Skip to main content
sharethis

พบผู้ใช้บริการมือถือค่ายทรูมูฟบางส่วนประสบปัญหา “ซิมดับ” หลังถูกโอนย้ายไปยังบริการทรูมูฟ-เอชโดยอัตโนมัติและถูกล็อกห้ามย้ายกลับหรือย้ายไปค่ายอื่นใน 90 วัน “หมอลี่” ชี้การโอนย้ายบริการเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องแสดงเจตนา การบังคับย้ายเสี่ยงผิดกฎหมาย

จากกรณีสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเครือข่ายทรูมูฟและดีพีซีหรือดิจิตอลโฟนกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน ศกนี้ โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่ กสทช. เรียกว่า “ประกาศห้ามซิมดับ”

ล่าสุด มีรายงานว่า เกิดปัญหา “ซิมดับ” ขึ้นแล้ว โดยพบผู้ใช้บริการของเครือข่ายทรูมูฟมีการร้องเรียนและการโพสต์ข้อความตามเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนมาก  ว่าประสบปัญหาไม่สามารถใช้บริการได้ตามปกติ บางกรณีไม่สามารถรับสายได้ บางกรณีใช้ไม่ได้ทั้งโทรออกและรับสาย ภายหลังจากที่ถูกโอนย้ายบริการไปยังเครือข่ายทรูมูฟ-เอช ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่มีการร้องเรียนและแสดงความคิดเห็นกันมาก เนื่องจากในการโอนย้ายดังกล่าวนั้น ทางผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการไม่ได้เป็นฝ่ายแจ้งความประสงค์ แต่เกิดจากการดำเนินการโดยอัตโนมัติของทางบริษัท

ทั้งนี้ ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางบริษัททรูมูฟ ได้เริ่มส่งข้อความสั้น (SMS) ถึงผู้ใช้บริการ แจ้งว่า ทาง กสทช. ได้กำหนดให้บริษัทแจ้งว่าการให้บริการของบริษัทในคลื่น 1800 MHz จะสิ้นสุดลง 15 ก.ย. 56 และจะใช้งานต่อได้ไม่เกิน 15 ก.ย. 57 และเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทจะดำเนินการอัพเกรดเลขหมายให้เป็นทรูมูฟเอชโดยอัตโนมัติก่อนวันสิ้นบริการ 15 ก.ย. 56 กรณีไม่ต้องการอัพเกรดจะต้องโทรแจ้ง ซึ่งต่อมาปรากฏข้อความลักษณะเดียวกันบนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทด้วย

เรื่องดังกล่าวมีการวิจารณ์จากผู้ใช้บริการอย่างกว้างขวาง ในประเด็นที่ว่าเป็นรูปแบบของการบังคับโอนย้ายโดยผู้บริโภคไม่ได้เลือก และโอนย้ายก่อนถึงวันสัมปทานสิ้นสุดลง ตลอดจนมีประเด็นกระทบถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ เช่น ผู้บริโภคต้องการใช้โปรโมชั่นเดิม หรือบางรายไม่ได้อยากใช้บริการของทรูมูฟเอชและพร้อมจะยุติการใช้บริการไปพร้อมกับการยุติบริการของทรูมูฟ เป็นต้น

ต่อเรื่องนี้ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับทราบเรื่องและได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. แล้ว เพื่อให้ตรวจสอบว่าการโอนย้ายผู้ใช้บริการโดยอัตโนมัตินั้นเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และสอดคล้องกับมติ กทค. หรือไม่ ตลอดจนให้สำนักงาน กสทช. กำหนดแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วย

“ในส่วนการวิเคราะห์ของผมเห็นว่าเรื่องการโอนย้ายอัตโนมัตินั้นขัดต่อประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม และเรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2549 เพราะไม่เป็นไปตามหลัก “เสนอสนองตรงกัน” ขณะเดียวกันก็ขัดต่อประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วย เพราะประกาศข้อ 6 ระบุชัดเขนว่า “การคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสิทธิของผู้ใช้บริการ” และข้อ 9 กำหนดว่า “ในการขอโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ผู้ใช้บริการยื่นคำขอ...” เพราะข้อกำหนดของบริษัทกลายเป็นว่า ใครไม่อยากถูกโอนย้ายต้องเป็นฝ่ายยื่นเรื่อง หากอยู่เฉยเท่ากับยอมรับการโอนย้ายอัตโนมัติ”

ประวิทย์ระบุด้วยว่า การกระทำดังกล่าวของบริษัทมีการอ้าง กสทช. ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง ทั้งที่ความจริงที่ กสทช. ให้ทำคือให้แจ้งเรื่องวันสิ้นสุดสัมปทานและแจ้งสิทธิการโอนย้าย นอกจากนี้ในการพิจารณากรณีร่างประกาศเรื่องนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ก็ยืนยันหลักการโอนย้ายตามความสมัครใจของผู้บริโภคมาโดยตลอด การกระทำดังกล่าวจึงขัดกับมติ กทค. ด้วย จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ที่จะบังคับให้บริษัทดำเนินการให้ถูกต้องตามมติและตามกฎหมาย

ส่วนประเด็นเรื่องมีปัญหาในการใช้บริการหลังโอนย้ายนั้น กสทช. ประวิทย์ชี้ว่าน่าจะเป็นข้อขัดข้องทางเทคนิค ซึ่งบริษัทจะต้องเร่งตรวจสอบและแก้ไขต่อไป แต่สิ่งที่มีหลักกฎหมายชัดเจนอยู่แล้วคือ หากผู้บริโภคประสงค์จะโอนย้ายค่ายเมื่อไร ทางผู้ให้บริการจะต้องตอบสนอง ไม่สามารถอ้างเรื่องต้องคงอยู่จนครบ 90 วันได้ เพราะ กสทช. ไม่เคยให้ความเห็นชอบกับการกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เป็นหลักเกณฑ์ที่ผู้ให้บริการไปกำหนดกันเอาเอง ดังนั้นจึงขอส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการใช้สิทธิ โดยไม่หลงเชื่อคำบอกเล่าของพนักงานของบริษัท และหากประสบปัญหาก็แจ้งร้องเรียนมายัง กสทช. หมายเลข 1200 ได้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net