Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศก็จำเป็นจะต้องมีจุดยืนชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างและจะต้องสามารถอธิบายให้ประชาชนและนักลงทุนมั่นใจได้ว่าเป็นนโยบายและกลยุทธ์ที่เหมาะสมกว่าการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยืนยันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และรัฐบาลยังยืนยันถึงความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพของราคาในระยะยาว(anchoring inflationary expectation) แต่มาตรการและกลยุทธ์ใหม่จะคำนึงถึงเสถียรภาพในมิติอื่นๆด้วยเช่น เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายทางการเงินเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้วที่มุ่งเน้นการพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัดขอบเขตและบิดเบือนดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้ตำ่ผิดปกติโดยสภาวการณ์ดังกล่าวน่าจะคงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปีหากไทยไม่ปรับตัวก็อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของภาคธุรกิจไทยได้

กระทรวงการคลังมีท่าทีชัดเจนแล้วว่า ควรมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้มากที่สุดก่อนและหากยังมีปัญหาก็อาจพิจารณาดำเนินมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนเพิ่มเติมแต่แนวทางดังกล่าวยังขาดความครบถ้วนเพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงที่นักลงทุนมองเห็นว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้นำนโยบายการเงินก็จะถูกตั้งคำถามว่า นโยบายการเงินของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงไรและจะส่งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นรัฐบาลเองก็ยังมีประเด็นอื่นๆที่ต้องการปรับปรุง เช่น

1.   แก้กฎหมาย ธปท.ให้นโยบายการเงินต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์อื่นที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไม่ตั้งเป้าเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว และสนับสนุนนโยบายของรัฐโดยคำนึงถึงเสถียรภาพของราคาในระยะยาว

2.   การบริหารจัดการทุนสำรองรวมทั้งการจัดตั้ง Sovereign Wealth Fund

3.   ความร่วมมือกันระหว่าง ธปท.กับกระทรวงการคลัง ในด้านนโยบายการเงิน

4.   ความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการร่วมกันในเชิงปริมาณเพื่อควบคุมฟองสบู่ในสินทรัพย์บางประเภท เช่น อสังหาริมทรัพย์

 

ข้อเสนอในการบริหารค่าเงินบาท

1.   ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความน่าสนใจของพันธบัตรไทยแทนการออกมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินที่เราไม่สามารถควบคุมได้ที่เกิดจากภายนอก

2.   ให้ ธปท.ปล่อยสภาพคล่องดอลลาร์ระยะยาวแก่ธนาคารพาณิชย์ไทยโดยมีพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือตั๋วเงิน ธปท.เป็นหลักประกันแทนที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ไทยไปกู้ยืมจากตลาดต่างประเทศซึ่งจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย และลดผลการขาดทุนของ ธปท.

3.   ให้ ธปท.ส่งเสริมโครงการลงทุนของรัฐบาล ผ่านการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ออกในต่างประเทศแทนการลงทุนในตราสารต่างประเทศทั้งที่เงินลงทุนเหล่านั้นมีผลตอบแทนตำ่มาก ตามนโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ใช่อัตราตลาดปกติ

4.   ให้ ธปท.ใช้อัตราการสำรองสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ (require reserve)เพื่อควบคุมสภาพคล่องแทนการออกตั๋วเงินเนื่องจากมาตรการดังกล่าวไม่ได้มีค่าใช้จ่ายสำหรับ ธปท.และเอื้อให้แทรกแซงให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าเกินกรอบเป้าหมาย ในระยะที่สหรัฐอเมริกากลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นพิมพ์เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกตำ่และลดค่าเงิน ทำให้นักลงทุนย้ายเงินมาลงทุนในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทย อย่างผิดปกติจำเป็นที่ไทยต้องปรับนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญจากการป้องกันเงินเฟ้อ(inflation targeting) เป็นการรักษาระดับค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเกินควรและป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจล้มละลายซำ้สอง

 

ข้อเสนอแนะอื่นๆ

1.   เนื่องจาก ธปท. มีสาขาในนครนิวยอร์คลอนดอน และปักกิ่งจึงน่าจะสามารถใช้สาขาดังกล่าวเป็นแหล่งสินเชื่อทางการค้าระหว่างประเทศให้กับภาคธุรกิจไทยผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ไทยได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งกับภาคธุรกิจและธนาคารของไทยทำให้ไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศ และทำให้รายได้ของ ธปท. เพิ่มขึ้นด้วย

2.   หากการลดดอกเบี้ยยังไม่สามารถชะลอการไหลเข้าของเงินทุนได้จนเป็นที่น่าพอใจก็อาจต้องมีมาตรการเสริม เช่น กำหนดให้พันธบัตรใหม่ทั้งหมดที่ออกโดยภาครัฐ(รวมทั้ง ธปท.) ให้ขายเฉพาะแก่ชาวไทยและไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

3.   นำเอามาตรการบังคับตั้งสำรองเงินทุนไหลเข้าเพื่อซื้อพันธบัตร(URR) ของ ธปท. ที่เคยประกาศใช้เมื่อเดือนธันวาคม 2549 มาใช้อีกครั้งแต่ลดความเข้มข้นลง เช่น ตั้งสำรอง 10% ไม่ใช่ 30%

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด คณะทำงานประธานที่ปรึกษาฯมีความเห็นว่า การบริหารเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการบริหารค่าเงินบาทมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างยิ่งและไม่สามารถใช้กระบวนทัศน์และความคิดทางการบริหารเศรษฐกิจในลักษณะ “ตลาดเสรี”ปกติได้เพราะความคิดดังกล่าวได้แสดงตัวอย่างชัดเจนว่าล้มเหลวในประเทศที่สำคัญๆทางเศรษฐกิจของโลกการบริหารเศรษฐกิจจะต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการ “ตลาดและความเป็นจริง” (market andreality) ที่ต่างคนต่างรักษาตัวเองเป็นสำคัญ

 

 

ที่มา:  พันศักดิ์ วิญญรัตน์ Fan Club (Notes)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net