Skip to main content
sharethis

ตัวแทนคณะกรรมการปกป้องสื่อ หรือ CPJ เล่าเรื่องการใช้สื่อออนไลน์รณรงค์ทางการเมืองในอียิปต์ ระบุรัฐบาลอียิปต์ปิดกั้นเสรีภาพออนไลน์แบบไม่มีกฎหมายรองรับ สฤนี อาชวานันกุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งข้อสังเกตคดีผอ. ประชาไท ชี้ให้เห็นว่าขาดกระบวนการและขั้นตอนในการบังคับใช้ พรบ. คอมพิวเตอร์

17 ก.พ.54 ศูนย์นโยบายสื่อมวลชนไทย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต และซีป้า (Southeast Asia Press Alliance – SEAPA) จัดเสวนา “เสรีภาพอินเตอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : แนวคิดใหม่ อุปสรรคใหม่ (A Public Forum on Internet Freedom in Southeast Asia : New Frontier, New Barrier)” ที่ห้อง 210 ตึกมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สฤณี อาชวานันทกุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต และแดนนี่ โอเบรียน จาก CPJ (Committee to Protect Journalists) ร่วมอภิปรายหัวข้อ “การเมืองอินเตอร์เน็ต : บทเรียนจากอียิปต์ถึงประชาไทดอทคอม (Internet Politics : Lesson learnt from Egypt to Prachatai.com)”

 

แดนนี่ โอเบรียน (Danny O’Brien)
คณะกรรมการปกป้องสื่อ-Committee to Protect Journalists (CPJ)

ผมคงไม่สามารถวิเคราะห์การเมืองของอิยิปต์ได้อย่างลึกซึ้ง เนื่องจากผมเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองมากมายนัก

สถานการณ์ทางการเมืองในตูนิเซียและอิยิปต์มีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก และเราไม่ทราบว่าจะก้าวไปถึงไหนอย่างไร CPJ เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดผ่านทางอินเตอร์เน็ต มีสัญญาณบ่งชี้บางอย่าง ผมคุยกับผู้เชี่ยวชาญของ CPJ ในภูมิภาคแอฟริกา เราเห็นว่าอิยิปต์กำลังจะเปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จะมีความตึงเครียด ถึงเราจะเห็นว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ มีวิธีที่หลากหลายในการปิดกั้นอินเตอร์เน็ต แต่ความจริงแล้วไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย

เราพอจะแยกแยะได้ระหว่างการควบคุมและการปล่อยเสรีอินเตอร์เน็ต อิยิปต์ไม่มีการควบคุมอินเตอร์เน็ต แต่ใช้การข่มขู่คนที่โพสต์ข้อความ อิยิปต์เป็นประเทศแรกที่มีการจับบล็อกเกอร์ขังคุก และต่อมาก็เพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น ตำรวจจะมุ่งไปที่ตัวบล็อกเกอร์ที่ไม่มีแรงสนับสนุนจากประชาชนและประชาคมโลก หากบล็อกเกอร์คนใดพูดถึงเรื่องความยากจนของอิยิปต์ ก็มีสิทธิที่จะโดนข่มขู่ได้ การควบคุมโดยใช้ตำรวจลับจึงมีแสนยานุภาพมากกว่า และรัฐบาลอิยิปต์ยังใช้วิธีการดึงเอาบรรดาผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ ISP เข้ามาเป็นพวกอีกด้วย

สัญญาณบ่งชี้ที่เราพบ ประการแรกคือ ประมาณพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลอิยิปต์เริ่มกดดันบริษัทโทรศัพท์มือถือ และควบคุมไม่ให้มีการส่งเอสเอ็มเอสคราวละมากๆ

สิ่งที่ผมต้องการเน้นในที่นี้คือ มีการกระทำโดยที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือทางกฎหมายเลย รัฐบาลอิยิปต์สามารถปิดกั้นอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วโดยการกดดันไปที่ ISP หรือตัวกลาง ประเทศที่มีการควบคุมอินเตอร์เน็ตอย่างแข็งขัน ก็คือประเทศที่มีการควบคุม ISP อย่างแข็งขัน ในฐานะนักเทคโนโลยี กรณีของอิยิปต์ทำให้ตระหนักว่าเราต้องคุ้มครองตัวกลางให้ไม่ต้องรับแรงกดดัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวกลางเหล่านั้นมากขึ้น

กูเกิ้ลใช้ความพยายามในการรณรงค์เสรีภาพในอิยิปต์ ซึ่งเป็นคุณอย่างใหญ่หลวง ขณะที่บริษัทโทรศัพท์มือถือกลับไม่มีปากมีเสียง

อีกกรณีหนึ่งคือ Noor Group เป็น ISP รายเดียวที่ไม่ยอมปิดให้บริการในอิยิปต์ บางคนพูดว่าที่ยังให้บริการอยู่นั้น เพราะว่าเกี่ยวข้องกับการให้บริการสถาบันการเงินซึ่งมีเป็นจำนวนมาก แต่ผมเองไม่เชื่อคำพูดนี้สักเท่าใด ถ้าตัวกลางกล้าลุกขึ้นยืนหยัดต่อต้านในช่วงที่สถานการณ์สับสนวุ่นวาย เราต้องปกป้องตัวกลางไม่ให้ได้รับโทษ

เมื่อเทียบกับจีน ซึ่งรัฐบาลควบคุมอินเตอร์เน็ตอย่างเข้มข้นมาก รูปแบบที่ใช้คือการสั่งให้บริษัทผู้ให้บริการหรือ ISP เหล่านั้นต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ถ้าหากไม่ทำก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งผมคิดว่านั่นเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพบนอินเตอร์เน็ต


สฤณี อาชวานันทกุล
เครือข่ายพลเมืองเน็ต

ก่อนจะพูดถึงกรณีของจีรนุช (เปรมชัยพร) มีความเห็นคือ ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เรื่องเสรีภาพบนอินเตอร์เน็ตกับความรับผิดชอบนั้น ปัญหาคือหน่วยงานของรัฐมักพยายามเรียกร้องความรับผิดชอบโดยการดึงเอาเสรีภาพ ไป รัฐบาลไทยจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ว่าการเซ็นเซอร์นั้นไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะใช้ในควบคุมเสรีภาพบนอินเตอร์ เน็ต

หลายคนพูดถึงข้อความที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง (Hate speech) เพราะเป็นการทำลายประเทศไทย โดยเฉพาะข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งความจริงแล้วมันขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนตีความ

ข้อสังเกตจากคดีของจีรนุช บทเรียนประการแรก คือ

1) การดำเนินคดีนั้น ขาดกระบวนการและขั้นตอนในการบังคับใช้ พรบ.คอมพิวเตอร์ คุณจีรนุชถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 15 ของ พรบ.คอมพิวเตอร์ คือการส่งเสริม ยินยอมให้มีการกระทำผิด ซึ่งอัยการหมายถึงการยอมให้มีคนมาโพสต์ข้อความบนเว็บบอร์ด ซึ่งไม่มีการนิยามหรือความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลมองว่าทุกคนต้องรับผิดหมด คณะกรรมการที่ไอซีทีตั้งขึ้น ก็ไม่มีความชัดเจนว่ามีอยู่ก่อนที่จะมีข้อความเหล่านี้หรือไม่ หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการเป็นอย่างไร และยังขาดความเข้าใจในลักษณะของอินเตอร์เน็ต และอีกหลายๆ อย่าง เช่น การเจอไฟล์เสียงในคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะเป็น cookie เจ้าหน้าที่ก็สรุปว่าเป็นเจตนา การมีไฟล์เสียงไม่ได้หมายความว่ามีความตั้งใจเซฟไฟล์เพื่อจะนำไปใช้ต่อ

2) สังคมไทยยังไม่มีการถกเถียงกันมากพอ ขณะที่รัฐบาลก็ไม่มีความชัดเจนในการควบคุม และยังขาดความเข้าใจซึ่งทำให้ทุกอย่างย่ำแย่ลงไปอีก เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความเห็นส่วนตัวในการตัดสินว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ซึ่งอาจไม่ถูกต้องเสมอไป หากถามแต่ละคนก็จะได้ความเห็นที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องมีนิยามที่ระบุชัดเจนว่าอันไหนจึงจะถือว่าเป็นอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

3) สื่อมวลชนไทยไม่สนใจที่จะทำข่าวเรื่องคุณจีรนุชเลย ส่วนใหญ่คนที่ไปฟังการพิจารณาคดีเป็นชาวต่างประเทศ อาจเพราะเป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นเรื่องความ อ่อนไหว สำหรับพวกเราที่รณรงค์เรื่องนี้ ต้องพยายามทำให้สื่อมวลชนเข้าใจว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องหมิ่นฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนจะต้องสนใจ ดังนั้นเราต้องรณรงค์ให้สื่อมวลชนกระแสหลักมาร่วมรณรงค์ในเรื่องนี้ด้วย

หากคุณมีเว็บไซต์ข่าวและเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น และเว็บมาสเตอร์มีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม เป็นเรื่องง่ายมากที่ใครจะเข้ามาโพสต์ข้อความอะไร ซึ่งเราคงไม่มีเวลามานั่งลบข้อความเหล่านั้น ดังนั้นก็เลือกวิธีที่จะปิดเว็บบอร์ดไปเลย

คดีนี้ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็จะมีผลต่อสื่อมวลชนด้วย วันที่ 15 มีนาคมนี้ จะมีการตัดสินคดีของ นปช.ยูเอสเอ อยากให้ผู้สื่อข่าวติดตามคดีนี้ เพราะเป็นเรื่องของตัวกลางใน พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เรื่องภัยคุกคามต่อความมั่นคง

มีคำถามที่ตั้งไว้กับตัวเองด้วยว่า อะไรคือเสรีภาพ และอะไรคือภัยต่อความมั่นคง
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net