Skip to main content
sharethis

ศาลศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ยกฟ้อง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' คดีร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุม นปช. ปี 53 ระบุไม่อยู่ในอำนาจของศาล สุเทพไม่หวั่น อโหสิกรรม ณัฐวุฒิ จ่อร้อง ป.ป.ช. ให้นำคดีนี้พิจารณาขึ้นมาใหม่

ที่มาภาพ : Banrasdr Photo 

31 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (31 ส.ค.60) ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องสำนวนคดีที่ อัยการ ฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ กับสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึง 19 พ.ค. 2553

ข่าวสดออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ศาลเห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่า อภิสิทธิ์ และสุเทพ ได้ออกคำสั่ง ศอฉ. กระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม แต่เป็นการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้
 
สุเทพ กล่าวว่า คดีนี้เกิดขึ้นสมัยที่ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ซึ่งได้สั่งฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่ามีการใช้อาวุธสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ตัวเองก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดถึงดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ด้วย เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ ได้มอบหมายให้ตัวเองเป็นผู้อำนวย แก้ไขปัญหาด้วยความเรียบร้อย และคดีนี้ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ได้มีคำสั่งยกฟ้องไม่รับสำนวนไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.
 
ส่วนกรณีที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ยื่นคำร้องถึง ป.ป.ช. ให้นำคดีนี้พิจารณาขึ้นมาใหม่นั้น สุเทพ  เห็นว่า ณัฐวุฒิ จ้องเล่นงานตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร อโหสิกรรม
 
สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 57 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีดังกล่าวไปแล้ว โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม (อ่านรายละเอียด)
 
จากนั้นเมื่อคดีดังกล่าวถูกศาลพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไข นั้น กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ต่อมาเมื่อวันที 29 ธ.ค.58 ป.ป.ช. ได้มีมติให้ คำร้องตกไป กรณีการขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหา อภิสิทธิ์ สุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กับพวก ในข้อหา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ปี 53 ดังกล่าว (อ่านรายละเอียด)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net