราทางสังคมที่นำไปสู่การปกปิดอาการและการติดเชื้อและเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นที่จะต้องสร้างนโยบายสาธารณะฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางการรับมืออย่างเป็นระบบต่อไป

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคการเมือง จะร่วมกันพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ที่ใช้สำหรับแก้ไขปัญหาในระเบียบวาระนั้นๆ โดยข้อเสนอเหล่านั้นจะเป็นลักษณะอำนาจอ่อนคือการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ

“เมื่อสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ เห็นพ้องร่วมกันหรือมีฉันทมติร่วมกันในข้อเสนอต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะนำข้อเสนอเหล่านั้นหรือที่เรียกกันว่ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า ข้อเสนอต่างๆ ที่นำเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ทั้งสองระเบียบวาระนั้น ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจากผู้แทนภาคส่วนต่างๆ มาเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม จึงมีความครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ และในกระบวนการการพิจารณาในสมัชชาสุขภาพฯ ก็มีผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมให้ความเห็น ข้อเสนอหรือมติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ได้จึงนับเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญของการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับภาวะวิกฤตสุขภาพใหม่ที่มีอยู่แล้วหรืออาจเกิดขึ้นมาใหม่ได้อย่างทันท่วงที

สำหรับงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นไปตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้ คสช.ต้องจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ขึ้นปีละ 1 ครั้ง เพื่อแสวงหาฉันทมติในการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม อนึ่ง นับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นปีแรกของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาจนถึงปี 2562 ประเทศไทยมีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาแล้ว 12 ครั้ง มีมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้งสิ้น 85 มติ ทุกมติมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดนโยบายและกฎหมายด้านสุขภาพใหม่ๆ ที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน และนำไปสู่การสร้างสุขภาวะทั้งในระดับสังคม ชุมชน ครอบครัว และปัจเจกบุคคล ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.samatcha.org และเฟซบุ๊กเพจ สช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net