Skip to main content
sharethis

ไบโอไทย โพสต์โต้แย้ง หม่อมหลวงณัฎฐกรณ์ 5 ประเด็น หลังวิพากษ์วิจารณ์การรณรงค์ให้มีการแบนสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ผ่าน รายการ The Daily Dose

27 ก.ย. 2562 จากกรณี หม่อมหลวงณัฎฐกรณ์ เทวกุล หรือ ปลื้ม วิพากษ์วิจารณ์องค์กรภาคประชาสังคมที่กำลังรณรงค์ให้มีการแบนสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงหลายประเด็น ผ่านทาง รายการ The Daily Dose ช่อง Voice TV นั้น 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BIOTHAI) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการแบนสารพิษอย่าง พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โพสต์ประเด็นโต้แย้ง หม่อมหลวงณัฎฐกรณ์ 5 ประเด็น ดังนี้

เราอยากใช้โอกาสนี้ในการถกเถียงประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมานี้ เพื่อให้มุมมองและวิธีคิดของเราต่อผู้ดำเนินรายการดังกล่าว และชักชวนให้ประชาชนและผู้สนใจร่วมกันถกเถียง เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้

1. ผู้จัดรายการเริ่มต้นรายการพูดถึงการเรียกร้องให้แบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยพยายามสื่อสารว่าสารกำจัดศัตรูพืช (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า pesticide )ซึ่งเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ นั้นไม่ใช่ “สารพิษ” จึงไม่ควรเรียกมันว่าเป็น “สารพิษกำจัดศัตรูพืช” แต่มันเป็น "ยาปราบศัตรูพืช” ซึ่งเราไม่เห็นด้วย

ในความเห็นของเรา รวมทั้งเอกสารทางการที่ใช้เรียก "สารเคมีกำจัดศัตรูพืช" นั้น สารประเภทนี้ไม่ใช่ "ยา" แน่ๆ แต่เป็น "สารพิษ" “วัตถุมีพิษ” หรือ “วัตถุอันตราย” ตัวอย่างเช่น

- ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย กำหนดให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นหนึ่งในกลุ่ม "วัตถุอันตราย" ซึ่งต้องมีการควบคุมตามกฎหมาย

- หน่วยงานเก่าแก่ของรัฐภายใต้กรมวิชาการเกษตรที่ทำหน้าที่วิจัยเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่รู้จักกันทั่วไปในแวดวงเกษตร คือ “กองวัตถุมีพิษ”

- และในและประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2560 เขาเรียกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในอาหาร (pesticide residue) ว่า "สารพิษตกค้าง"

การเรียกขานชื่อสารพิษเสียใหม่ให้ดูดี ปิดบังคุณสมบัติพิษของมัน เป็นวาทกรรมรูปแบบหนึ่งที่บรรษัทเคมีเกษตรพยายามทำให้สารพิษเหล่านี้กลายเป็นสินค้าทั่วไปซึ่งมันไม่ใช่ ดังที่พวกเขาพยายามเลี่ยงใช้คำเรียกสารกำจัดศัตรูพืชเป็น "ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช" เป็นต้น ใครจะเรียกสารพิษพวกนี้ว่า “ยาปราบศัตรูพืช” หรือชื่ออื่นก็เรียกไป แต่เราไม่เรียก และเชิญชวนให้ประชาชนเรียกมันว่า "สารพิษกำจัดศัตรูพืช" เพื่อสื่อสารว่ามันเป็นสารพิษและเป็นอันตราย และหากมันมีพิษและเสี่ยงสูงเกินกว่าจะใช้อย่างปลอดภัยก็ขอให้แบนมันเสีย

2. ผู้ดำเนินรายการสื่อสารถึงองค์กรภาคประชาสังคมที่รณรงค์เรื่องแบนสารพิษว่า “ กรุณาอย่าหลอกลวงประชาชน โดยอ้างว่าสหรัฐอเมริกา หรือจีนเลิกใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืชแล้ว” เสมือนกับว่า 1) ข้อเสนอของเราเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด และ 2) เราให้ข้อมูลหลอกลวงประชาชนว่าประเทศทั้งสองได้ยกเลิกสารพวกนี้แล้วทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้พูด

ข้อเสนอของเราที่เข้าใจว่าประชาชนและสื่อมวลชนแทบทั้งหมดเข้าใจตรงกันคือ เรารณรงค์ให้ “ยกเลิกสารพิษ 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” ไม่ได้เรียกร้องให้ยกเลิกสารพิษทั้งหมด และไม่เคยสื่อสารว่าประเทศจีนและสหรัฐเลิกใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืชหมดแล้ว ไม่รู้ผู้ดำเนินการเข้าใจแบบนั้นได้อย่างไร ?

เราตระหนักดีว่า ภายใต้ทิศทางการเกษตรกรรมกระแสหลักที่มุ่งผลิตพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนอุตสาหกรรมและส่งออกวัตถุดิบราคาถูกนั้น หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ยาก เข้าใจข้อจำกัดของเกษตรกรและความพร้อมของประเทศ เราจึงไม่ได้เสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด แน่นอนว่า เราและหลายองค์กรมีความฝัน และมีความหวังว่าระบบเกษตรกรรมที่ไม่ใช่สารพิษกำจัดศัตรูพืชนั้นเกิดขึ้นได้จริงในประเทศนี้ แต่นั่นหมายถึงเกษตรกร ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย กำกับนโยบายต้องเข้าใจและเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ จากน้อยไปสู่มาก

3.ผู้ดำเนินรายการเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐอย่าสนับสนุนหรือคล้อยตามวาระขององค์กรภาคประชาสังคม

ขอเรียนว่า ข้อเสนอการแบนสารพิษร้ายแรง 3 ชนิดไม่ได้มาจากไบโอไทย ไทยแพน หรือ 686 องค์กร แต่เป็นมติของกระทรวงสาธารณสุข และ 4 กระทรวงหลัก ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว และข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจาก สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเภสัชกรรม แพทยสภา สภาวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 3 คณะ สนง.คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และล่าสุดคือกรรมาธิการวิสามัญเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งลงมติ 399:0 ให้ตั้งกรรมาธิการชุดนี้ เป็นต้น

วาระเรื่องการแบนสารพิษร้ายแรงเป็นวาระของสังคมไทยไปแล้ว ไม่ได้มาจากหน่วยงานใดหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

4. ผู้ดำเนินรายการยกตัวอย่างว่า รัฐบาลของอเมริกา และกระบวนการยุติธรรมเขาไม่ได้เคลื่อนไหวตามวาระขององค์กรภาคประชาสังคมแบบของไทย

อันนี้ออกจะงงๆนิดหน่อยว่าไพล่ไปเอ่ยถึงเกี่ยวกับอเมริกาได้ยังไง เพราะสิ่งที่เราและเครือข่ายกำลังขับเคลื่อนอยู่นี้เป็นกระบวนการประชาธิปไตยพื้นๆ ที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการผลักดันนโยบายสาธารณะ

เรายืนยันเสมอมาว่าการแบนสารพิษจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยพลังและการตื่นรู้ของประชาชน เราวิพากษ์วิจารณ์และเปิดเผยตรงไปตรงมาว่าใครอยู่เบื้องหลังของการไม่แบนสารพิษ

เราพร้อมทำงานกับพรรคการเมืองทุกพรรคในเรื่องการแบนสารพิษร้ายแรงนี้ และการที่พรรคการเมืองแทบทุกพรรคลุกขึ้นมาทำงานเรื่องนี้ตามเสียงเรียกร้องของประชาชน รู้ร้อนรู้หนาวความทุกข์ร้อนของประชาชน นี่แหละคือกระบวนการและเป้าหมายของประชาธิปไตย

ถ้าหากพิธีกรต้องการให้รัฐไทย/สังคมไทยเรียนรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐ ข้อนี้เราเห็นด้วยว่ากระบวนการยุติธรรมของเราควรจะเรียนรู้จากกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐ กล่าวคือศาลในสหรัฐตัดสินคดีความอย่างตรงไปตรงมาให้บริษัทมอนซานโต้/ไบเออร์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับพิษจากไกลโฟเซตไปแล้ว 3-4 คดี และกำลังอยู่ในกระบวนการอีกหมื่นกว่าคดี ทั้งนี้ไม่นับคำตัดสินของศาลให้ EPA ของสหรัฐให้แบนคลอร์ไพริฟอสภายใน 60 วัน (ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์) เป็นต้น

ถ้าระบบยุติธรรมของไทยจะตัดสินคดีให้ประชาชนที่ได้รับพิษจากพาราควอต และไกลโฟเซต ที่เสียชีวิต ป่วยเป็นพาร์กินสัน หรือเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบบเดียวกับศาลสหรัฐก็จะดีไม่น้อย

เจตนาที่ยกเรื่องสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเพื่ออะไรครับ ? เพื่อให้รัฐบาลไทยมีจุดยืนเหมือนทรัมป์ที่ตั้งคนใกล้ชิดเป็นเลขา EPA แล้วปฏิเสธการแบนคลอร์ไพริฟอสเพราะอิทธิพลของดาวเคมีคอล ตามมี่สื่อมวลชนในสหรัฐรวมหัวกันแฉกระนั้นหรือ ?

5. ผู้ดำเนินรายการบอกว่า การเรียกร้องให้แบนสารพิษนั้นผู้เรียกร้องไม่เห็นใจเกษตรกรที่ต้องการพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชใน "ราคาย่อมเยา"

เราไม่เห็นด้วยอย่างแรงกับคำกล่าวของพิธีกร หากเห็นใจเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีเงินเพียงพอจะจ้างฉีดพ่นสารพิษกำจัดศัตรูพืช (ซึ่งน่าจะมีสัดส่วน 60-70% ของเกษตรกรทั้งประเทศ)และแรงงานรับจ้างฉีดพ่นสารเคมี สิ่งที่เราควรทำคือปกป้องสุขภาพของพวกเขาจากสารพิษร้ายแรงเหล่านี้

ทราบหรือไม่ว่าอย่างพาราควอตนั้นต่อให้ป้องกันอย่างดี แต่การใช้เครื่องพ่นสารแบบสะพายหลัง (ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีการฉีดพ่นแบบนี้) โอกาสที่เกษตรกรจะได้รับสารพิษนั้นสูงกว่า 60 เท่า ของค่ามาตรฐาน ในบราซิลเขาจึงห้ามมนุษย์ฉีดพ่น ถึงกระนั้น ANVISA ก็ประกาศว่าจะแบนสารพิษนี้ในปีหน้านี้ เพราะมาตรการจำกัดการใช้แบบที่กล่าวนั้นไม่ปลอดภัยพอ

สาเหตุที่สารพิษร้ายแรงเหล่านี้มีราคา "ย่อมเยา" เป็นเพราะนโยบายรัฐที่เอื้ออำนวยบรรษัทสารพิษไงครับ เพราะสารพิษเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วยข้ออ้างว่าเกษตรกรจะเดือดร้อน แต่กลับเก็บภาษีเครื่องตัดหญ้า วัสดุคลุมดิน และเครื่องจักรกลการเกษตรกับเกษตรกรที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารพิษแทน มูลค่าภาษีที่สนับสนุนบริษัทเหล่านี้ ไบโอไทยคิดเป็นเงินคร่าวๆประมาณ 15,000 ล้านบาท/ปี

นอกจากนั้นพึงทราบด้วยว่า ผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่วนใหญ่เกษตรกรเป็นผู้จ่ายและบางส่วนถูกผลักให้ระบบบริการสุขภาพต้องรับภาระ จากการคำนวณของนักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผลกระทบนี้มีมูลค่าประมาณ 1 เท่าตัวของราคานำเข้าสารพิษ ดังนั้นขณะนี้ที่เรานำเข้าสารเคมีมูลค่า 30,000 ล้านบาท ผลกระทบของการใช้สารเคมีที่เกษตรกรและสังคมต้องจ่ายมีมูลค่ามากถึง 30,000 ล้านบาทด้วย

หากพิจารณาด้วยเหตุผลด้วยผล สารพิษร้ายแรงเหล่านี้ไม่ได้มีราคาย่อมเยาเลย สารพิษเหล่านี้มี “ต้นทุน” ราคาแพงที่เกษตรกรรายย่อยต้องแลกด้วยชีวิตและสุขภาพของพวกเขา ผู้บริโภครวมทั้งทารกในครรภ์มารดาที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ระบบนิเวศเสียหาย สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม สิ่งนี้เกิดขึ้นจากนโยบายภาษีที่อยุติธรรม เพราะผลักภาระต้นทุนชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้แก่เกษตรกรส่วนใหญ่และประชาชน

ข้อเสนอของเราก็คือ นอกเหนือจากการแบนสารพิษร้ายแรงแล้ว เราต้องเรียกร้องให้นำรายได้จากภาษีและค่าใช้จ่ายเหล่านั้นปีละ 45,000 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรกรรมที่พึ่งพาการใช้สารเคมีร้ายแรงแรงมาเป็นวิธีการควบคุมกำจัดศัตรูพืชโดยการใช้เครื่องมือกล เครื่องจักรกลการเกษตร และวิธีการที่ปลอดภัย การปรับระบบการปลูกพืช และการขยายพื้นที่เกษตรเชิงนิเวศ

นี่เป็นการคิดถึงเกษตรกรให้ถูกทางตามความเห็นของเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net