Skip to main content
sharethis

สังคายนาแนวทางจัดการยาเสพติด ดันร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด บูรณาการหน่วยงานสาธารณสุขและยุติธรรม แยกผู้ค้ากับผู้เสพให้ชัด ไม่เอาผิดผู้เสพเพราะเป็นเหยื่ออาชญากรรม ไม่ดำเนินคดี แต่ทำการบำบัดรักษาไม่จำกัดครั้ง

ผู้ต้องขังประมาณร้อยละ 80 ในเรือนจำประเทศไทยเกิดจากคดียาเสพติด ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะคนล้นคุกและนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในเรือนจำ ขณะเดียวกัน วิธีการปราบปรามที่ผ่านมาก็ไม่สามารถสกัดยับยั้งปัญหายาเสพติดได้ และยังสร้างผลกระทบลูกโซ่ตามมาอีกมาก ทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิ์ การทุจริตของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น จึงมีความพยายามแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อหาแนวทางอื่นๆ ในการจัดการ

15 พฤษภาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด 3 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.... , ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะเป็นการปรับแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดอีกครั้ง

จิตรนรา นวรัตน์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด กล่าวว่า เดิมทีกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศไทยมีอยู่ 7 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดย 2 ฉบับนี้ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารระเหย ซึ่งดูแลร่วมกันโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด ซึ่งดูแลโดยกระทรวงยุติธรรม

ทั้ง 7 ฉบับจะถูกยกเลิกและทำการปรับปรุงแก้ไขพร้อมกันเหลือเพียง 3 ฉบับคือประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด

“กฎหมายนี้ตั้งใจเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมทั่วไปและผู้ใช้กฎหมายโดยตรง ทัศนคติของประชาชาทั่วไป ไม่ยอมรับผู้ที่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เราต้องการชี้ให้เห็นว่าในคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ค้าต้องจัดการแบบหนึ่ง ผู้เสพถือว่าเป็นเหยื่อของอาชญากรรมต้องจัดการด้วยวิธีอีกแบบ ซึ่งสังคมต้องเข้าใจก่อน ไม่อย่างนั้นการออกกฎหมายจะต้านสังคม จะทำให้ขับเคลื่อนยาก

“กฎหมายนี้จะลงโทษให้เข้มข้นกับคนที่ค้ายา มีมาตรการใหม่ๆ ออกมา ส่วนแนวทางการบำบัดรักษาและจัดการผู้เสพยาเริ่มเปลี่ยนไป ในภาพรวม การจัดการผู้ติดยาเดิมเรามีแนวคิดว่าต้องลงโทษมานานมาก จนยอมรับความจริงว่าไม่สามารถทำให้ผู้เสพเลิกได้ ถ้าเอาแต่โทษจำคุก แนวทางของกระบวนการยุติธรรมที่จะใช้กับผู้เสพยาคือแม้จะมีความผิดอยู่ แต่ไม่ลงโทษถึงจำคุก ทุกวันนี้แนวทางนี้ชัดเจนมาสิบกว่าปีแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแนวทางดังกล่าวเป็นเพียงนโยบาย ครั้งนี้จะทำให้มีความชัดเจนขึ้นโดยการบัญญัติให้เป็นกฎหมาย แต่การเขียนกฎหมายว่าไม่มีความผิดฐานเสพยาเสพติด สังคมไม่ยอมรับและจะเกิดผลกระทบมากกว่า จิตรนรา กล่าวว่า กฎหมายจึงเลี่ยงคำว่า ไม่มีความผิดฐานเสพและไม่มีการดำเนินคดี เป็นการใช้คำว่า ต้องสงสัยโดยมีพฤติการณ์เชื่อว่าเสพยาเสพติด ให้นำตัวเข้ากระบวนการบำบัดรักษา ทั้งนี้ก็เพื่อเลี่ยงการแจ้งข้อกล่าวหาและจับกุม รวมทั้งเขียนในกฎหมายให้ชัดเจนว่าให้นำตัวไปบำบัดรักษาตามกระบวนการที่กำหนด หรือหากสมัครใจรับการบำบัดรักษาเองก็จะไม่มีการดำเนินคดี

“เดิมการแก้ไขปัญหายาเสพติดค่อนข้างแยกจากกันระหว่างหน่วยงานยุติธรรมกับหน่วยงานสาธารณสุข เพราะถือกฎหมายกันคนละฉบับ การแก้กฎหมายให้มาอยู่ในฉบับเดียวจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน ยิ่งกฎหมายเกี่ยวกับการฟื้นฟูมีการจัดกลุ่มใหม่หมด โดยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายสาธารณสุขจากเดิมที่อยู่กับฝ่ายยุติธรรม”

ประเด็นจำนวนครั้งในการบำบัดรักษาว่า ถ้าเข้าบำบัดกี่ครั้ง แล้วยังกลับไปเสพจะถูกดำเนินคดี จิตรนรา กล่าวว่า จะไม่มีการกำหนดจำนวนครั้ง

“การนำคนมาบำบัดรักษาอย่างไรก็ดีกว่าปล่อยออกไปข้างนอก ในกระบวนการบำบัดรักษาอย่างหนึ่งคือทำให้การใช้ยาเสพติดน้อยลง ไม่เกิดอันตรายมากนัก เพราะบางทีความต้องการเสพยาของเขาอาจทำให้เขาต้องก่ออาชญากรรมมากมายและนำความสูญเสียแก่คนรอบตัว เราอาจจะเบื่อหน่ายในการบำบัดรักษา แต่ถ้าเขายังมาหาเราเพื่อบำบัดรักษาอยู่ ดีกว่าที่จะปล่อยเขาไปเลย ผมไม่ได้เอาจำนวนครั้งเป็นตัวตั้ง แต่เราไม่ได้ปล่อยไปเรื่อยๆ กระบวนการบำบัดรักษาจะมีรายละเอียด เช่น ครั้งแรกๆ รักษาเบาๆ ก่อน ไม่ต้องอยู่ในการควบคุม ถ้ายังไม่เลิกก็จะมีกระบวนการที่เข้มข้นขึ้น แต่ไม่ได้เอาไปติดคุก อาจจะไปอยู่สถานบำบัดที่เข้มงวด แต่ไม่ใช่ 3 ครั้ง 5 ครั้งเลิก แล้วนำไปดำเนินคดี เราไม่จำกัดครั้ง”

อย่างไรก็ตาม กฎหมายทั้ง 3 ฉบับยังอยู่ในการพิจารณาของ สนช. ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการแก้ไขเนื้อหาหรือไม่ อย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net