Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประยุทธ์ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ พร้อม หารือร่วมกับ โดนัลด์ ทรัมป์ 30 นาที ยันปีหน้าประกาศวันเลือกตั้ง ระบุซื้ออาวุธทำตามแผนกองทัพ พร้อมฝากดูเรื่องคุณภาพด้วย

ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล
 
3 ต.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30 ก.ย. - 5 ต.ค. 2560  โดย พล.อ.ประยุทธ์ และนราพร จันทร์โอชา ภริยา เดินทางถึงทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา  เวลา 12.20 น. ของวันที่ 2 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยา ให้การต้อนรับ จากนั้น เวลา 12.40 น. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำนายกรัฐมนตรีเข้าห้องทำงานรูปไข่ เพื่อร่วมหารือสองต่อสอง โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที 
 
พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ลาสเวกัส และพายุเฮอร์ริเคน และเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำพาของประธานาธิบดีทรัมป์  จะทำให้การคลี่คลายปัญหาเป็นไปด้วยดีและรวดเร็ว และว่า การพบกันวันนี้ หารือกันในหลายประเด็น ทั้งด้านความมั่นคง ภัยคุกคาม และประเด็นที่มีความสำคัญในภูมิภาค รวมถึง การค้าการลงทุน การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน  
 
ด้าน ทรัมป์ แสดงความยินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ พร้อมพูดถึงความพร้อมในการขยายความร่วมมือทางด้านการค้าระหว่างกัน เพราะเห็นว่าไทยมีศักยภาพด้านทรัพยากรต่าง ๆ และวัตถุดิบ รวมทั้ง ได้พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และว่า จะไปเยี่ยมผู้ประสบเหตุพายุเฮอร์ริเคนในวันที่ 3 ต.ค. และจะเดินทางไปลาสเวกัสในวันที่ 4 ตุลาคม  
 
จากนั้น เวลา 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริการ่วมหารือกับนายกรัฐมนตรี  แบบเต็มคณะ ในรูปแบบการหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน หรือ working Lunch  โดยมีรัฐมนตรีและผู้บริหารเข้าร่วม อาทิ สมคิด จาตุศรรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

คนแรกในรอบ 12 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ถึงการเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ว่า เป็นการเยือนของผู้นำประเทศไทยในรอบ 12 ปี ซึ่งรู้สึกประทับใจในการต้อนรับของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เป็นไปอย่างอบอุ่น ผู้นำสหรัฐฯ ได้แสดงความเสียใจต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของโลก และครองราชย์มายาวนานถึง 70 ปี

ยันปีหน้าประกาศวันเลือกตั้ง

“ในการพบปะหารือกันในครั้งนี้  ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้สอบถามถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย แต่ผมได้เล่าให้ฟังถึงการเดินหน้าประเทศไทย ว่าเป็นไปตามหลักสากล โดยจะเดินตามโรดแมปที่ประกาศไว้  โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง และในปีหน้า จะประกาศวันเลือกตั้งอย่างแน่นอน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการหารือกันแบบสองต่อสอง  ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายคาดหวังว่า จะมีความร่วมมือกันให้มากขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคงภายในประเทศและในภูมิภาค การค้า การลงทุน การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน
 
“ในระหว่างการหารือ ไม่ได้ถูกกดดันใด ๆ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้เกียรติกับผมและประเทศไทย จึงถือโอกาสนี้เชิญผู้นำสหรัฐฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อมีโอกาส” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
ส่วนการหารือแบบเต็มคณะระหว่างไทยกับสหรัฐฯ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้พูดคุยกันในรายละเอียดถึงการเสริมสร้างความมั่นคงภายในและในภูมิภาค ทั้งการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึง ภัยในโลกไซเบอร์ ว่าจะร่วมมือกันอย่างไร โดยเฉพาะความร่วมมือกันด้านข่าวกรอง และการดูแลความปลอดภัยตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือในทุกประเด็น รวมทั้ง ข้อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ในด้านความมั่นคงด้วย ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้ขัดข้อง
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ยังได้มีการพูดคุยกันถึงการค้าและการลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน  ขณะเดียวกัน  ฝากผู้นำสหรัฐฯ ดูแลนักลงทุนไทยกว่า 20 บริษัทที่มาลงทุนในสหรัฐฯ และสิ่งที่ได้เน้นย้ำในการพูดคุยคือ ความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร เพื่อหามาตรการในการเพิ่มราคาให้มากขึ้น ถือเป็นการดูแลเกษตรของไทย

ซื้ออาวุธทำตามแผนกองทัพ พร้อมฝากดูเรื่องคุณภาพด้วย

ต่อกรณีที่มีความเป็นห่วงเรื่องการตกลงซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล เพราะการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพในระยะ 5-10 ปี ซึ่งต้องมาพิจารณาว่า จะจัดซื้อยุทโธปกรณ์ใดจากสหรัฐฯ ได้บ้าง รวมทั้งต้องดูในเรื่องงบประมาณ ขณะเดียวกัน ได้ขอให้สหรัฐฯ ดูแลเรื่องคุณภาพที่สูง ในราคาที่จำกัด
 
ส่วนสถานการณ์เกาหลีเหนือนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้ยืนยันกับผู้นำสหรัฐฯ ว่า จะดำเนินการทุกอย่างตามพันธกรณี รวมถึง ยืนยันความพยายามที่จะดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อยในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา โดยสนับสนุนให้แก้ปัญหาภายในให้ได้โดยเร็วและได้มีการประสานกับผู้นำเมียนมาไปแล้ว

ประวิตร บอกไม่มีการพูดถึงการซื้ออาวุธ

ขณะที่ คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า คงมีการพูดคุย การร่วมมือเรื่องความมั่นคงระหว่างสองประเทศ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้  ร่วมทั้งพูดคุยเรื่องความร่วมมือเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะสหรัฐฯไม่ให้เราซื้อนานแล้ว ตอนนี้เขาให้เราซื้อได้ และจากการสอบถามนายกฯ ระบุว่าสหรัฐฯให้การต้อนรับอย่างดีมีการพูดคุยระหว่างผู้นำประมาณ 40 นาที โดยไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการจัดซื้ออาวุธ ส่วนสหรัฐฯจะมีข้อเสนออะไร อย่างไรนั้น ตนยังไม่ได้พูดคุยในรายละเอียดกับพล.อ.ประยุทธ์เล่าเพียงบรรยากาศ  แต่ระหว่างการพูดคุยระหว่างผู้นำคงมีการพูดคุยเท่าที่สื่อมวลชนรู้กันอยู่

ลดแรงกดดันด้านเศรษฐกิจ

บีบีซีไทยได้ประมวลท่าทีของสื่อนอกและสื่อไทยด้วย โดบระบุว่า หลายรายมองว่านโยบายด้านการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทรัมป์เริ่มเด่นชัดขึ้นมาก และการผูกสัมพันธ์กับอาเซียนก็เป็นเป้าหมายสำคัญของสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาค ภายหลังจากจีนได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในเขตนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ได้รับการวิเคราะห์ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เพราะปกติสหรัฐฯ จะไม่เชิญหรือแสดงความใกล้ชิดกับประเทศที่มีรัฐบาลที่มาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งมีการละเมิดเสรีในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเห็นชัดในรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยไม่ราบรื่นนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเป็นต้นมา
 
ส่วนความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจนั้น ข้อมูลจากระทรวงพาณิชย์ระบุว่าปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น มูลค่าการค้า 2 ฝ่ายในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. ปีนี้นั้นมากกว่า 9 แสนล้านบาท

เมื่อเดือน เม.ย. ไทยถูกจัดอยู่ในรายชื่อ 15 ประเทศที่อาจมีพฤติกรรมการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ เพราะได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจตอบโต้ทางการค้าด้วย ขณะที่ทางการไทยพยายามบอกว่าการเดินทางไปครั้งนี้ เพื่อนำนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนเพิ่มในสหรัฐฯ จากปัจจุบันลงทุนอยู่แล้ว 23 บริษัท มูลค่าการลงทุนรวม 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแผนเพิ่มการลงทุนอีกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างงานในสหรัฐฯ อีกมากกว่า 8,000 ตำแหน่ง และคาดว่าจะสามารถลดแรงกดดันเรื่องการค้าจากสหรัฐลงไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เรื่องการเลือกตั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับต่างประเทศนั้น มีการขยับมาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อ 10 ก.พ.59 ขณะเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่าคาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปี 2559 ต่อมา 28 ก.ย.58 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในการหารือกับเลขาฯยูเอ็น ว่า คาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net