Skip to main content
sharethis

บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด ‘แผ่นดินจึงดาล’ นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ ‘แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ’ เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร

บทสัมภาษณ์ อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชิ้นนี้ เขาถอยกลับไปวิเคราะห์กติกาการเข้าสู่อำนาจการเมืองตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจนถึงรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อจะฉายภาพรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และปฏิกิริยาลูกโซ่จากกติกาการเมืองชุดนี้

หากจะกล่าวสรุปรัฐธรรมนูญ 2560 ในวลีเดียว ก็คงได้ว่า ‘ปิดกั้นเจตนารมณ์ของประชาชน’ เพราะด้วยกลไกต่างๆ ที่ คสช. แทรกใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้เสียงของประชาชนสะท้อนผ่านการเลือกตั้ง อภิชาตไม่เชื่อว่าการถอยหลังกลับไปสู่รัฐราชการตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะรับมือได้

แต่ถามว่าจะเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่ อภิชาตตอบเจือเสียงหัวเราะว่า ไม่เกิด เพราะการรัฐประหารได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เรียบร้อยแล้ว

กติกาการเมืองกำหนดผลงานของรัฐ

ย้อนกลับไปก่อนว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นด้วยเหตุผลอะไร ตอนนั้นสังคมกรุงเทพฯ มีฉันทามติว่าต้องการการปฏิรูปทางการเมือง คุณอานันท์ ปันยารชุน ชูธงเขียวว่าต้องการปฏิรูป โดยวิเคราะห์สาเหตุที่ต้องปฏิรูปว่า เพราะการเมืองไทยอ่อนแอ การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนั้นที่มีคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นเลขาฯ มีคำขวัญทำนองว่า ปิดทุจริต เปิดประสิทธิภาพ สร้างภาวะผู้นำ เป็นไกด์นำทางการร่างรัฐธรรมนูญว่าต้องการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ เราก็ได้ทักษิณ ชินวัตร มา เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทยตั้งแต่ปี 2475 มาจากการออกแบบโดยจงใจ

ร่างกติกาเพิ่มอำนาจให้กับรัฐบาลชัดเจนมาก เขาก็รู้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจมากขึ้น เมื่อมีอำนาจมากขึ้นก็ต้องมีการตรวจสอบที่เข้มแข็งขึ้น จึงเป็นครั้งแรกที่มีองค์กรอิสระทั้งหลายขึ้นเพื่อคานอำนาจที่มากขึ้นของฝ่ายบริหาร อาจจะบอกได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างน้อยประสบความสำเร็จครึ่งหนึ่งคือครึ่งที่สร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่ฝ่ายตรวจสอบมีข้ออ่อนในทางปฏิบัติที่ถูกทักษิณไปถอดรื้อบางส่วนออก เป็นที่ทราบกันดีอยู่

การจะสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง เขาวิเคราะห์ปัญหาอย่างไร ปัญหาหลักของฝ่ายบริหารที่ไม่เข้มแข็งก่อนปี 2540 ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ นับจากปี 2521 ซึ่งเป็นต้นแบบ แล้วก็มีแก้ไขบ้าง แล้วก็ปี 2534 ก็เกิดรัฐประหารโดย รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) แต่หลักๆ แล้วกติกาการเมือง โดยเฉพาะการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองหรือระบบพรรคการเมืองไม่ได้ถูกเปลี่ยนอย่างสำคัญก่อนปี 2540 ดังนั้น จึงสังเกตได้ว่าก่อนปี 2540 การเลือกตั้งทุกครั้งไม่เคยชนะกันแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พรรคที่ชนะที่ 1 ก็ชนะได้ ส.ส.เพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยมีพรรคไหนที่ได้ ส.ส. เกิน 30 เปอร์เซ็นต์เลยด้วยซ้ำ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลังเลือกตั้งเราจะมีรัฐบาลผสม แล้วไม่ใช่ผสมแค่สองสามพรรค แต่หลายพรรค ห้าหกเจ็ดพรรค มันเป็นเพราะกติกาทางการเมืองหลายแบบที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสม

รัฐธรรมนูญ 2560 ปิดกั้นการแสดงเจตนารมณ์เจตนารมณ์ของประชาชน

ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ของคุณมีชัยคือสัดส่วนผสม กลไกมันจะเข้าข้างพรรคขนาดกลาง เรามี ส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์ แต่มีบัตรใบเดียว จะทำให้พรรคโคราช บุรีรัมย์ ได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างบุรีรัมย์ในการเลือกตั้งครั้งก่อน พรรคภูมิใจไทยของคุณเนวิน ชิดชอบ ได้ไป 7 ที่นั่ง เสีย 2 ที่นั่งให้พรรคเพื่อไทย แต่คะแนน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทยสูงกว่าเป็นแสนคะแนน ในระบบบัตร 2 ใบ พรรคที่มีภูมิภาคนิยมแคบๆ พวกนี้จะไม่ได้ประโยชน์จากปาร์ตี้ลิสต์ แต่ระบบคุณมีชัยจะทำให้พรรคขนาดกลางได้คะแนนเพิ่มขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เพราะส่งตัวแทนไปแข่งในพื้นที่อื่นๆ ก็จะได้ที่สอง ที่สาม ที่สี่ แล้วเอาตรงนั้นมาคำนวณเป็นคะแนนส่วนหนึ่งของปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้พรรคขนาดกลางอยู่รอดได้มากขึ้น

ระบบเลือกตั้งของคุณมีชัยทำให้เจตนารมณ์ของการเลือกตั้งไม่มีความหมายเลย กลายเป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองล้วนๆ หนึ่ง-แทนที่จะสะท้อนเจตนารมณ์เจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนน สามารถเลือกคนที่รัก พรรคที่ชอบได้ ทำไม่ได้แล้ว เกิดการขัดกัน ถ้าคุณชอบนโยบายพรรค ก. แต่ผู้แทนพรรค ก. ในเขตคุณไม่ได้เรื่อง ในอดีตคุณก็ไปเลือกผู้แทนพรรค ข. แล้วไปเลือกปาร์ตี้ลิสต์พรรค ก. ตอนนี้จะทำไม่ได้ เพราะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ก็เท่ากับปิดกั้นการแสดงเจตนารมณ์เจตนารมณ์ของประชาชน

ไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง

ต่อให้เลือกนายกฯ คนนอกไม่สำเร็จ เขามีสองกลุ่มที่จะคานอำนาจ หนึ่ง-ส.ว.แม้มีอำนาจน้อยกว่า ส.ส. แต่เป็นเอกภาพกว่า สอง- คือองค์กรอิสระที่เพิ่มอำนาจหนักกว่าปี 2550 ต่อให้ไม่เป็นนายกฯ คนนอก นักการเมืองจะทำอะไรก็ต้องหันซ้ายหันขวาอยู่ตลอดเวลาว่า ส.ว. ว่าอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่พูดกันคือรัฐบาลจะต้องรายงานผลการปฏิรูปประเทศทุกๆ 3 เดือนให้ ส.ว. ทราบ ว่าได้ทำตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ เท่าไร อันนี้คืออะไร การรายงานทุกๆ สามเดือนก็คือการเปิดประเด็นทางการเมืองได้ทุกๆ สามเดือน เขี่ยลูกได้ทุกๆ สามเดือน หลักคือ ส.ว.ที่เป็นกลุ่มก้อนจะมีอำนาจสูง เป็นพรรคคนนอก ก็กลับไปเป็นแบบ ส.ว.ในระบบปี 2521 ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่มีอำนาจในการตรวจสอบคนที่มาจากการเลือกตั้ง

ส.ว.ก็คือพรรคข้าราชการ วาระของ คสช. ซึ่งก็คือตัวแทนของระบบราชการทั้งหมด รัฐธรรมนูญปี 2521 ที่ว่าครึ่งใบ อีกครึ่งหนึ่งก็คือข้าราชการ อันนี้ก็แสดงออกผ่าน ส.ว. รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องรายงานผลต่อพรรคราชการทุกสามเดือน

ทั้งหมดนี้จะผลิตรัฐบาลผสมที่มีความอ่อนแอ อายุสั้น ไม่ต้องพูดถึงปัญหายากๆ อย่างการปฏิรูประบบการศึกษาที่ต้องใช้เวลาหลายปี แต่รัฐบาลก็มีเวลาอย่างมากแค่สองปี แล้วจะคิดแก้ปัญหายากๆ อย่างปฏิรูปการศึกษาไหม ก็ไม่คิด คุณก็หาเรื่องเฉพาะหน้าทำไปก่อนดีกว่า ก็กลับไปเป็นรัฐบาลอ่อนแออีกครั้งหนึ่ง ล้มง่าย อายุสั้น ผลักดันงานไม่สำเร็จ

รัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ

ส่วนการรัฐประหาร มันไม่มีความจำเป็นในทางรัฐธรรมนูญที่จะต้องรัฐประหารอีกแล้ว (หัวเราะ) มัน Institutionalize การรัฐประหารเข้าไปแล้ว ถ้าพูดแบบเกษียร เตชะพีระ ก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันได้สร้างกลไกที่เป็น Final Say ขึ้นมาแล้ว ความจำเป็นที่จะรัฐประหารเพื่อสถาปนานายกฯ คนนอก มันไม่จำเป็นแล้ว

สิ่งที่เราพอจะทำได้คือต้องสู้ในพื้นที่สิทธิเสรีภาพ อันนี้คือพื้นฐานที่สุด ถ้ามันเปล่งเสียงไม่ได้ก็จบ จะทำยังไงให้เปล่งเสียงได้ อันนี้สำคัญที่สุด แต่อย่าลืมตอนนี้ก็มี พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะออกมา คงต้องสู้แบบการขยายพื้นที่สิทธิ

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net