Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมจัดวงเสวนาประเด็นผลกระทบของชุมชนจาก พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ. ป่าชุมชน ชี้ หลักการดี แต่ขั้นตอนปฏิบัติยังเอื้อให้ยึดที่ดินประชาชนได้อยู่ รายการไม้ป่าห้ามใช้-จำกัดเวลาประมง 20 ปี ไม่สอดคล้องวิถีชาวบ้าน แนะ ให้ฟังเสียงประชาชน ส่งเรื่องเข้าสภา

ภาพบรรยากาศในงาน 

17 ธ.ค. 2562 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมมูลนิธิอันดามัน จ.ตรัง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งเอเชียแปซิฟิค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง จัดเวทีกฎหมายป่าไม้ฉบับใหม่กับผลกระทบต่อชุมชน โดยมีการวิพากษ์ถึงข้อดีข้อเสียของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 และนำเสนอแนวทางการดำเนินการเพื่อให้มีการรับรองสิทธิชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 60 คน

วิโรจน์ ติปิน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ในเชิงหลักการนั้นพอรับได้ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เปิดโอกาสให้เปลี่ยนสถานะจากผู้บุกรุกเป็นผู้ที่อยู่อาศัย จากเดิมกฎหมายมองไม่เห็นชาวบ้าน แต่กรมอุทยานยอมรับแล้วว่ามีคนอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ประมาณ 3,000 กว่าชุมชน พื้นที่รวมกัน 5 ล้านกว่าไร่ แต่ในระดับปฏิบัติการต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ส่วน พ.ร.บ.ป่าชุมชน เปิดโอกาสประมาณร้อยละ 50 ให้ประชาชนขอจัดตั้งป่าชุมชนเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่าอนุรักษ์เท่านั้น ใครที่อยู่ป่าสงวนจะได้สิทธิส่วนนี้

วิโรจน์กล่าวว่า ในขั้นตอนการดำเนินการของ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จะมีการสำรวจที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ทำกิน อยู่อาศัย และพื้นที่ป่าที่ประชาชนใช้ประโยชน์ เรียกว่าพื้นที่ที่ประชาชนเก็บหาทรัพยากรที่เกิดขึ้นและทดแทนได้ แต่กระนั้น กระบวนการทำงานยังเป็นอุปสรรคเนื่องจากอำนาจยังเป็นของอธิบดี วิธีการสำรวจยังใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 มิ.ย. 2541 แต่ประชาชนจะยังถูกยึดที่ดินคืนไปส่วนหนึ่ง เชื่อมโยงกับมติของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ที่รับรองคู่มือการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ กลายเป็นว่าเครื่องมือนี้ออกมาแย้งกับกฎหมายใหม่ ซึ่งบอกว่าให้สำรวจทุกแปลง แล้วค่อยไปเจรจาเรื่องความลาดชัน พื้นที่ที่ไม่ได้สำรวจจะถูกตีความว่าเป็นพื้นที่ป่าที่ไม่มีคนใช้ประโยชน์ นำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายในบทลงโทษที่จะจับกุมประชาชน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัส ส่วน พ.ร.บ.ป่าชุมชนจะมีการออกอนุบัญญัติ ประมาณ 31 เรื่อง บางเรื่องมีปัญหา บางเรื่องเป็นเรื่องที่ดี 

ด้านประยงค์ ดอกลำใย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่ารับ พ.ร.บ. 3 ฉบับนี้ไม่ได้เลย เราตั้งธงว่าชาวบ้านจะต้องได้รับการรับรองสิทธิให้อยู่อาศัยทำกินและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน สิ่งที่ทำให้เกิดความยั่งยืนคือการรับรองสิทธิให้ชุมชนบริหารจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ป่าชุมชน เราตั้งธงว่าชุมชนไหนก็ตามที่สามารถจัดการดูแลรักษาป่าได้อย่างยั่งยืน อยู่มาเป็น 100 ปี ป่าก็ยังสมบูรณ์อยู่สามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้หมด ไม่เกี่ยวกับว่าอยู่ในเขตพื้นที่อะไร

“พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เรื่องสำรวจการถือครองที่ดิน หลักเกณฑ์ต้องทำประโยชน์ต่อเนื่อง พี่น้องที่ทำป่ายางพารา มีอาสินหลายชนิด ต้นไม้ไม่ได้เป็นแถว พอดูภาพถ่ายทางอากาศมันเป็นป่า ก็จะบอกว่าไม่มีร่องรอยทำประโยชน์ในพื้นที่ ไม่ได้รับการพิจารณา พื้นที่คดีแห้ง ที่เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความ ยังจับคนไม่ได้ ถ้าพี่น้องเอาที่ดินแปลงนั้นไปแจ้งพิกัดก็จะเจอตัวผู้กระทำผิด นอกจากไม่ได้ที่ดินแล้วก็ถูกดำเนินคดีทันที อันนี้อันตราย เรื่องพื้นที่ที่อาจจะอนุญาตให้เก็บหาของป่า ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องที่เก็บหาของป่า และพี่น้องประมงพื้นบ้าน กรณีทะเลถือว่าสัตว์น้ำเป็นของป่า มีการกำหนดว่าชาวประมงไปจับปลาในอุทยานทางทะเลชนิดไหน ตรงไหน เดือนไหนได้ อนุญาตให้ 20 ปี ไม่มีการต่ออายุ พูดง่าย ๆ ว่าอีก 20 ปี พี่น้องไม่มีสิทธิไปจับปลาแล้ว ถ้าไปจับผิดกฎหมาย ถ้าอยากเป็นชาวประมงก็ต้องไปเลี้ยงปลากะชัง ขุดสระเลี้ยงปลา”

ประยงค์กล่าวอีกว่าในส่วน พ.ร.บ. ป่าชุมชนนั้นสามารถทำป่าชุมชนได้แค่ 8 ล้านไร่ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม จากป่าสงวนทั้งหมด 48 ล้านไร่ ส่วนป่าอนุรักษ์ 80 ล้านไร่นั้นห้ามจัดตั้งป่าชุมชน ป่าชายเลนก็จัดตั้งป่าชุมชนไม่ได้ เพราะมี มติ ครม. กำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ พื้นที่ป่าชุมชนที่อนุญาตให้จัดตั้งได้ใช้ประโยชน์ได้แค่ร้อยละ 25 ของพื้นที่ และกำลังออกกฎกระทรวงห้ามใช้ไม้ 150 ชนิด ไม้ไผ่ก็ห้ามใช้ ในขณะที่ป่าชุมชนบางแห่งมีไม้อยู่แค่ 30 ชนิด

ดังนั้น ต้องผลักดันให้มีการทบทวน พ.ร.บ. 3 ฉบับ พ.ร.บ.อุทยาน มาตรา 64 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตรา 121 ต้องแก้ไขจากการอนุญาตอย่างจำกัดเป็นการรับรองสิทธิ พ.ร.บ. อุทยาน มาตรา 65 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตรา 57 ต้องแก้เป็นการคุ้มครองพื้นที่ป่าชุมชน รวมถึงพื้นที่ทำประมง มิใช่จำกัดอายุแค่ 20 ปี รวมถึงต้องทบทวนมติ ครม. 26 พ.ย. 2561 ต้องสร้างเครือข่ายให้มากขึ้น ตอนนี้มีสภาผู้แทนราษฎร มีกรรมาธิการซึ่งมีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล อาจใช้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายสู้กันอีกครั้งหนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่เราต้องทำในระยะยาว

ภาพบรรยากาศในงาน

กันยา ปันกิติ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดกล่าวว่า กฎหมายฉบับใหม่และมติ ครม. 26 พ.ย. 2561 ทำให้เกิดปัญหาในชุมชนมากมาย เป้าหมายของการสำรวจการถือครองที่ดินน่าจะเป็นเรื่องการยึดที่ดินชาวบ้าน แปลงที่ถูกคดีเขาไม่สำรวจให้ กรณีเปลี่ยนมือที่ดิน ตัดโค่นยางพาราเพื่อปลูกใหม่ หลัง พ.ศ.2557 จะถูกยึดที่ดิน ในส่วนผลของการสำรวจก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่ดินของเธอซึ่งไม่เคยสำรวจตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 ผลการสำรวจอยู่ในประเภทที่ 2 ในประเภทอยู่หลังปี 2545 ไม่ได้ทำกินมาต่อเนื่อง อาสินไม่เต็มพื้นที่ ทั้งที่มีหลักฐานว่าได้รับทุนจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเมื่อ พ.ศ.2530 มีหลักการการเสียภาษี ภบท.5 พ.ศ. 2537 มีอาสินเก่าแก่ในพื้นที่และมีพยานบุคคล เจ้าหน้าที่บอกว่าดูจากภาพถ่ายทางอากาศแล้วเป็นป่า ถ้าอยู่ในประเภทนี้จะต้องดูว่าเป็นคนยากจนยากไร้หรือไม่ ถ้าใช่จะให้ผู้ใหญ่บ้าน อบต. รับรอง ซึ่งเธอเข้าเกณฑ์คนยากไร้และได้รับการรับรอง แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่เข้าเกณฑ์และผู้นำไม่รับรองก็จะต้องสูญเสียที่ดิน

ด้านอะเหร็น พระคง ประธานชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรังกล่าวว่า เรื่องการหาของป่า ไม่ว่าจะเป็นกุ้งหอยปูปลานั้นเขาให้หาได้ 20 ปี ในขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีรายได้จากทางอื่น ไม่มีที่ดินทำกิน ที่ จ.ตรังมีอุทยานทางทะเล 3 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 1 แห่ง ในพื้นที่ 119 กิโลเมตร แล้วชาวประมงพื้นบ้านจะทำประมงตรงไหน ชาวประมงหลายจังหวัดจะเดือดร้อนมากเลย จึงต้องแก้กฎหมายและต้องฟังประชาชน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net