Skip to main content
sharethis

14 ม.ค. 2559 ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำนั้น วันนี้(14 ม.ค.59) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพารา กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมมีมติรับซื้อยางแผ่นดิบจากเกษตรกรโดยตรง ในราคากิโลกรัมละ 45 บาท ในปริมาณ 1 แสนตัน ส่วนยางอื่น เช่น น้ำยางสด ยางก้นถ้วย จะรับซื้อในราคาลดหลั่นตามที่เคยรับซื้อมา พร้อมยืนยันว่าราคาที่รับซื้อ เป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ

“การรับซื้อยางครั้งนี้ มอบหมายให้องค์การคลังสินค้า คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ คสช.ทำหน้าที่ในการรับซื้อ โดยใช้เงินของกองทุน กยท.ในการรับซื้อ และยืนยันว่ายางที่รับซื้อมาจะไม่นำไปเก็บไว้  แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะรับไปดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม จะนำมติของที่ประชุมในวันนี้ (14 ม.ค.) เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณางบประมาณทั้งหมดที่จะใช้ในการรับซื้อ ทั้งนี้ในปริมาณที่กำหนดไว้ 1 แสนตัน แต่หากยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็พร้อมที่จะรับซื้ออีก” พล.อ.ประวิตร กล่าว

ต่อกรณีคำถามถึงมาตรการครั้งนี้จะทำให้ราคายางในตลาดเพิ่มสูงขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง วันนี้ราคายางก็เพิ่มขึ้นมา 2 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าหลังจากมาตรการของรัฐบาลออกไป ราคาจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด

แกนนำชาวสวนยางขีดเส้นตาย 30 วัน แก้ราคายางให้ตรงจุด ย้ำ 60 บาท สมต้นทุนเฉลี่ย

โดยก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 12.13 น. ที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายกิตติศักดิ์ วิโรจน์ นายกสมาคมเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี พร้อมคณะทำงาน ได้ออกแถลงการณ์และยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายชวลิต พลไทย หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้แก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
 
ทั้งนี้ จำนวน 4 ข้อ คือ1. รัฐบาลควรเปลี่ยนแนวทางในการมุ่งเน้นการรับซื้อเฉพาะยางแผ่นมาเป็นเศษยาง(ขี้ยาง) และน้ำยางพาราแทน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือชาวสวนยางรายย่อย
 
2. รัฐบาลควรกำหนดราคารับซื้อยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 60 บาท เพราะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลกับราคาต้นทุนเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มปลูกซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 64.21 บาท และควรปรับขึ้นราคาน้ำยางสดและเศษยางตามระดับราคาที่เหมาะสม โดยกำหนดราคาน้ำยางสดที่กิโลกรัมละ 55 บาท เศษยางกิโลกรัมละ 30-32 บาท
 
3. รัฐบาลควรเพิ่ม”หน่วยรับซื้อยางพารา”ที่กระจายไปยังอำเภอต่าง ๆ โดยไม่ระบุเฉพาะตลาดกลางเพียงอย่างเดียว เพื่อสร้างช่องทางให้เกษตรกรรายย่อยและให้เกิดความโปร่งใสและควรระบุระยะเวลาในการรับเงินไม่เกิน7วัน หลังการรับซื้อ ทั้งนี้ไม่ควรจำกัดผู้มีสิทธิขายยางว่าต้องเป็น”ผู้มีเอกสารสิทธิ”เท่านั้น
 
และ 4.รัฐบาลควรกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรร่วมกับชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ในการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงประเด็นและเป็นรูปธรรม
 
นายกิตติศักดิ์  กล่าวว่า ทางแกนนำให้เวลารัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภายใน30วัน หากไม่ได้รับตอบสนองจะมีการเคลื่อนไหวต่อแต่อยู่ในกรอบของกฎหมาย ทั้งนี้ จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 12ม.ค.59 ที่มีมติรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรง1แสนตันนั้นแนวคิดดังกล่าวนั้นไม่ถึงมือเกษตรกรรายย่อย เพราะกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์มีเพียง 3 กลุ่มคือ สถาบันเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ,กลุ่มนายทุนที่มีโรงรมควันยางพาราและกลุ่ม5เสือยางพาราในประเทศไทยโดยที่กลุ่มรายย่อยไม่ได้รับผลประโยชน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net