Skip to main content
sharethis

วงเสวนา 'การฟ้องคดีปิดปากกรณีโรงไฟฟ้าและทางออก' ระบุรัฐใช้อำนาจกฎหมายปิดปากนักเคลื่อนไหวโรงไฟฟ้า หวังสกัดกั้น-หยุดนักวิชาการวิจารณ์โครงการรัฐ กรีนพีซชี้สื่อออนไลน์มีอิทธิพลเยอะขึ้น ความท้าทายคือทำอย่างไรให้การสื่อสารของเรามีประสิทธิภาพและไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วย

 
 
 
 
เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมาว่าที่หอศิปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) และกรีนพีซ (Green Peace) จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ "การฟ้องคดีปิดปากกรณีโรงไฟฟ้าและทางออก" โดยประสิทธิชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าที่ผ่านมาการแสดงเพียงด้านเดียวในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ตนมองว่าจะทำให้สาธารณะได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียวในสิ่งที่ภาครัฐต้องการสื่อสารทำให้ส่งผลเสียต่อการตัดสินใจของประชาชนในโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการเพราะการที่เปิดให้อีกฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นจะเป็นการสร้างความเป็นธรรมหรือเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจอีกทั้งถือว่าเป็นกระบวนการสื่อสารได้ดีและลดความขัดแย้ง
          
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการให้ข้อมูลของเราเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ให้ประชาชนรับทราบไม่ใช่เป็นการครอบงำหรือเป็นการชี้นำให้ประชาชนตัดสินใจในสิ่งที่พูดรวมถึงการแสดงความคิดเห็นของเรานั้นไม่ได้มีเจตนาเพื่อทำลายองค์กรของรัฐ เพราะท้ายสุดแล้วประชาชนจะเป็นคนตัดสินใจ อย่างไรก็ตามมองว่าการสั่งฟ้องที่ผ่านมาอาจจะมีกลไกบางอย่างที่ทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหรือนักวิชาการนั้นต้องหยุดเคลื่อนไหว และผมคิดว่าหากภาครัฐยิ่งดำเนินการฟ้องบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นสังคมก็ยิ่งวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น” ประสิทธิชัย กล่าว
          
อัครเดช ฉากจินดา เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่ กล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียที่นำเสนออีกมุมหนึ่งของโครงการรัฐตนมองว่าควรจะมีการเปิดช่องทางให้แสดงความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมซึ่งการที่ตนออกมาเคลื่อนไหวแล้วส่งผลให้โดนคดีนั้นตนมอว่าเป็นเหมือนการสกัดกั้นหรือกลั่นแกล้งมากกว่าเพราะการตั้งคำถามของตนนั้นเป็นการนำเสนอข้อมูลเพื่อมาประกอบในการหาทางออกอย่างไรก็ตามตนยังมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้นมีบางมาตราที่ยังจำกัดสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่เป็นประโยชน์สาธารณะเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้
          
เรณู เวชรัชต์พิมล นักวิชาการอิสระกล่าวว่าตนอยากให้นักวิชาการไม่ต้องกังวลใจหรือกลัวในการที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นช่วยเหลือชุมชนเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นการทำการทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่งโดยที่อยากให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐทบทวนการรับฟังข้อมูลที่โปร่งใสเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหากข้อมูลไหนที่มองว่าการแสดงความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางหน่วยงานรัฐก็น่าจะออกมาชี้แจ้งมากกว่าที่จะดำเนินการฟ้องกับบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเพราะประโยชน์จะไม่เกิดขึ้น
 
นอกจากนี้ในเพจ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม - EnLAW ได้ระบุว่าธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าหลายครั้งหลายคราวการทำงานของกรีนพีซในประเทศไทยก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องคดีอยู่แล้ว ในช่วงต้นๆ ที่เราทำเรื่องรณรงค์ในหลายๆเรื่อง รวมถึงเรื่องโรงไฟฟ้า
 
ในฐานะที่กรีนพีซเป็นองค์กรรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็รู้อยู่แล้วว่าต้องโดนเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่มีอยู่ทั่วโลก เพราะการดำเนินการของกรีนพีซบางครั้งก็ใช้วิธีเผชิญหน้า อย่างในสหรัฐก็มีกรณีการฟ้องคดีปิดปากจากการรณรงค์คัดค้านการวางท่อน้ำมันในพื้นที่ชนพื้นเมือง แต่การฟ้องคดีปิดปากในต่างประเทศจะเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย ก็ประมาณ 900 ล้านเหรียญ แต่โชคดีที่มีการยกฟ้อง
 
ธารา บัวคำศรี กล่าวถึงการสื่อสารต่อสาธารณะว่าเมื่อภูมิทัศน์ในการสื่อสารสาธารณะเปลี่ยนไป สื่อออนไลน์มีอิทธิพลเยอะขึ้น ความท้าทายคือทำอย่างไรให้การสื่อสารของเรามีประสิทธิภาพและไม่ไปละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของผู้อื่นด้วย ดังนั้นโพสต์แต่ละอันที่เราโพสต์ได้อ่านสามรอบก่อนโพสต์ เป็นการกรองว่าข้อมูลที่โพสต์มันจะเป็นประเด็นที่ทำให้คนได้รับรู้มากขึ้น 
 
ส่วนการถูกดำเนินคดีนั้น ไม่ได้กังวลอะไร มันก็เป็นเรื่องของการที่ต้องเปิดเวทีให้มากขึ้น และสร้างพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพภายใต้ทิศทางของประเทศไทยที่มีอยู่ขณะนี้ เพราะพื้นที่แบบนี้มันกำลังหดแคบลงไปเรื่อยๆ ถ้ามีใครโดนคดีเพิ่มอีก ก็จะทำให้พื้นที่หดแคบลงไปอีก
 
"พื้นที่สื่อสารสาธารณะเป็นช่องทางที่ทำให้การขับเคลื่อนสังคมดีขึ้น ถ้ามีการฟ้องคดีปิดปากแล้ว เราเลิกพูดไปเลย สังคมก็จะไม่ไปไหน เราต้องลุกขึ้นมาพูดต่อ" ธารา ระบุ
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net