Skip to main content
sharethis

กฟผ. เล็งเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน หาทางเพิ่มผลตอบแทนให้ประชาชนโดยรอบ ย้ำแสดงความตั้งใจในการดูแลชุมชน ด้านเครือข่ายปกป้องอันดามัน ยันจุดยืนไม่เอาโรงไฟฟ้า หากรัฐบาลไม่ฟัง ต้องรับสภาพ ในการเผชิญกับความขัดแย้งขนานใหญ่

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2558 Green News TV รายงานว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ขนาด 870 เมกะวัตต์ ต่อไป แม้ว่าที่ประชุมไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วย 1.ภาคประชาชน 2.กระทรวงพลังงานและกฟผ. 3.สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะยังไม่ได้ข้อสรุป

ล่าสุด พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ได้สั่งให้ กฟผ.พิจารณาหากแนวทางเพิ่มผลตอบแทนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบ พื้นที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อแสดงถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการดูแลชุมชน ซึ่งจะทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้นเมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2015) อย่างไรก็ตามจะฟังเสียงประชาชนในพื้นที่มากที่สุด และต้องหาแนวทางการเพิ่มผลตอบแทนให้มากกว่านี้

รัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดำเนินการ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในลักษณะของงบประมาณหรือรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น ซึ่งอาจมีการขยายพื้นที่เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสใช้เงินในกองทุนโรงไฟฟ้าได้ มากขึ้น

ทั้งนี้ ตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า กำหนดให้เจ้าของโรงไฟฟ้าต้องตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าโดย คำนวณเงินที่ต้องจ่ายจากเชื้อเพลิง ซึ่งถ่านหินจะต้องจ่ายในอัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วย เบื้องต้นโรงไฟฟ้ากระบี่จะมีกองทุนปีละไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท

“ทั้งหมดนี้เพื่อให้ทุกคนสบายใจว่าการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจะได้ประโยชน์อะไรกับชุมชนบ้าง” รัตนชัย กล่าว

ประสิทธิชัย หนูนวล ด้านขวา : เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ประกาศอดอาหารประท้วง ร้องรัฐยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ( 10 ส.ค. 2558 ภาพจากเพจ หยุดถ่านหินกระบี่)

ด้าน ประสิทธิชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า จุดยืนของเครือข่ายคือการไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะฉะนั้นการชดเชยใดๆ ก็ไม่มีความคุ้มค่าเพียงพอและยังไม่ใช่ทางออกของปัญหา ทางออกคือคณะกรรมการ 3 ฝ่ายที่ได้ตกลงกันไปตั้งแต่ต้น แต่เป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า

“ทางฝ่ายกระบี่ได้ส่งรายชื่อไปตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังการตกลง แต่ทราบมาว่าทาง กฟผ.เพิ่งจะส่งรายชื่อไปไม่นานนี้ ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ากำลังเคลียอะไรอยู่หรือไม่ ส่วนคำสั่งแต่งตั้งเขาบอกว่าจะเร่งภายใน ต.ค.นี้ ซึ่งจริงๆ การตั้งคณะกรรมการไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทำไมจึงปล่อยให้เนิ่นนานเช่นนี้” ประสิทธิชัย กล่าว

ประสิทธิชัย กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ที่มีการตกลงตั้งคณะกรรมการเป็นต้นมา กฟผ.  ได้มีการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพาไปดูงาน การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ การแจกสิ่งของ หรือกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ต่างๆ ที่ดำเนินการร่วมกับองค์กรอื่น เช่น อบต.

“ตอนนี้เรายังให้เกียรติรัฐบาลอยู่ แต่ก็เห็นอาการหลายๆ อย่างที่เริ่มแสดงถึงความไม่สุจริตต่อข้อตกลง การที่ รมว.พลังงานออกมาพูดเองเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าไม่เคารพในมติ ครม.ด้วย หากสุดท้ายแล้วรัฐบาลไม่สนใจในทางออกนี้ก็คงต้องรับสภาพ ในการเผชิญกับความขัดแย้งขนานใหญ่ เพราะยังไงคนอันดามันก็ไม่ยอม” แกนนำเครือข่ายฯ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net