Skip to main content
sharethis

452 นักกฎหมาย ออกแถลงการณ์ของนักกฎหมายต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ และการใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ขอให้เพิกถอนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนสามารถ ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองได้โดยสงบ ปราศจากอาวุธ

18 ต.ค. 2563 นักกฎหมาย 452 รายชื่อ ออกแถลงการณ์ของนักกฎหมายต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ และการใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ระบุว่าตามที่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้เข้าร่วมชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองและยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ประเทศเป็นอารยะมากขึ้น และรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กรุงเทพมหานครภายหลังการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความ ร้ายแรงฯ ดังกล่าวรัฐบาลออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และข้อห้ามอื่น ๆ อีกหลายประการ ส่งผลให้เมื่อมีการชุมนุมอีกในคืนวันที่ 16 ต.ค. 2563 เจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนทำให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย และถูกจับกุมจำนวนมาก

บุคคลผู้มีรายนามข้าง ท้ายนี้มีความเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลในกรณีดังกล่าวขาดความชอบธรรมและไม่ถูกต้องตามหลักรัฐธรรมนูญ และ หลักกฎหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ จนกระทั่งการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม

จึงขอแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1. ถึงแม้ว่าระบบกฎหมายจะยอมให้รัฐสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญได้เมื่อ เผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นสภาวะวิกฤติหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและ ทันท่วงที แต่ก็มิได้หมายความว่าระบบกฎหมายจะอนุญาตให้รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามอำเภอใจ หรืออนุญาต ให้ขยายเหตุที่ไม่มีความร้ายแรงเพียงพอให้ใหญ่โตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการได้มาซึ่งอำนาจตามกฎหมายว่าด้วย สถานการณ์ฉุกเฉิน จนทำให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกลายเป็น “รัฐประหารจำแลง”

การประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งนั้น ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งได้รับ การรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ มาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงกำหนดเงื่อนไขของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงว่า จะต้องเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมี เหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคลเท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริง ทั้งที่ปรากฏในสื่อไทยและสื่อต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าการชุมนุมใหญ่ของประชาชน เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงย่ำรุ่งของวันถัดมาเป็นการชุมนุมและแสดงออกตามวิถีทางแห่งระบอบ ประชาธิปไตยโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการประทุษร้ายใด ๆ ต่อบุคคลและทรัพย์สินที่ถึงระดับ กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ คงมีเพียงการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมและผู้ที่เห็นต่างบ้างซึ่งยังสามารถ ดำเนินการตามกฎหมายปกติได้ หากรัฐบาลเห็นว่าผู้ชุมนุมคนหนึ่งคนใดกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วย การชุมนุมสาธารณะ ก็สามารถบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะและกฎหมายอื่นได้อยู่แล้ว เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมของประชาชนเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เข้าเงื่อนไขตามที่มาตรา 11 ของพระราชกำหนด ว่าด้วยการบริหารราชการฉุกเฉินฯ บัญญัติไว้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าวโดยรัฐบาล ซึ่งอ้างเหตุผลหลายเรื่องผสมปนเปกัน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำของรัฐบาล ในกรณีนี้ยังสุ่มเสี่ยงที่จะถูกนานาอารยประเทศมองว่าเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่ ต่างประเทศมีต่อประเทศไทย และจะยิ่งซ้ำเติมสภาวะทางเศรษฐกิจให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม ซึ่งผลกระทบสุดท้าย ย่อมตกแก่ประชาชนคนสามัญ

2. แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลในการให้เหตุผล หรือเชื่อมโยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง กับเหตุการณ์รถพระที่นั่งของพระราชินีเคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม แต่กรณีย่อมเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามขยายเหตุการณ์ ดังกล่าวไปในทางที่เป็นผลร้ายเกินกว่าที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงมาก ถึงขนาดมีการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมบางคนในฐาน ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีตามมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และแจ้งข้อหานี้เพิ่มเติมกับผู้ชุมนุม ในบริเวณดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ด้วย

มาตรา 110 เป็นกฎหมายอาญาที่มีโทษรุนแรงมากถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต ฉะนั้น การตั้งข้อหานี้กับบุคคลใด เจ้าหน้าที่รัฐต้องระมัดระวังมิให้มีลักษณะของการตีความตัวบทแบบขยายความจนพ้น ความหมายตามธรรมดาของถ้อยคำ มิฉะนั้นจะกลายเป็นการใช้และการตีความกฎหมายตามอำเภอใจซึ่งถือเป็นการ บิดเบือนกฎหมาย และอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่าเป็นการตั้งข้อหาในลักษณะของการบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อรับใช้ วัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ที่ถูกต้องแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องคำนึงว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น ครบองค์ประกอบความผิด และมีพยานหลักฐานประจักษ์ชัดตามสมควรว่าผู้นั้นหรือกลุ่มคนเหล่านั้นมีเจตนาประทุษร้าย หรือก่อความรุนแรงใด ๆ ต่อเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตราดังกล่าวหรือไม่

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏต่อสาธารณชน ย่อมมีเหตุควรเชื่อได้ว่าการที่รถพระที่นั่งฯ ขับฝ่าเข้า ไปในเส้นทางที่ประชาชนกำลังชุมนุมในพื้นที่อยู่ก่อนนั้น อาจเกิดขึ้นจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการประสานงาน เกี่ยวกับเส้นทางเสด็จของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งผู้ชุมนุมล่วงหน้าถึงเส้นทางรถพระที่นั่งฯ ดังกล่าวด้วย จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อรถพระที่นั่งฯ เคลื่อนผ่านผู้ชุมนุมจะเกิดความไม่สะดวกบ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามี การขัดขวางใดๆ จากผู้ชุมนุม และสุดท้ายขบวนรถก็สามารถเคลื่อนผ่านไปได้ แม้ผู้ชุมนุมจะแสดงสัญลักษณ์ของการชุมนุม และร่วมกันส่งเสียงแสดงความคิดเห็นบางอย่างออกไป ก็หาใช่การประทุษร้ายและการพยายามประทุษร้ายต่อเสรีภาพของ พระราชินีตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 แต่อย่างใดไม่

การที่รัฐด่วนกล่าวอ้างและตั้งข้อหา ร้ายแรงนี้กับผู้ชุมนุมในบริเวณนั้น จึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และไม่อาจยอมรับได้ และยิ่งไม่อาจยอมรับได้มากขึ้นอีกเมื่อรัฐบาล อ้างเหตุดังกล่าวเป็นเหตุผลหนึ่งในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อให้ตนมีอำนาจจำกัดลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของผู้ชุมนุมโดยอาศัยกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะไม่ต้องการให้มีการชุมนุม ของประชาชนอีกต่อไป เพื่อรักษาสถานะที่เป็นอยู่ (status quo) ของตนเอาไว้ให้จงได้

3. เมื่อปรากฏว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วย รัฐธรรมนูญและกฎหมายเสียแล้ว การที่รัฐบาลออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ห้ามมิให้มีการชุมนุม จึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วย รัฐธรรมนูญและกฎหมายตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ข้อกำหนดเหล่านั้นจึงไม่อาจเป็นฐานแห่งการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ในการสลายการชุมนุมได้ และต้องถือว่าผู้ชุมนุมยังคงมีสิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอยู่เช่นเดิม หากจะมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งส่วนใดกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะฯ รัฐก็ต้องไปดำเนินการกับบุคคลในส่วนนั้นต่างหาก โดยต้องตระหนักถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ชุมนุมด้วยเสมอ

ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังสลายการชุมนุม เมื่อค่ำวันที่ 16 ต.ค. 2563 บริเวณแยกปทุมวันและสถานที่ใกล้เคียง ทั้งที่ไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมกระทำการใดที่ละเมิด กฎหมายอย่างร้ายแรง อีกทั้งผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นเยาวชนที่เพียงต้องการแสดงความคับข้องใจต่อสถานการณ์ ทางการเมืองและระบบกฎหมายในปัจจุบัน จึงนอกจากจะเป็นการเกินสมควรกว่าเหตุ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและ กฎหมายแล้ว ยังละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกด้วย

โดยอาศัยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ผู้มีรายนามในแถลงการณ์นี้จึงขอเรียกร้องให้

1) ปล่อยตัวผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ทันที โดยไม่มี เงื่อนไขการปล่อยตัว  

2) ถอนข้อกล่าวหาฐานประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ

3) เพิกถอนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนสามารถ ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองได้โดยสงบ ปราศจากอาวุธ อันเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคุ้มครอง และ เป็นหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

(ดูรายชื่อผู้ร่วมลงชื่อได้ ตามไฟล์แนบ)


 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net