Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บังเอิญวันก่อนอ่านเจอเรื่องนี้ เห็นว่าน่าสนใจดี

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของขบวนการสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ไหน? ไม่ใช่อยู่ที่คำปราศรัย "I Have A Dream" หรอก นั่นแทบจะเป็นจุดเกือบสุดท้ายต่างหาก

บางคนบอกว่ามันอยู่ที่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 1963 ในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐแอละบามา ซึ่งเป็นเมืองที่มีการเหยียดสีผิวรุนแรงที่สุดเมืองหนึ่งในสหรัฐอเมริกาสมัยนั้น ต้นปีนั้น มาร์ติน ลูเธอร์ คิงกับผู้นำท้องถิ่นพยายามพาคนผิวดำประท้วง แต่ถูกจับ คิงเองก็ต้องติดคุกเหมือนกัน

ศาสนาจารย์ James Bevel ผู้นำคนหนึ่งของขบวนการสิทธิพลเมืองก็เลยคิดและริเริ่มการรณรงค์ที่เรียกกันว่า Birmingham Children's Crusade ขึ้นมา การจัดตั้งในพื้นที่ของขบวนการลงลึกไปถึงเด็กประถมเด็กมัธยมอยู่แล้ว รวมทั้งมีการอบรมการประท้วงตามแนวทางสันติวิธีด้วย พอมีการระดมเด็กนักเรียนออกมาประท้วง นายกเทศมนตรีเมืองเบอร์มิงแฮมตอบโต้ด้วยการส่งตำรวจมาปราบ มีการฉีดน้ำจากรถดับเพลิงใส่ ส่งหมาไล่กัด แล้วจับเด็กไปหลายคน คนที่อายุน้อยที่สุดคือ 9 ขวบ

แต่ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนสุดท้ายเทศบาลต้องยอมเจรจากับขบวนการ ยอมปล่อยตัวนักโทษทั้งหมด ฯลฯ

ชัยชนะที่เมืองเบอร์มิงแฮมครั้งนี้ถือเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของขบวนการสิทธิพลเมือง แม้ว่าจะเกิดเรื่องน่าเศร้าในปลายปี 1963 เมื่อคนขาวหัวรุนแรงก่อวินาศกรรมต่อต้านขบวนการจนมีเด็กผู้หญิงเสียชีวิตไป 4 คน แต่ถ้าไม่มี Birmingham Children's Crusade มาร์ติน ลูเธอร์ คิงอาจไม่มีโอกาสไปยืนปราศรัยถึงความใฝ่ฝันต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

เราว่าเรื่องนี้น่าสนใจเพราะเราเชื่อว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จนขบวนการต้องแท้งไปก่อน คำถามที่น่าสนใจก็คือ เมื่อสิทธิมนุษยชน สันติวิธี ตกไปอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญ กล่าวคือ นักสิทธิมนุษยชนอาชีพ นักสันติวิธีอาชีพ มันกลายเป็นการให้อำนาจเทคโนแครตเหล่านี้ในการนิยามว่าอะไรใช่/ไม่ใช่ ได้/ไม่ได้ ทั้งที่นักวิชาชีพเหล่านี้ไม่เคยลงไปปฏิบัติจริงมากเท่าไร รวมทั้งไม่ได้ร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการใดจริงจังด้วย

เราเชื่อว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ศาสนาจารย์เจมส์ บีเวล ไม่ได้มีชื่อจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์หรอก แต่จะถูกก่นด่าว่าใช้เด็กเป็นเครื่องมือทางการเมือง ต่อให้เด็กเหล่านี้เต็มใจจะออกมาประท้วง เพราะพวกเขาก็ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ตาม

แม้กระทั่งการนิยามว่าใครคือ "เด็ก" ก็เป็นคำถาม ขบวนการซาปาติสตาให้เด็กอายุ 12 มีิสิทธิในการลงคะแนนเสียงแล้ว

ยิ่งมีนักสิทธิมนุษยชนอาชีพ นักสันติวิธีอาชีพมากเท่าไร อาวุธของสามัญชนก็ถูกลิดรอนมากขึ้นหรือเปล่า? นี่เป็นคำถามที่เราก็ไม่รู้คำตอบ

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net