Skip to main content
sharethis

ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน 86 คดี 119 ผู้ต้องหา/จำเลย ขอ คสช.ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ยกเลิกและยุติการใช้ ม. 44 คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว จัดให้มีการเลือกตั้ง มีการร่างรธน.ซึ่งมีที่มาจากประชาชน

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่วิดีโอคลิปและบทวิเคราะห์ 2 ปีรัฐประหาร ตั้งชื่อ "พรางอำนาจปืนในรูปกระบวนการยุติธรรม" โดยระบุว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลังรัฐประหารสำเร็จ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ถูกชี้นำบงการโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. )และฝ่ายทหาร เป็นเครื่องมือที่ช่วยปรับภาพลักษณ์ให้กับการใช้อำนาจของ คสช. ทำให้ภาพการปกครองของ คสช. เป็นการปกครองโดยกฎหมายหรือนิติรัฐในทางรูปแบบ แต่หากพิเคราะห์ในทางเนื้อหาของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว รวมทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราว จะพบความบิดเบือนหลักการและความบกพร่องของกระบวนการหลายประการ ที่ทำให้เห็นว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีสถานะเป็นเพียงส่วนประกอบของกลไกการกดบังคับที่ คสช. ใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ขณะนี้ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 86 คดี รวมผู้ต้องหาหรือจำเลยจำนวน 119 คน
 
นอกจากคดีที่ศูนย์ทนายความฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแล้ว ตลอดสองปีที่ผ่านมา ยังมีผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกเป็นจำนวนมาก โดยพบว่านับตั้งแต่มีการรัฐประหารจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2559 เจ้าหน้าที่ทหารเรียกบุคคลมารายงานตัว หรือเรียกไป “ปรับทัศนคติ” ในค่ายทหาร อย่างน้อยจำนวน 1,006 คน เจ้าหน้าที่แทรกแซงหรือปิดกั้นไม่ให้มีงานเสวนาหรือกิจกรรมสาธารณะเกิดขึ้นอย่างน้อยจำนวน 130 งาน และมีการจับกุมควบคุมตัวบุคคลภายใต้กฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อย่างน้อย 579 คน
 
รายงานชิ้นนี้นำเสนอบทวิเคราะห์กลไกการใช้อำนาจของ คสช. ตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นทั้งเครื่องมือสำคัญในการควบคุมและรองรับอำนาจการปกครอง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดบังคับการแสดงออกทางการเมืองทุกประเภท และทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้อำนาจของ คสช. และเจ้าหน้าที่ทหารดำเนินไปอย่างเป็นระบบ โดยสามารถแบ่งกลไกเหล่านี้ออกเป็น 4 ประการหลักๆ ได้แก่ 1) การเรียกบุคคลรายงานตัวและการจับตาสอดส่องโดยรัฐ 2) การสร้าง “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรมที่ชี้นำโดยทหาร” 3) การใช้กฎหมายปกติและกฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมือง และ 4) การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 รองรับการใช้อำนาจให้ปราศจากการรับผิด (อ่านรายละเอียดได้ที่เว็บบล็อก ของศูนย์ทนายความฯ คลิก)
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ขอยืนยันให้ คสช. ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และคืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว จัดให้มีการเลือกตั้ง และมีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net