Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้เปิดเผยรายชื่อและสถานที่ควบคุมตัวของผู้ที่ถูกจับตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังเหตุการณ์เข้าสลายการชุมนุม นปช.

วันที่ 3 มิ.ย.2553 กลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีจดหมายเปิดผนึก ถึงรักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้เปิดเผยรายชื่อ และสถานที่ควบคุม ของผู้ถูกจับตามหมายจับและควบคุมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

เนื้อหาในจม. เปิดผนึกระบุว่า จากการสลายการชุมนุมโดนการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามของรัฐบาลเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมานั้นส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และในเวลาต่อมาศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกหมายจับและควบคุมบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

ในจม.กล่าวถึงข้อมูลจากเว็บไซต์ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางว่ามีหมายจับภายในเขตกรุงเทพฯ และในเขตสำนักงานตำรวจภาค 1 จำนวน 99 หมาย แต่ไม่มีรายชื่อของผู้ถูกจับและไม่ระบุสถานที่ควบคุมบุคคลดังกล่าว ตลอดจนไม่มีการรายงานถึงจำนวนและสถานที่ของผู้ถูกควบคุมตัวหรือมีหมายจับในสำนักงานตำรวจภาคอื่น ๆ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ถูกจับและญาติมิตรที่ไม่อาจทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกจับ และไม่ทราบว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่

ทางกลุ่มนักกฏหมาย ทนายความและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ตามที่ระบุชื่อในจม. ได้แสดงความห่วงใยโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมในลักษณะที่อาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ต้องได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ที่ประเทศไทยมีพันธกรณี โดยสิทธิมนุษยชนตามหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

จากหลักการและเหตุผลดังกล่าว กลุ่มนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนจึงเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกาศสถานที่ควบคุมบุคคลดังกล่าวที่อยู่ในอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกพื้นที่ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้ญาติและทนายความสามารถติดต่อได้ทันที

                                                                                  จดหมายเปิดผนึก

                                                      กลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

                                                                                                วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เรื่อง     ขอให้เปิดเผยรายชื่อ และสถานที่ควบคุม ของผู้ถูกจับตามหมายจับและควบคุมตามพระราชกำหนดการบริหาร                         ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

เรียน     รักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

             ภายหลังจากรัฐบาลได้เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ด้วยการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553  เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยได้รับการประณามและแสดงความห่วงใยจากประชาสังคมโลก    อันเป็นที่ทราบกันทั่วไปนั้น  ต่อมารัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกหมายจับและควบคุมบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจากการเวปไซด์ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีรายงานว่ามีหมายจับและควบคุมดังกล่าว ภายในเขตกรุงเทพมหานครและในเขตสำนักงานตำรวจภาค 1 จำนวน 99 หมาย แต่ไม่ปรากฏรายชื่อของผู้ถูกจับและไม่ระบุสถานที่ควบคุมบุคคลดังกล่าว ตลอดจนไม่มีรายงานของสำนักงานตำรวจภาคอื่นๆ ที่อยู่ในเขตท้องที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่ามีจำนวนผู้ถูกจับตามหมายและถูกควบคุมอยู่ที่ใด เช่นกัน ซึ่งการไม่ทราบรายชื่อผู้ถูกจับและการไม่แจ้งสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แก่ผู้ถูกจับและญาติมิตร ที่ไม่อาจทราบได้ว่าผู้ถูกจับ จะมีชีวิตอยู่หรือไม่ และไม่ทราบสภาพความเป็นอยู่ด้วย กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วยนักกฎหมาย ทนายความและบุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ผู้มีชื่อท้ายจดหมายนี้ขอแสดงความห่วงใยต่อผู้ถูกจับกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมในลักษณะที่อาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและต้องได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ที่ประเทศไทยมีพันธกรณี โดยเฉพาะมีสิทธิได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้

                ข้อ 7   ห้ามการซ้อม ทรมาน หรือปฏิบัติใดๆอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรม

                ข้อ  9  ข้อ 2 ย่อย ต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม ในขณะถูกจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับ                                              กุมโดยพลัน

                           ข้อ 3 ย่อย มีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลัก                                        ทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี

                ข้อ 14 มีสิทธิมีทนายความที่เลือกเอง หากไม่มี รัฐต้องจัดหาให้ ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด                             และมีสิทธิให้การหรือไม่ให้การด้วยความสมัครใจหรือไม่ให้การด้วยความสมัครใจ ต้องได้รับการพิจารณา                             คดีอย่างเปิดเผย รวดเร็ว โดยสื่อมวลชนสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้

                สิทธิมนุษยชนตามหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

                จากหลักการและเหตุผลดังกล่าว กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้

               1. ขอให้ประกาศรายชื่อผู้ถูกจับกุมต่อสาธารณะ และประกาศสถานที่ควบคุมบุคคลดังกล่าว ที่อยู่ในอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกพื้นที่ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้ญาติและทนายความสามารถติดต่อได้ทันที เพื่อป้องกันข้อครหาว่า รัฐบาลซ้อมทรมานผู้ถูกจับ และหากผู้ถูกจับเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บต้องได้รับการรักษา พยาบาลอย่างเหมาะสม

 

          ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2553

           ลงชื่อ

            น.ส.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์    ทนายความ

            นายพิทักษ์ เกิดหอม      นักกฎหมาย

            นายศราวุฒิ ประทุมราช   ทนายความ

            น.ส.ภาวิณี  ชุมศรี        ทนายความ

            น.ส.ปรานม สมวงศ์       นักกฎหมาย

            นายนรินทร์   พรหมมา  นักกฎหมาย

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net