Skip to main content
sharethis

อนุ กมธ.พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย สรุปการแก้ไขวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และทำประชามติหลังผ่านวาระ 3 ส.ว. ยังไม่เห็นด้วย เตรียมทำสรุปส่ง กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ 14 ต.ค. 2563

สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า 9 ต.ค. 2563 นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา และโฆษกอนุกรรมาธิการพิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ก่อนรับหลักการของรัฐสภา (กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ) กล่าวถึงข้อสรุปของอนุ กมธ. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อนุ กมธ. ส่วนใหญ่ ที่เป็น ส.ส. และนักวิชาการ ได้ข้อสรุปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นไปตามกระบวนการ มาตรา 256 แต่มีเสียงส่วนน้อยที่เป็น ส.ว. เห็นว่ายังขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

นิกร กล่าวว่า กมธ. เสียงส่วนใหญ่สรุปเกี่ยวกับการจัดออกเสียงประชามติว่า การทำประชามติให้ทำหลังผ่านการแก้ไขในวาระที่ 3 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ตามกระบวนการในมาตรา 256 วรรค 8 แต่เสียงส่วนน้อยที่เป็น ส.ว. เห็นว่า ควรทำประชามติ 2 ครั้ง โดยทำก่อนรับหลักการ และก่อนที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ

โฆษกอนุ กมธ. กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเห็นแย้งกับ ส.ว. เรื่องการทำประชามติ เพราะการจัดทำประชามติก่อนพิจารณารับหลักการนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการขอจัดทำประชามติ และไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำประชามติรองรับ การจัดทำประชามติเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติ ต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน ซึ่ง กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ มีเวลาพิจารณาเพียง 30 วันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นิกรกล่าวว่า อนุ กมธ. จะนำความเห็นทั้งหมดเสนอต่อ กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ส่วนข้อกังวลเรื่องการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับรูปแบบรัฐ และพระมหากษัตริย์นั้น กมธ. จะหารือกันอีกครั้งว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีกรณีที่กระทบต่อพระราชอำนาจ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

โฆษกอนุ กมธ. ย้ำว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้สามารถจัดทำประชามติได้ และที่ผ่านมามีนักกฎหมายและนักวิชาการจากหลายภาคส่วนร่วมแสดงความเห็นว่าสามารถทำได้ ส่วนที่ ส.ว. ยังเห็นต่างจาก ส.ส. และนักวิชาการ ต้องรอ กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ สรุปจากข้อสรุปที่อนุ กมธ. เตรียมเสนอในวันที่ 14 ต.ค. นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net