Skip to main content
sharethis

ทำความเข้าใจเรื่องการพักโทษของนักโทษ หลังแม่ของไผ่ ดาวดิน ร้องกรรมการสิทธิฯ กรณีไผ่ไม่ได้รับการพิจารณา “พักโทษ” เช่นนักโทษทั่วไป ด้วยเหตุที่มีคดีการเมืองอื่นค้างเติ่งติดตัว ราชทัณฑ์อ้างยังไม่อาจอนุมัติ แต่ถึงไม่ได้พักโทษไผ่ก็มีกำหนดออกจากเรือนจำ 16 พ.ค.นี้ พร้อมกันนี้เราพาไปดูกรณีอดีตนักโทษหัวรั้น สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่เคยยื่นฟ้องราชทัณฑ์ต่อศาลปกครอง สมัยยังอยู่ในเรือนจำ ด้วยเรื่องไม่ได้รับการอนุมัติให้พักโทษเช่นกัน ระบุระเบียบปฏิบัติภายในราชทัณฑ์กีดกันนักโทษคดี 112 เลือกปฏิบัติ ศาลปกครองรับฟ้องตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า

การพักโทษเป็นมาตรการหนึ่งของเรือนจำที่มุ่งเร่ง “คืนคนดีสู่สังคม” และยังเป็นทางออกเล็กๆ ของปัญหานักโทษล้นคุกในทุกเรือนจำ

การพักโทษคือการได้ออกจากคุกก่อนกำหนดเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ได้สิทธินั้น มันมีหลักเกณฑ์จำนวนหนึ่งที่จะรับประกันว่าผู้ต้องขังเหล่านั้นมีคุณภาพ ออกไปจะไม่เป็นพิษภัยต่อสังคม เช่น ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด (ตัดสินแล้วทุกคดี ไม่มีคดีค้าง) ต้องเป็นนักโทษชั้นดี/ดีมาก/ดีเยี่ยม ฯลฯ (รายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง) ส่วนผู้พิจารณาคือ คณะกรรมการกลางที่ประกอบด้วยตัวแทนหลายหน่วยงาน

การพักโทษดำเนินการกันทุกปี ยกตัวอย่างปี 2561 กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษ 1,006 รายจาก 95 เรือนจำทั่วประเทศ

ปัญหาการเลือกปฏิบัติคงไม่เกิดขึ้น หากไม่ใช่คดีการเมืองแบบพิเศษอย่างคดี 112

7 มี.ค.ที่ผ่านมา แม่ของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่) ร้องเรียนกับกรรมการสิทธิฯ กรณีที่กรมราชทัณฑ์ไม่พิจารณาเรื่องการพักโทษให้ลูกชายทั้งที่เข้าเกณฑ์ทุกอย่างมาแล้วกว่า 7 เดือน  

ข้อติดขัดที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อธิบายก็คือ ไผ่ยังไม่เป็นนักโทษเด็ดขาด เพราะยังมีบางคดีไม่สิ้นสุดและทางเรือนจำกำลังรอเอกสารว่าตำรวจจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่

ภาพ ไผ่ ดาวดิน

เป็นที่ทราบกันดีว่านักกิจกรรมหนุ่มคนนี้โดนคดีต่างๆ รวมแล้วถึง 5 คดี แน่นอนว่า คดีใหญ่ที่สุดที่ทำให้เขาได้รับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน คือ คดี 112 จากการแชร์ข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย

ที่เหลืออีก 4 คดีคือ
1.คดีชูป้ายต้านรัฐประหารในวาระครบรอบ 1 ปี ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น พร้อมสมาชิกกลุ่มดาวดิน 5 คน ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ขึ้นศาลทหารขอนแก่น ศาลจำหน่ายคดีแล้วเนื่องจาก คสช.ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวแล้ว  

2.คดี 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดนจับกุมวันที่ 26 มิ.ย.2558 นักศึกษาทั้งหมดติดคุก 14 วัน เนื่องจาก ตร.นำตัวไปฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพ แต่พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ยังไม่ได้สอบปากคำใด เพียงแจ้งข้อหาตาม ม.116 และฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.3/2558 

3.คดีพูดเพื่อเสรีภาพ ซึ่งเป็นเวทีวิชาการจัดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 31 ก.ค.2558 ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ศาลจำหน่ายคดีแล้ว

4.แจกเอกสารประชามติที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ถูกจับเมื่อ 6 ส.ค. 2559 ถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.ประชามติ และข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษายกฟ้อง

ภาพ ไผ่ และเพื่อนๆ ในคดี 14 นักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้าน คสช.ในเดือนมิถุนายน 2558

จะเห็นว่าทุกคดีสิ้นสุดหมดแล้ว ยกเว้นคดี 14 นักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้าน คสช.ในเดือนมิถุนายน 2558 คดียังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวใด ว่ากันตรงไปตรงมามันเป็นคดีการเมืองที่แจ้งความกับนักศึกษาเพื่อสกัดกั้นการประท้วงที่อาจลุกลาม หลังจับกุมนักศึกษามีนำตัวไปขึ้นศาลทหารกรุงเทพในเวลา 21.30 น. ก่อนเสร็จสิ้นกระบวนการตอนเที่ยงคืนครึ่งแล้วนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำ นักศึกษาทั้ง 14 คนประท้วงด้วยการไม่ยื่นประกันตัว อยู่ในเรือนจำนานถึง 2 สัปดาห์ ก่อนท้ายที่สุดศาลไม่อนุมัติการฝากขังต่อ

จนถึงวันนี้ไผ่อยู่ในเรือนจำมาแล้ว 2 ปี 2 เดือน เหลืออีกราว 3 เดือนก็จะพ้นโทษ เหตุที่ได้ออกเร็วกว่ากำหนดเล็กน้อยเพราะระบบโดยปกติของเรือนจำ หากเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไปจะได้ “วันลดโทษ” จำนวนหนึ่ง กรณีของไผ่ซึ่งเป็นนักโทษชั้นดีมากได้วันลดโทษรวม 34 วัน ทำให้กำหนดการออกจากเรือนจำของเขาคือ วันที่ 16 พ.ค.2562

ตามระเบียบของกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการพักการลงโทษดังต่อไปนี้

1.ชั้นเยี่ยม ไม่เกิน 1 ใน 3 ของโทษที่ได้รับ
2.ชั้นดีมาก ไม่เกิน 1 ใน 4 ของโทษที่ได้รับ
3.ชั้นดี ไม่เกิน 1 ใน 5 ของโทษที่ได้รับ

กรณีของไผ่ไม่ใช่กรณีแรกที่ไม่ได้พักโทษเช่นผู้ต้องขังคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ที่ถูกฟ้องคดี 112 ก็เป็นอีกคนที่ใช้สิทธิยื่นขอพักโทษเช่นคนอื่น แม้จะเหลือเวลาจำคุกอีกไม่มากนัก เนื่องจากเขาต่อสู้คดีถึงชั้นศาลฎีกา กว่าคดีจะเดินไปสุดทางเขาก็ติดคุกมายาวนานเกือบเต็มจำนวนโทษแล้ว

(ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 10 ปี ศาลฎีกาลงโทษจำคุก 6 ปี)

ภาพ สมยศ (ที่มาภาพ Banrasdr Photo)

คณะกรรมการพิจารณาพักโทษแจ้งผลว่า เขาไม่ผ่านการพิจารณาเนื่องจากคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ สมยศอุทธรณ์แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดเขาตัดสินใจฟ้องศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 687/2561 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2561 ก่อนเขาออกจากเรือนจำเพียงเดือนเศษ

“จริงๆ จะได้ออกจากเรือนจำอยู่แล้ว แต่ก็ตัดสินใจฟ้อง เพราะไม่ต้องการให้การพิจารณาแบบนี้เป็นมาตรฐานสำหรับนักโทษ 112 คนอื่นๆ มันเป็นการเลือกปฏิบัติ” สมยศเคยกล่าวไว้ขณะยังไม่ออกจากเรือนจำ

ผู้ถูกฟ้องคือ กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการพิจารณาพักโทษ โดยผู้ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของคณะกรรมการพักการลงโทษที่มีมติไม่เห็นชอบพักโทษให้ผู้ฟ้องคดี, เพิกถอนประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 ข้อ 2 (ข) และข้อ 3 และสุดท้ายขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน 64,569.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

เนื้อหาในทางคดี หลังคณะกรรมการพักการลงโทษแจ้งว่า สมยศยังขาดองค์ประกอบในส่วนของพฤติการณ์กระทำผิด อายุขณะกระทำผิด อายุที่เข้าเกณฑ์พักการลงโทษ ประวัติความเจ็บป่วยร้ายแรง สมยศได้ยื่นฟ้องโดยมีข้อต่อสู้ว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาพักโทษของกรมราชทัณฑ์นั้น อันที่จริงไม่จำเป็นต้องมีเหตุพิเศษสนับสนุนการใช้ดุลยพินิจทุกข้อ เช่น ต้องอายุเกิน 70 ปี เจ็บป่วยระยะสุดท้าย ฯลฯ ก็ได้ เพียงแค่เหตุผลข้อเดียวเรื่องการเหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 1 ปี คณะกรรมการฯ ก็พิจารณาผ่อนปรนให้ได้รับการพักการลงโทษได้ ตัวเขาเองเหลือโทษจำคุกเพียง 3 เดือนเศษ

ที่สำคัญคือ ประกาศของราชทัณฑ์กำหนดลักษณะความผิดตาม ม.112 ที่เข้าข่ายไม่ได้รับการพิจารณาไว้ด้วย สมยศระบุว่านั่นเป็นการเลือกปฏิบัติ

“โดยสาระสำคัญแล้วข้อหาดังกล่าวมีธรรมชาติทางกฎหมายไม่แตกต่างจากมาตราอื่นที่ปรากฏในประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือมีสถานะเป็นกฎหมายอาญาที่เป็นข้อห้ามความประพฤติของบุคคลในสังคมโดยมีจุดประสงค์รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม หากผู้ใดฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษทางอาญาเหมือนกัน แต่การกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาพักโทษ พ.ศ.2560 ข้อ 2(1) ให้ลักษณะความผิดอาญาประเภทนี้ขึ้นมาและกำหนดผลทางกฎหมายต่อบุคคลที่กระทำผิดทางอาญาในข้อหาประเภทนี้ให้แตกต่างออกไปจากการกระทำผิดตามข้อหาทางอาญาอื่นๆ โดยกำหนดผลทางกฎหมายให้ผู้กระทำผิดตามข้อหาทางอาญาประเภทนี้ได้รับผลร้ายเป็นพิเศษในการพิจารณาใช้ดุลพินิจพักโทษ จึงถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแบบเดียวกันให้แตกต่างออกไปจนก่อให้เกิดผลร้ายเป็นพิเศษและไม่เป็นธรรม เนื่องจากเมื่อศาลพิพากษาให้เป็นผู้กระทำความผิดและมีโทษจำคุกตามอัตราโทษที่ศาลเห็นว่าเหมาะสมกับคดีแล้ว การบังคับตามคำพิพากษาภายหลังก็ต้องมีความเสมอภาคกัน นักโทษเด็ดขาดไม่ว่าคดีใดๆ ย่อมต้องได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเสมอภาค”

สมยศยังยืนยันด้วยว่า พฤติการณ์แห่งคดีของเขา แม้เขาจะถูกฟ้องตามม. 112 แต่ก็เป็นเพียง บก.ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดโดยตรง นอกจากนี้เขายังมีความประพฤติดี ได้รับคะแนนความประพฤติจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนน

เขายังโต้แย้งอีกว่า ประกาศของกรมราชทัณฑ์นั้นขัดหรือแย้งกับระเบียบของกระทรวงยุติธรรมในเรื่องการพักโทษด้วย เพราะระเบียบระดับกระทรวงไม่ได้กำหนดเรื่องลักษณะความผิดเอาไว้ ดังนั้น ประกาศของกรมราชทัณฑ์จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจที่กฎหมายกำหนด

หลังศาลปกครองรับคดี ปัจจุบันยังไม่มีการความคืบหน้าหรือการนัดหมายใด

 

หมายเหตุ มีการแก้ไขข้อมูล 10 มี.ค.2562

หลักเกณฑ์การพิจารณาพักโทษ

ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและการแยกคุมขัง การเลื่อนหรือลดชั้นนักโทษเด็ดขาด การลดวันต้องโทษจำคุก และการพักการลงโทษ พ.ศ.2559

ข้อ 60 นักโทษเด็ดขาดที่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาพักการลงโทษต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

(1)เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป
(2)ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก
(3)ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเพื่อพิจารณาพักการลงโทษตามข้อ 63
(4)มีผู้อุปการะ

ข้อ 65 ในการพิจารณาของคณะกรรมการพักการลงโทษหรือคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเพื่อพิจารณาพักการลงโทษ ให้อธิบดีกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพักการลงโทษ โดยคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

(1) ความประพฤติ ความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา การทำงาน การทำความชอบให้แก่ทางราชการ ขณะถูกคุมขังในเรือนจำ
(2) ระยะเวลาคุมประพฤติ
(3) ประวัติการต้องโทษ
(4) พฤติการณ์ก่อนมาต้องโทษ
(5) พฤติการณ์การกระทำผิด
(6) ความน่าเชื่อถือของผู้อุปการะ
(7) การได้รับการแก้ไข บำบัดฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยตามหลักสูตรที่กรมราชทัณฑ์กำหนด
(8) ผลกระทบด้านความปลอดภัยของสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net