Skip to main content
sharethis

แม้จะเคยถูกผู้หญิงระดับสูงในภาครัฐตราหน้าพวกเธอออกสื่อว่าเป็น "กะหรี่บ้า" แต่กลุ่มแรงงานนอกระบบในโรงเรียนรัฐเกาหลีใต้ที่มีสัญญาจ้างไม่มั่นคงก็ยังคงยืนหยัดเรียกร้องให้คนทำงานแบบเดียวกับพวกเธอมีสภาพการจ้างที่ดีขึ้น รวมถึงมีค่าแรงที่ดีขึ้น และต่อสู้กับแนวคิดชายเป็นใหญ่กดทับมาตลอดว่า งานทำครัว งานปัดกวาดเช็ดถูของพวกเธอนั้นเป็นไม่สำคัญเท่างานอื่นที่ถูกอ้างว่าเป็น "งานผู้ชาย"

9 ต.ค. 2560 กลุ่มแรงงานหญิงนอกระบบในเกาหลีใต้กำลังมีการรวมตัวกันภายใต้การจัดตั้งแรงงานหน้าใหม่นำโดยหญิงที่เคยถูกจ้างงานแบบนอกระบบมาโดยตลอด 16 ปี โดยมีการจัดประท้วงหยุดงานกันเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยสมาพันธ์แรงงานเกาหลีใต้ (KCTU) เพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระดับประเทศ โดยมีคนทำงานสัญญาจ้างนอกระบบหลายหมื่นคนประท้วงด้วยการเดินออกจากที่ทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิงที่ทำงานด้านการดูแล การทำความสะอาด และคนทำงานโรงอาหาร ในโรงเรียนของรัฐร้อยละ 27 ของประเทศ

แรงงานนอกระบบในเกาหลีใต้หรือ (Irregular worker) หมายถึงแรงงานล่วงเวลาหรือแรงงานที่มีสัญญาระยะสั้นโดยที่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานและไม่ได้รับสวัสดิการ แม้จะเป็นแรงงานนอกระบบแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเธอจะทำงานน้อยกว่าคนอื่น จากกระดานข่าวของสหภาพแรงงานนอกระบบของโรงเรียนรัฐเกาหลี (NSIWU) มีรายหนึ่งเล่าว่า เธอต้องทำงาน "อาบเหงื่อต่างน้ำ" อยู่หน้าเตาไฟร้อนๆ ตลอดทั้งวัน บางทีแทบจะไม่มีเวลาไปดื่มน้ำ พอมีเวลาพักบ้างเล็กน้อยหัวหน้างานก็คิดว่าพวกเธออู้งานเพราะไม่มีอะไรทำโดยไม่ได้มองเห็นเลยว่าพวกเธอทำงานหนักอะไรบ้าง

ส่วนใหญ่แล้วสมาพันธ์แรงงาน KCTU มักจะนำโดยผู้ชาย แต่การประท้วงในคราวนี้นำโดยแรงงานหญิงอย่าง ปากกึมจา เธอทำงานในโรงอาหารที่โรงเรียนของรัฐในเมืองซุนชอนมาเป็นเวลา 16 ปี แล้ว เธอต้องทำงานในสภาพที่มีเสียงดังมากจนทำให้เธอสูญเสียการได้ยิน งานของเธอหนักจนทำให้เป็นแผลร้อนในในปาก แต่เธอได้เงินน้อยกว่า 500,000 วอนต่อเดือน (ราว 14,000 บาท) เธอคิดจะลาออกมาหลายครั้งแล้วแต่ก็ทำไม่ได้เพราะมีเด็กต้องคอยดูแลสองคน จนกระทั่งในปี 2553 เธอก็ทนไม่ไหว จึงลุกขึ้นพยายามรวมตัวคนทำงานโรงอาหารในพื้นที่เดียวกับเธอและมีความคิดจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา

แรงงานนอกระบบในเกาหลีใต้มีอยู่ราว 9 ล้านคนและเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ทำให้นายจ้างจ้างงานได้ยืดหยุ่นขึ้น และลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน โดยที่แรงงานนอกระบบในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ในสหภาพแรงงาน NSIWU นั้นมีการรวบรวมทั้งคนงานที่เป็นคนทำงานโรงอาหาร แผนกผู้แลจัดการ บรรณารักษ์ ผู้ช่วยด้านคอมพิวเตอร์ คนทำงานดูแล รวมถึงครูพิเศษและที่ปรึกษา โดยปากกึมจาเป็นผู้ที่จัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2553

เธอเล่าว่าเธอตื่นขึ้นมาทำกับข้าวในตอนเช้าตรู่ ซักเครื่องแบบโรงเรียนให้ลูกก่อนไปทำงาน พอเสร็จงานแล้วก็จะใช้เวลาในช่วงเย็นในการขับเคลื่อนทำงานร่วมกับแรงงานนอกระบบ ภายในเวลา 40 วันเธอและเพื่อนร่วมงานของเธอก็สามารถรวบรวมคนงานนอกระบบที่ทำงานในโรงเรียนรัฐได้ 1,700 คน และจัดตั้งสหภาพได้ในเดือน ต.ค. 2553 พอถึงปี 2554 กระทรวงแรงงานก็ยอมรับ NSIWU ว่าเป็นสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการ ในปัจจุบัน NSIWU มีสมาชิก 50,000 คน เป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีในการนัดหยุดงานเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

เมื่อแนวคิดชายเป็นใหญ่กดขี่แรงงานหญิง

สื่อโคเรียเอ็กโพสส์ระบุว่า การประท้วงวอล์กเอาท์ของกลุ่มแรงงานหญิงเหล่านี้ยังถือเป็นประเด็นสตรีนิยมด้วย แต่หญิงที่อยู่ในระดับสูงบางคนกลับไม่ยอมเข้าถึงหัวอกของผู้หญิงด้วยกัน ลีออนจู นักการเมืองจากพรรคพีเพิลปาร์ตีเรียกแรงงานหญิงเหล่านี้ว่าเป็น "พวกกะหรี่บ้า" จากการให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ลีออนจูถูกบีบให้ออกมาขอโทษในวันต่อมา แต่สิ่งที่เธอพูดก็สะท้อนว่ามีอคติห่วยๆ แพร่กระจายอยู่ในระดับรากฐานกดสภาพการทำงานของผู้หญิงในเกาหลีใต้ให้ยังคงย่ำแย่

ที่ต้องใช้แนวคิดสตรีนิยมด้วยเพราะว่าหนึ่งในสิ่งที่ครอบงำอยู่คือแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ที่คิดเอาเองว่างานบ้านหรืองานที่เกี่ยวกับการดูแลไม่ถูกจัดเป็นแรงงานที่จำเป็นโดยทั่วไปจึงทำให้มีการเอื้อให้เกิดการจ้างงานแบบที่สัญญาจ้างยึดหยุ่นในงานจำพวกงานบริการหรืองานส่งเสริมการศึกษาที่ส่วนใหญ่คนทำงานจะเป็นผู้หญิง จึงไม่แปลกที่เกาลีใต้จะถูกจัดเป็นประเทศที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศสูงสุดในหมู่ประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

ในช่วงเผด็จการปาร์คจุงฮี เกาหลีใต้ขยายเศรษฐกิจของตัวเองบนแผ่นหลังของผู้หญิงรุ่นเยาว์ที่เข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งสิ่งทอและอิเล็กโทรนิค แต่ผู้หญิงเหล่านี้ก็ไม่ยอมให้ตัวเองกลายเป็นแค่เครื่องมือทางเศรษฐกิจ มีการวมกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มสหภาพแรงงานชองกเยที่เคยถูกบริษัทจ้างคนมาโจมตีด้วยการปาอุจจาระใส่และถูกตำรวจทำร้ายรวมถึงจับกุมจากการที่พวกเธอเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งผู้นำสหภาพตัวเอง

แรงงานเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการประท้วงหยุดงานปี 2528 ที่นิคมอุตสาหกรรมกูโรในกรุงโซลที่มีแรงงานหญิงเรือนแสนจากหลายโรงงานออกมาเรียกร้อง สภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น มีการจ้างพวกอันธพาลมาสลายการชุมนุม มีแกนนำ 44 รายถูกจับขังคุก มีแรงงานจำนวนมากถูกไล่ออกจากงาน แต่การประท้วงของกูโรก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและแรงงานในอีก 2 ปีต่อมาจำทำให้เผด็จการในยุคนั้นลาออกจากตำแหน่ง

การต่อสู้ของแรงงานหญิงในยุคก่อนหน้านี้กลายมาเป็นรากฐานให้กับการต่อสู้ของแรงงานในยุคต่อมาหลังจากนั้น แรงงานหญิงทั้งหลายผู้ไม่ได้มีชื่อเสียงเรียงนามในยุคก่อนหน้านั้นต่างก็ต่อสู้นอกจาประเด็นการกดขี่แรงงานแล้วยังต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศในที่ทำงานด้วย

"พวกเราไม่ได้ต้องการความสงสาร พวกเรากำลังจะบอกว่าขอให้ลดใช้แรงงานหนักกับพวกเราบ้าง ให้ค่าแรงเราสักครึ่งหนึ่งของข้าราชการก็ยังดี พวกเราทำงานมากกว่าข้าราชการอีก แต่ทำไมค่าแรงของพวกเรายังไม่ถึงครึ่งของพวกนั้นเลย" นี่คือหนึ่งในข้อความที่แรงงานในโรงเรียนของเกาหลีใต้ต้องการสื่อความทุกข์ร้อนของตัวเอง

แรงงานนอกระบบเกาหลีใต้ได้รับค่าแรงโดยเฉลี่ยร้อยละ 54 ของแรงงานเต็มเวลา ยิ่งอายุการทำงานของพวกเธอนานขึ้นก็ยิ่งทำให้มีช่องว่างรายได้ระหว่างแรงงานสัญญาจ้างสองแบบมากขึ้นเรื่อยๆ

ปากกึมจาบอกว่าการผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมของเธอไม่ใช่เรื่องง่าย การต่อสู้ของเธอเริ่มจากตั้งแต่ในบ้าน มีอยู่ครั้งหนึ่งเธอต้องพูดกับสามีและลูกๆ ของเธอพร้อมกันว่า "ตลอดหลายปีมานี้ฉันมีชีวิตเพื่อครอบครัวมาโดยตลอด ฉันไม่ได้มีชีวิตของตัวเองเลย ฉันต้องการสัก 1 ปี ที่จะมีชีวิตเป็นของตัวเอง ดังนั้นมาแบ่งงานบ้านกันทำเถอะ"

ความสำเร็จของแรงงานนอกระบบหญิง

แต่การต่อสู้ของเธอกับขบวนการแรงงานก็ส่งผลลัพธ์ ในกรุงโซลที่มีผู้นำฝ่ายการศึกษามีความคิดก้าวหน้าประกาศเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมาว่าจะการันตีให้มีความมั่นคงในการจ้างงานสำหรับแรงงานนอกระบบ รวมถึงให้มีการขึ้นค่าแรง เปลี่ยนสัญญาจ้างคนงานเหมาในโรงเรียนช่วงให้กลายเป็นพนักงานบริการในสัญญาจ้างทั่วไป และขยายโอกาสให้มีการต่อรองเพิ่มเติมในอนาคตแก่คนงานในภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

การที่ได้เข้าไปเจรจาต่อรองกับกระทรวงศึกษาธิการระดับประเทศถือเป็นความสำเร็จของการนัดหยุดงานในครั้งนี้ มีการคำนึงถึงสภาพการจ้างที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่โดยวิธีการรับฟังเสียงสะท้อนจากแรงงานในเมืองหรือในจังหวัดอื่นๆ การร่วมมือกันต่อรองในระดับชาติทำให้ลดภาระแรงงานในระดับประเทศไม่ให้ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว

อย่างไรก็ตามซองจองริมประธานสหภาพ NSIWU ก็บอกว่าการต่อสู้นี้ยังเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น พวกเขาต้องการต่อสู้เพื่อขจัดสภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคงให้หมดไปจากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนทางอันยาวไกล

หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในช่วงคริสต์ทศวรรษ 90s ก็ส่งผลกระทบถึงเกาหลีใต้ ทำให้เกิดช่องว่างทางชนชั้นในเกาหลีใต้มากขึ้น รวมถึงนโยบายแบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เองก็ทำให้ทั้งรัฐบาลอนุรักษ์นิยมและรัฐบาลเสรีนิยมทำให้การคุ้มครองแรงงานแย่ลง ทำให้ชนชั้นกลางในเกาหลีใต้ลดลง เอื้อประโยชน์ต่อพวกนักธุรกิจใหญ่ไม่กี่คนเท่านั้น ขณะที่แย่งชิงขูดรีดเอาจากแรงงานนอกระบบ

 

เรียบเรียงจาก

The “Mad Bitches” of S. Korea’s Irregular Workforce Fight Back, Korea Expose, 07-09-2017

Women Workers and the Fight to Eradicate Precarious Labor in South Korea, Zoom in Korea, 28-08-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net