Skip to main content
sharethis

 

“Oxygen” ธาตุอากาศที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หากเปรียบเสรีภาพเป็นออกซิเจนที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อากาศที่เราใช้หายใจกันทุกวันนี้กลับเหลือน้อยลงเต็มที... และทุกลมหายใจที่สูดเข้าไปภายในร่าง...อากาศแบบไหนกันนะที่กำลังขับเคลื่อนตัวของเรากันอยู่?                                           (ข้อความจากหน้าประชาสัมพันธ์ Oxygen)

 


บางฉากจาก Oxygen

กลุ่มละครบีฟลอร์ กลุ่มละครร่วมสมัยวัย 13 ปีจัดการแสดง Oxygen ถ่ายทอดห้วงจังหวะการหายใจและความเป็นไปของเสรีภาพท่ามกลางบริบทแบบไทยๆ โดยเปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ และกาล่าดินเนอร์ เพื่อระดมทุนเป็นค่าเดินทางไปแสดงงานเรื่องเดียวกันนี้ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของผู้จัด Underground Zero Festival เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
 


ธีระวัฒน์ มุลวิไล

ธีระวัฒน์ มุลวิไล เล่าว่า Oxygen เป็นเรื่องสุดท้ายของงานไตรภาคที่เขากำกับ โดยเรื่องแรกแสดงในปี 53 ชื่อ "Flu-O-Less-Sense" หรือชื่อภาษาไทยว่า "ไข้ประหลาดระบาดไทย" เป็นการสะท้อนเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 ที่มีคนตายถึง 91 คน โดยในช่วงที่กำลังซ้อมละคร ก็เกิดเหตุการณ์นี้พอดี จึงอยากสะท้อนว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ และพูดเรื่องการใช้สื่อทั้งทางเว็บ เฟซบุ๊ก ทุกอย่างบิวด์ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมา

"น่าตกใจว่าทำไมคนมันสุดขั้วหรือสุดโต่งขนาดนี้ ทั้งที่ข้อมูลเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่บิวด์ขึ้น เราก็รู้สึกว่ามันสร้างบรรยากาศให้นึกถึงหนัง Hotel Rwanda" ธีระวัฒน์กล่าว

ธีระวัฒน์ มองว่า การรับสื่อไม่ว่าจากเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง ก็จะต้องเกิดผลบางอย่าง ส่วนคนที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเกี่ยวข้องอะไรก็จะรู้สึกว่าโดนคุกคาม พร้อมตั้งคำถามว่า ปัญหามันอยู่ตรงไหนกันแน่ จริงๆ แล้วเรากำลังพูดถึงเสรีภาพ แล้วก็ความเป็นธรรมด้วย ใช่หรือเปล่า ตรงไหนคือจุดที่จะบรรจบกัน แล้วคำว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่ที่แน่ๆ เขาบอกว่า จุดที่ไม่เห็นด้วยคือที่มีคนตาย

ในการแสดงครั้งนั้นใช้พร็อพไม่เยอะ ใช้จานเป็นสัญลักษณ์ แทนทุกอย่าง แทนการเล่น การ playful ใช้เสียงจานกระทบกับโต๊ะให้เหมือนกับเสียงปืนที่ยิงออกไป รวมถึงมีเอฟเฟกต์ของการใช้โปรเจคเตอร์เพื่อเล่าเรื่องเชิงสัญลักษณ์ แต่สำหรับ Oxygen เลือกจะเล่นกับการหายใจ

"เราเล่นกับเรื่องการหายใจอย่างเดียวเลย ดูว่าเราหายใจยังไง ได้กี่วิธี ได้กี่แบบ มันเกิดจากตรงนี้ เพราะการหายใจมันทำให้เกิด movement ก่อนจะเกิดอะไรอย่างอื่นต่อ พอมันมี movement ก็มีการสูบฉีด เกิดการไปต่อ" ธีระวัฒน์กล่าว

ต่อมา ใน "Fool Alright" ผู้กำกับหนุ่มบอกเล่าว่า เรื่องที่สองนี้เขาพยายามจะสืบย้อนไปว่าก่อนหน้านี้มันเกิดอะไรขึ้น ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์ของการบ้านการเมืองไทย นึกถึงนายอิน จัน มั่น คง หรือที่เรียกกันว่าผีราษฎร มีพิธีพราหมณ์ เพื่อทำให้บ้านเมืองได้รับการปกปักรักษา โดยวิธีการประหลาดๆ ที่เรียกหาคนชื่อ อิน จัน มั่น คง ในตอนกลางคืน นำคนเหล่านั้นมาจับโยนลงไปในหลุม เอาเสาทับ

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะบอกว่านี่คือเรื่องจริง-ไม่จริง หรือความเชื่อก็แล้วแต่ แต่มันก็มีเรื่องนี้เกิดขึ้นให้เราได้ยินกัน เกิดเป็นคำถามว่า ถ้าการสร้างเมืองเริ่มขึ้นจากความตาย แล้วเราจะเจอกับอะไร

นอกจากนี้ เขายังคิดต่อไปถึงแนวความคิดเรื่องชนชั้น การสร้างรัฐธรรมนูญ เรื่องของฝ่ายขวา การทำลายหลัก 6 ประการ เล่าผ่านสัญลักษณ์อย่างกระดาษแฟกซ์และการเขียน พูดถึงประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เรามีความคิดแบบทุกวันนี้ ... รากเหล่านี้มันลงลึก


บางฉากใน Oxygen

 

สำหรับ "Oxygen" ธีระวัฒน์ บอกว่า เมื่อนึกถึงอากาศ แอร์ ที่ทำให้รู้สึกว่าต้องการ หายใจไปกับมันด้วยความสบายใจ เราไม่ต้องการมลพิษอยู่แล้ว แต่คำถามคือเราเลือกได้ไหม นอกจากนี้ อากาศยังเป็นสิ่งที่แม้จะมองไม่เห็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่จริง เช่นเดียวกับคำว่าเสรีภาพหรือประชาธิปไตยก็ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็น อุดมการณ์บางอย่างไม่ใช่สิ่งที่เห็นหรือคว้ามันได้ ทำให้บางทีเมื่อเรามองไม่เห็น ก็อาจรู้สึกว่ามันไม่มี หรืออาจมองว่ามันไม่จำเป็นก็ได้

นอกจากนี้ ไอเดียของการหายใจก็เหมือนการรับความคิด เหมือน “You are what you eat.” กินอะไรไป คุณก็ได้รับสิ่งนั้น เรารับหรือเสพความคิดอะไรเข้าไปเยอะๆ ระบบการศึกษาเอย ความเชื่ออะไรบางอย่างก็สะสมไปในตัวเรา มันก็มีผลทำให้เราตัดสินใจอะไรบางอย่าง ปัญหาบางอย่างที่มันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า มีคนถามอะไร เราต้องตอบแบบนี้ เพราะเรามีพื้นฐาน เราก็รู้สึกว่ามันเรื่องเดียวกัน สิ่งที่เราหายใจกับความคิดที่เราเอาเข้าไป ถือเป็นเรื่องเดียวกัน

ธีระวัฒน์บอกว่า ขณะที่งานสองเรื่องแรกแบ่งเป็นบทๆ เป็นงาน collage (ตัด-ปะ) ค่อนข้างชัดเจน เพื่ออธิบายความ แต่กับ Oxygen มันไหล เมื่อเริ่มอย่างหนึ่ง ต่อไปหาอีกอย่างหนึ่ง นัวเป็นเนื้อเดียวกัน โดยเน้นไปที่ movement มากกว่าที่จะอธิบายความ เป็นการแสดงที่ผสมทั้งแดนซ์ ละครใบ้ visual arts ไม่ใช่ละคร และอาจจะอยากรู้ว่าผู้ชมรู้สึกไปยังไงกับผู้แสดง

"เราหายใจตาม" เพื่อนที่ไปด้วยกันบอก ธีระวัฒน์พยักหน้าและถามต่อว่า บางช่วงมันอึดอัด มันหายใจไม่ได้ใช่ไหม บางช่วงมัน "เฮ้ออ..." (ถอนหายใจโล่งอก)

เขาบอกว่า นี่คือสิ่งที่อยากทำ เพื่อดูว่าจังหวะของนักแสดงกับผู้ชมจะจูนกันไหม

เมื่อถามถึงบทที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนไปหากต้องนำไปแสดงที่สหรัฐอเมริกา ธีระวัฒน์บอกว่า ไม่ต่างกัน เพราะเรื่องนี้ใช้บริบทในประเทศน้อย โดยแม้จะมีภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ออกมา ก็ยังรู้สึกว่าเรื่องที่สื่อออกมามันเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก

เขาบอกว่า สิ่งที่จะแตกต่างไปคงมีเพียงการจัดที่นั่งคนดู และฉาก ที่คงทำเต็มรูปแบบเหมือนที่เมืองไทยไม่ได้ ที่ทุกอย่างอยู่ในมือ จัดการได้หมดในหนึ่งอาทิตย์ ที่นู่น คงลำบาก คงต้องปรับบ้าง


สมาชิกจากกลุ่มละครใบ้ เบบี้ไมม์ มาช่วยสร้างความบันเทิง ระหว่างประมูลงาน

 

สำหรับการระดมทุน ที่เริ่มตั้งแต่มีนาคมเป็นต้นมา จนถึงวันที่มีการประมูลงานและขายบัตรรอบปฐมทัศน์ รวบรวมเงินได้ทั้งสิ้น 380,510 บาท ซึ่งจุดนี้ เจ้าตัวบอกว่า น่าปลื้มใจแล้ว โดยต้นทุนของทีมทั้งหมด 12 คน มีทั้งค่าวีซ่า ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ากินอยู่ ส่วน Underground Zero festival ที่เชิญไปแสดงนั้นสนับสนุนที่พักให้ และแบ่งบอกซ์ออฟฟิศกัน 40:60 ตอนนี้มองว่า ค่าตั๋วคงโอเค ส่วนค่ากิน คงเป็นเรื่องที่แต่ละคนคงต้องควักกันเอง

ทั้งนี้ นอกจากการแสดง Oxygen แล้ว บีฟลอร์ยังจะมีอีกสองโปรแกรมนั่น คือการแสดงเรื่องรสแกง โดยผู้กำกับ จารุนันท์ พันธชาติ และเวิร์คชอปกับคณะ Ping Chong and Company Theatre company http://www.pingchong.org/ คณะคนจีนที่ไปอยู่สหรัฐอเมริกา กว่า 20-30 ปีแล้ว โดยกลุ่มนี้จะสนใจเรื่องเชิงสังคมค่อนข้างมาก ใช้การสัมภาษณ์ผู้คน แล้วเอาบทมาทำละครด้วย

ก่อนจาก ธีระวัฒน์ บอกเล่าถึงเบื้องหลังแนวคิดในการทำงานของเขาไว้ว่า เราสนใจเรื่องสังคมการเมือง แต่ขณะเดียวกัน ก็สนใจศิลปะ วัฒนธรรม เราสนใจว่าเราจะจัดสมดุลยังไง สมัยก่อนเราก็เคยทำละครที่เป็นแบบ provocative มากๆ ประเด็นแรงและตรงๆ ด้วย แต่ทีนี้เรากำลังสนใจหาบาลานซ์ที่ทุกคนก็น่าจะดูได้ แชร์กันได้ ไม่เช่นนั้นถ้าทำแรง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่มา พยายามจะหาเซนส์แบบกลางๆ ว่ามันคืออะไร เรารู้สึกว่าเรายินดีต้อนรับทุกความคิด ทุกฝ่าย เพราะท้ายที่สุดมันคือการแชร์กัน

"ถ้าคนไม่มาดู art มันก็ไม่ไปไหน หรือประเด็นหรือหัวข้อมันก็ไม่ไปไหน" บทสนทนาทิ้งท้ายจากคนละคร

 

 


//////////////////////
หมายเหตุ:
ละคร Oxygen จะแสดงในวันที่ 5-16 กรกฎาคม 2555 (เว้นวันอังคาร-พุธ) ณ หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55
สนใจดูรายละเอียดได้ที่www.bfloortheatre.com http://www.bfloortheatre.com
https://www.facebook.com/Bfloor.theatre.group

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net