Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนฯ ร้องกระทรวงทรัพย์ฯ ค้านแก้ ก.ม.สิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่ ยัด ม.44 อนุญาตให้เอกชนดำเนินโครงการก่อน EIA ผ่าน อัดไม่เป็นไปตาม รธน. ม.77 ขาดการรับฟัง ระยะเวลาแสดงความคิดเห็นสั้น ช่องทางมีเพียงแค่เว็บไซต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.ค.60) เมื่อเวลา 9.30 น. ที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีตัวแทนประกอบด้วย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล สมนึก จงมีวศิน สุวิทย์ กุหลาบวงค์ และสุภาภรณ์ มาลัยลอย อ่านแถลงการณ์และมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์ กรณีการแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ของประกาศกระทรวงว่าด้วยการจัดทำรายงานอีไอเอ

เวลาประมาณ 10.10 น. ตัวแทนได้เข้าเจรจากับ สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะ เกี่ยวกับการแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นต้น เนื่องจากกระบวนการจัดทำ EIA ไม่ดำเนินการอย่างถูกต้อง จนก่อให้เกิดความขัดแย้งหลายกรณี

โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

1.มาตรา 44 ที่ใช้ออกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 คือการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการตามโครงการก่อนที่ EIA จะผ่าน ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับใหม่)

กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเสนอให้ตัดมาตรา 53 วรรค 4 ออกจากร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ..... หรือก็คือเป็นวรรคที่นำคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 มาบัญญัติไว้ เปิดช่องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อันเป็นการเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 58 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนก่อน อันเป็นการลดทอนไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอนของ EIA ตามหลักป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle)

2.กระบวนการจัดทำ EIA ไม่เป็นไปตามมาตรา 77 ที่กฎหมายทุกฉบับต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง แต่กลับขาดการรับฟัง ระยะเวลาแสดงความคิดเห็นสั้น ช่องทางมีเพียงแค่เว็บไซต์ ไม่เหมาะกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็น

โดยมาตรา 77 กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของการรับฟังความคิดเห็นไว้ว่า ให้หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน ผลปรากฏว่าหน่วยงานรัฐจำนวนมากเร่งดำเนินการนำร่างกฎหมายเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วยหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าว โดยไม่สนใจว่าจะเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงหรือไม่

การรับฟังความคิดเห็นของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ..... ที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา เป็นการขาดการรับฟังความคิดเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย โดยที่รัฐเป็นผู้ร่างกฎหมายอยู่ฝ่ายเดียว และนำมารับฟังความคิดเห็นเมื่อร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว และด้วยระยะเวลาแสดงความคิดเห็นที่สั้น ช่องทางการแสดงความคิดเห็นที่แคบ ตลอดจนไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นในด้านต่างๆ เช่น สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาของกฎหมายดังกล่าว  หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ปัญหานั้น  ประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นหรือร่างพระราชบัญญัติที่จะรับฟังความคิดเห็น

ดังนั้น กระบวนการร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ..... ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วนั้น สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

3.การลดทอนคำว่า 'ดำเนินการ' ในรัฐธรรมนูญ ให้เหลือเพียงแค่ 'โครงการหรือกิจการ' ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับใหม่) และโครงการใดจัดทำ EIA และ EHIA ผ่านแล้ว โครงการที่มีลักษณะคล้ายกันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องทำ EIA และ EHIA อีก

ตามที่มาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ ดำเนินการ อันจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบ ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

แต่ตามมาตรา 50 ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ... กำหนดว่า กรณีที่โครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดใดหรือที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใด มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้รับความเห็นชอบแล้ว และเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดเดียวกันหรือในพื้นที่ลักษณะเดียวกันนั้น และรัฐมนตรีสามารถประกาศกำหนดให้โครงการหรือกิจการ ในทำนองเดียวกันถือปฏิบัติโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ได้ ตลอดจนการให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายนำมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้สำหรับโครงการหรือกิจการที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต โดยให้ถือเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายในเรื่องนั้นด้วย

ซึ่งการกำหนดเพียงโครงการหรือกิจการเท่านั้นถือเป็นการลดทอนสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้แคบลง อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงการดำเนินการของรัฐที่อาจเกิดผลกระทบขึ้น อีกทั้งยังขาดรายละเอียดในการกำกับการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นการเขียนอำนาจลอยไว้ โดยไม่มีการกำหนดให้ชัดเจน ควรจะมีการออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับหลักเกณฑ์ต่างๆ และต้องกำหนดรายละเอียดเงื่อนไข เพื่อกำกับการใช้อำนาจรัฐไว้ เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิกระบวนการทางศาลตรวจสอบได้ หากว่าไม่เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้ เช่น

-การไม่เปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ชุมชนได้รับทราบ ซึ่งต้องกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการพิจารณารายงาน EIA ว่าต้องเปิดเผยรายงานให้ชุมชนได้รับทราบด้วย

-มีการหลบเลี่ยงการทำ EIA เช่น กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นกำหนดขนาดที่ต้องจัดทำ EIA อยู่ที่ขนาด 10 เมกะวัตต์ แต่กลับพบว่าบริษัทผู้ประกอบการหลบเลี่ยงการทำ EIA โดยยื่นขออนุญาต เป็นขนาด 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อหลบเลี่ยงการจัดทำ EIA

ดังนั้น มาตรา 50 ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ..... จึงเป็นการบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

4.ระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นอกจาก EIA และ EHIA ควรเพิ่ม SEA ด้วย

ระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตอนนี้มีเพียงแค่ 2 ระบบคือ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(Environmental Impact Assessment-EIA ) และ กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment–EHIA)

ภาคประชาชนเห็นว่า ควรมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถช่วยให้เห็นถึงความเหมาะสมกับพื้นที่และเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ โดยลักษณะของโครงการพัฒนาต้องสอดคล้องกับ SEA ของแต่ละพื้นที่และการเกิดขึ้นของโครงการจะต้องมีการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ก่อนว่าสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่หรือไม่ หากว่าสอดคล้องจึงค่อยมีการจัดทำรายงาน EIA/EHIA หากไม่สอดคล้องต้องไม่ดำเนินการโครงการนั้น

5.องค์กรบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรแยกเป็นหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานกลาง ไม่ใช่การว่าจ้างโดยเจ้าของโครงการตามที่ปฏิบัติในปัจจุบัน เพราะจะทำให้เกิด Conflict of Interest (ผลประโยชน์ขัดกัน) โดยมีหลายกรณีที่บริษัทผู้ถูกจ้างให้มาทำ EIA จะได้รับค่าจ้างครบเมื่อ EIA ผ่านเท่านั้น

ในส่วนของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณาอนุมัติรายงาน จะต้องมีองค์ประกอบที่เท่าเทียมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ และอาจมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการในระดับพื้นที่ เช่น คณะกรรมการผู้ชำนาญการในระดับจังหวัด

 

ประสิทธิ์ชัย หนึ่งในแกนนำกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ต้องบอกว่าล้าหลัง การคิดจะเอามาตรา 44 มาใส่ไว้ใน พ.ร.บ. ก็ล้าหลัง ถ้าสมมติเป็นร่าง พ.ร.บ. ของกระทรวงอุตสาหกรรมก็อาจจะไม่แปลกใจ แต่มันเป็นร่างของกระทรวงสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม แต่ก็เอาสิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาบรรจุไว้ในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการเจรจาระหว่างเครือข่ายฯ กับตัวแทนกระทรวงทรัพย์ฯ สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ รับปากว่าจะรับข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณา

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนหน้านี้สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ แจ้งเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า ห้ามชุมนุมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุขัด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ให้ตัวแทนยื่นหนังสือแทน แต่ผู้จัดยังยืนยันจัดกิจกรรมตามเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net