Skip to main content
sharethis

ก่อนตบเท้าเข้าร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศกว่า 1,000 คน จากทั้งภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน ที่หน้ารัฐสภา เพื่อยื่นเสนอ “นโยบายภาคประชาชน” ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ให้บรรจุนโยบายดังกล่าวลงในนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งวันก่อนหน้านั้น ชาวบ้านจาก ต.ทุ่งลุยลาย ต.ห้วยยาง และต.ดงกลาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ เขตป่าสงวน และที่สาธารณะทับซ้อนบนพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ที่สาธารณประโยชน์ และที่ป่าชุมชนของชาวบ้าน ได้ออกเดินทางมารวมตัวกัน ที่บ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อทำพิธีขอพรศาลเจ้าหลวงปู่แก้ว “ศาลเจ้าปู่แก้วนี้ เมื่อแรกเข้ามายังไม่มีการตั้งชื่อ กระทั่งมีผู้หลับฝันว่าเจ้าที่บริเวณดังกล่าวมาบอกให้ตั้งชื่อหมู่บ้าน จึงได้มีการประชุมเสนอตั้งชื่อเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของผู้อยู่อาศัย ชาวบ้านจึงลงมติร่วมกันว่าเจ้าที่ที่ดูแลปกปักรักษาบริเวณนี้ชื่อว่า “แก้ว” ประกอบกับพื้นที่ใกล้ที่อาศัยมีบ่อน้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อ บ้านบ่อแก้ว” พ่อปุ่น พงษ์สุวรรณ์ ชาวบ้านบ่อแก้ว บอกกล่าวถึงที่มา พ่อเฒ่า วัย 75 ปี เล่าถึงประวัตชุมชนว่า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เข้ามาปลูกป่ายูคาลิปตัสในพื้นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านนับแต่ปี พ.ศ.2521 ด้วยปัญหาและผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมที่ต้องถูกไล่ออกจากพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาปัญหาความเดือดร้อนเรื่อยมา กระทั่งกลางเดือนกรกฎาคม 2552 ชาวบ้านจึงได้เข้ายึดพื้นที่ทำกินเดิม และพยายามบริหารจัดการกลุ่มองค์กรในพื้นที่เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ พ่อปุ่นกล่าวด้วยว่า การที่ชาวคอนสารในหลายๆ ตำบลที่ประสบซะตากรรมเดียวกัน พร้อมใจรวมตัวบ้านบ่อแก้ว เพราะถือว่าชุมชนบ้านนี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ และแบบอย่างการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน จากกรณีการประกาศเขตสวนป่าคอนสาร หลังร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ชุมชน สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 “สานต่อภารกิจประชาชน ปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรม” ก่อนเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปรวมตัวกับเครือข่ายในภาคอีสานทั้งหมด ที่บริเวณริมเขื่อนลำตะคลอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ระหว่างการเดินทาง ขบวนชาวบ้านทำการรณรงค์ แจกแฉลงการณ์ให้ประชาชนใน อ.คอนสารได้รับทราบถึงวัตถุประสงค์ของการเคลื่อนขบวนและชี้แจงถึงปัญหาที่พวกเขาต้องประสบ และเข้ายื่นหนังสือถึง นายเจริญ จรรย์โกมล สส.ชัยภูมิ (เขต อ.คอนสาร) และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 โดยมี นางเรวดี จรรย์โกมล เป็นผู้รับแทน จากนั้นร่วมเดินไปทำพิธีสักการะขอพรหลวงปู่หมื่น (หลวงพิชิตสงคราม) เจ้าเมืองคอนสารองค์แรก (พ.ศ.2337) ก่อนมุ่งสู่ อ.เมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น เพื่อยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผ่านนายสมศั​กดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานพรรคเพื่อไทย เขตชุมแพ เป็นผู้รับหนังสือแทน “ครั้งนี้พวกเราหวังอย่างยิ่งว่า นายกรัฐมนตรีรวมทั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะสานต่อแนวทางการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชนให้เป็นนโยบายของรัฐบาล และจัดตั้งกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐกับภาคประชาชนให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม เราเรียกร้องให้สานต่อแนวทางการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน พร้อมกันนี้อยากวอนให้ มีคำสั่งให้ทางเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง ยุติการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม และดำเนินคดีชาวบ้านในพื้นที่และสมาชิกเครือข่ายฯ ด้วย” ไสว จุลละนันท์ ชาวบ้าน ม.1 ต.ทุ่งลุยลาย กล่าว ตามเส้นทางชุมแพ - ชัยภูมิ ที่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ตัวแทนชาวบ้านกรณีปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งซำเสี้ยวเดินทางมารอรับชาวคอนสาร ก่อนร่วมกันเดินทางไปสักการะเจ้าพ่อพระยาแลบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อขอพรเป็นสิริมงคล และเคลื่อนไปสมทบกับเครือข่ายสายอีสานซึ่งนัดหมายรวมพลกันบริเวณเขื่อนลำตะคลอง นายวิชัย สมบุญเพ็ง ประธานชุมชนทุ่งซำเสี้ยว บ้านดอนมะคั่ง ม.12 ต.สระโพนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ เล่าถึงปัญหาในพื้นที่ว่า กรณีที่สาธารณะทุ่งซำเสี้ยวมีปัญหาการประกาศเขตที่สาธารณะประโยชน์ทับที่ทำกินชาวบ้าน ตั้งแต่เมื่อปี 2528 แล้วไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ซึ่งขัดกับสิทธิในที่ดินทำกินที่ชาวบ้านอยู่กันมาตั้งแต่ปี 2475 และได้มีการการประกาศเป็นที่สาธารณะให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีหนังสือจากอธิบดีกรมที่ดินว่าพื้นที่สาธารณะที่ประกาศเมื่อปี 28 นั้นทับที่ทำกินของชาวบ้านจริง จากการตรวจสอบรังวัด และมีคำสั่งให้ยกเลิกพื้นที่สาธารณะนั้นให้ชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยตามเดิม แต่ในพื้นที่ไม่ปฏิบัติตาม เขาและชาวบ้านจึงร่วมกันเข้ายึดพื้นที่กลับคืนมาดังเดิมเมื่อปี 2538 จนถึงปัจจุบัน “ปัญหาของชุมชนเราสรุปตรงกันแล้วว่าชุมชนต้องลุกขึ้นมาสู้และแก้ไขร่วมกันเอง” ปธ.ทุ่งซำเสี้ยว กล่าว ที่จุดนัดหมายบริเวณเขื่อนลำตะคลอง เวลา 18.00 น. ขบวนรถยนต์ของเครือข่ายภาคประชาชนในภาคอีสานที่มารวมตัวกัน อาทิ เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) สมัชชาคนจนกรณีกลุ่มผู้เดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล กลุ่มผู้เดือดร้อนจากสวนป่าพิบูลมังสาหารฯ ฯลฯ ได้เคลื่อนพลเดินทางไปยัง อ.หนองแซง วัดหนองหลัว ต.หนองกบ จ.สระบุรี ระยะเวลากว่า 4 ชั่วโมง ขบวนชาวบ้านจึงเดินทางถึงที่หมาย และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวบ้านสระบุรี ซึ่งต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าหนองแซง หลังการรับประทานอาหารร่วมกัน มีการจัดเวทีสนทนายามค่ำ เกี่ยวกับนโยบายภาคประชาชนสู่นโยบายรัฐบาลในหัวข้อ “กระบวนการยุติธรรม กระบวนการที่ต้องปฏิรูปเร่งด่วน” ปิดท้ายกิจกรรมของวัน ด้วยการอ่านแฉลงการณ์ จากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ก่อนแยกย้ายพักผ่อน เตรียมการสำหรับภารกิจสำคัญในวันพรุ่งนี้ 8 ส.ค.54 เช้ามืด ขบวนที่รวมตัวจากสระบุรี เคลื่อนจากหนองแซง เข้าไปสมทบกับเครือข่ายภาคประชาชนที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ กว่า 145 องค์กร ราว 1,000 คน ที่มารวมตัวกันที่บริเวณหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นนโยบายภาคประชาชนให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี หวังให้มีการแก้ไขปัญหาของแต่ละเครือข่ายเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม ประมาณ 12.30 น.นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน พร้อมรับหนังสือข้อเสนอฯ ดังกล่าว จากนั้นตัวแทนชาวบ้าน 15 คนเข้าไปเจรจา ยังตึกรัฐสภา โดยใช้เวลาพูดคุยกว่าหนึ่งชั่วโมง ตัวแทนต่างแจงว่า รัฐบาลหนังสือเพื่อไปพิจารณาอีกครั้ง โดย หลังประชุมนโยบายของรัฐบาลจะแจ้งให้ทราบต่อไป จากนั้นเวลาประมาณ 17.00 น.ตัวแทนจากเครือข่ายฯ ต่างๆ จึงเดินทางกลับ พร้อมระบุว่าจะกลับมาทวงถามแนวทางการแก้ไขต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net