Skip to main content
sharethis

“หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป”...........

28 กันยายน 2552 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเสียงข้างมากพิพากษาตัดสิทธิทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา5 ปี กรณีปกปิดข้อเท็จจริงในการยื่นบัญชีแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งยังพิพากษาให้มีโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีคำสั่งให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 4 พันบาท แต่โทษจำคุกให้รอไว้ก่อน 1 ปี

คดีดังกล่าว มี ป.ป.ช.เป็นผู้ร้อง โดยยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า นายยงยุทธ อาจเข้าข่ายจงใจปกปิดการยื่นรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2548
 

ข่าวเลือนหายไปจากความสนใจอย่างเงียบเชียบในเวลาไม่นาน แม้แต่ตัวของนายยงยุทธเองก็น้อมรับคำวินิจฉัยอย่างไม่ยี่หระพร้อมกล่าวว่า "คมช.เข้ามา ผมก็ถูกดำเนินคดีโหลนึง วันนี้เป็นคดีที่ 4 ยังมีคดีที่เหลือต้องขึ้นศาลอีก รอดครั้งนี้ ก็ไม่รู้ว่าครั้งหน้าจะรอดหรือไม่"

ทว่ามติของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งนี้ จะกลายเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์กระบวนการกฎหมายไทยที่ผู้พิพากษารายหนึ่งมีคำวินิจฉัยปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหารอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมอ้างอิงหลักกฎหมายในการวินิจฉัยความไม่ชอบธรรมของคณะรัฐประหารผ่านคำวินิจฉัยส่วนตนซึ่งใช้ประกอบการลงมติตัดสินคดีดังกล่าว และนี่คือคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาเสียงส่วนน้อย

000

"ส่วนหนึ่งจากคำวินิจฉัยส่วนตนของนายกีรติ กาญจนรินทร์ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. ๙/๒๕๕๒"

.................................................
ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้หรือไม่ เห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชน ศาลจึงต้องใช้ อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนอย่างสร้างสรรในการวินิจฉัยคดีเพื่อให้เกิดผลในทางที่ขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหากศาลไม่รับใช้ประชาชน ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและสั่นคลอน

นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย

การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ

ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้นเมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเช่นกันว่า ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) แต่ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์

ผู้ร้องประกอบด้วยคณะบุคคลที่เป็นผลพวงของ คปค. ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 ด้วยเช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้ อำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาว่าผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย

วินิจฉัยให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
นายกีรติ กาญจนรินทร์

หมายเหตุ คำวินิจฉัยมีทั้งหมด 10 หน้า ประชาไทลงเฉพาะคำวินิจฉัยหน้า 8-10 จากเนื้อหาทั้งหมด 10 หน้า เนื่องจากก่อนหน้านั้นเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในคำร้องของป.ป.ช.

เมื่อศาลปฏิเสธรัฐประหาร : ก้าวแรกในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
 
ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
หากพิจารณาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยยุคใหม่ คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า เป็นวัฒนธรรมทางกฎหมายไปแล้วที่ศาลไทยยอมรับ-ให้ความสมบูรณ์แก่รัฐประหาร และผลิตผลของรัฐประหาร
 
เมื่อเผชิญหน้ากับรัฐประหาร ศาลไทยไม่เคยปฏิเสธรัฐประหาร ไม่เคยประกาศผ่านคำพิพากษาว่ารัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตรงกันข้ามในคำพิพากษาศาลฎีกาหลายกรณี ศาลยอมรับการดำรงอยู่ของคณะรัฐประหาร โดยถือหลักว่าเมื่อเริ่มแรกรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งคณะรัฐประหารได้กระทำการจนสำเร็จและยึดอำนาจได้อย่างบริบูรณ์ สามารถยืนยันอำนาจของตนและปราบปรามอำนาจเก่าหรือกลุ่มที่ต่อต้านให้เสร็จสิ้น เมื่อนั้นคณะรัฐประหารก็มีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจออกรัฐธรรมนูญใหม่หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า ตลอดจนการออกกฎหมายและยกเลิกกฎหมายได้
 
พูดง่ายๆก็คือ ศาลไทยให้ความสำคัญ อำนาจ ในความเป็นจริงเป็นสำคัญ มากกว่าจะพิจารณาถึงความถูกต้องของ กระบวนการได้มาซึ่งอำนาจ นั่นเอง
 
เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๖๒/๒๕๐๕ ในพ.ศ.๒๕๐๑ คณะปฏิวัติได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกด้วยคำแนะนำหรือยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรก็ตามหรือคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๓๔/๒๕๒๓ แม้จะมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยออกประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่ก็หาได้มีกฎหมายยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปการปกครองผ่นดินไม่ ประกาศหรือคำสั่งนั้นจึงยังคงเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่
 
ถึงกระนั้นก็ตาม ศาลไทยพยายามใช้และตีความกฎหมายเพื่อพิพากษาไปในทางที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากประกาศคณะรัฐประหารอยู่บ้าง โดยพิจารณาว่าประกาศของคณะรัฐประหารขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังกรณี “กฎหมายควบคุมอันธพาล” หรือกรณีประกาศ รสช.เรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมือง กรณี “กฎหมายควบคุมอันธพาล” นั้น ศาลแขวงอุบลราชธานีในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๙๑๘/๒๕๑๒ เห็นว่าประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๓ พ.ศ.๒๕๐๓ เกี่ยวกับการควบคุมตัวอันธพาลนั้นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นอันธพาล และมีอำนาจส่งตัวบุคคลนั้นไปยังสถานอบรมและฝึกอาชีพจึงมีผลเท่ากับเป็นการตั้งให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจพิจารณาคดีชี้ความผิดและลงโทษบุคคลได้ นอกจากนี้ประกาศฉบับนี้ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาการลงโทษที่แน่นอนชัดเจน และโทษที่จะลงนั้นหนักเบาสถานใด สุดแท้แต่คณะกรรมการจะพิจารณา ทำให้โทษที่ได้รับไม่ได้สัดส่วนกับความผิดและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกลงโทษ อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ยืนยันในคำวินิจฉัยที่ ๑/๒๕๑๓ ว่าประกาศฉบับนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
 
แม้ศาลจะไม่ปฏิเสธความเป็นกฎหมายของประกาศคณะรัฐประหาร แต่ศาลก็พยายามใช้และตีความเพื่อลดความเข้มข้นของประกาศคณะรัฐประหารและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามประกาศคณะรัฐประหารต่างๆ เพื่อควบคุมตัวในข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงบ้าง ในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์บ้าง ในข้อหาเป็นภัยต่อสังคมบ้าง ศาลก็จะใช้และตีความกฎหมายไปในทางที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยการสั่งให้ปล่อยตัวบ้าง ลดจำนวนวันคุมตัวบ้าง ตลอดจนพิจารณาว่ามูลเหตุแห่งการควบคุมตัวนั้นตรงตามที่ประกาศคณะรัฐประหารกำหนดหรือไม่
 
มีข้อควรสังเกตว่า เมื่อศาลไทยเผชิญหน้ากับรัฐประหาร ผลิตผลของคณะรัฐประหาร คำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารแล้ว ศาลจะรับรองการดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้ เว้นเสียแต่ว่า ผลิตผลของคณะรัฐประหารเข้ามารุกล้ำศาล มีผลกระทบกระเทือนต่อศาล หรือลิดรอนอำนาจของศาล เมื่อนั้นศาลก็ไม่ลังเลที่จะปฏิเสธคำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธผ่านทางคำพิพากษา หรือปฏิเสธผ่านทางการแสดงออกด้วยการกดดัน
 
การปฏิเสธประกาศคณะรัฐประหารผ่านทางคำพิพากษา ก็โดยการวินิจฉัยว่าประกาศคณะรัฐประหารขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ “ตั้ง “คณะบุคคลที่มิใช่ศาล” ให้มีอำนาจทำการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเช่นเดียวกับศาล” หรือ “ใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาย้อนหลังไปลงโทษบุคคล” ส่วนการปฏิเสธประกาศคณะรัฐประหารด้วยการกดดัน ก็เช่นกรณี “กฎหมายโบดำ” ที่คณะรัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจรได้ตราประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๙ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ เกี่ยวกับระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ฝ่ายตุลาการเห็นกันว่าประกาศนี้ส่งให้ฝ่ายบริหารเข้าแทรกแซงความเป็นอิสระของศาล มีการรณรงค์คัดค้านประกาศนี้อย่างกว้างขวาง ประธานศาลฎีกาออกโรงมาเขียนแถลงการณ์สาธารณะแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศนี้ เพียงสองสัปดาห์ รัฐบาลถนอมก็ทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องผลักดันให้ตราพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๙
 
คงไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่า ศาลไทยพร้อมจะ “ชน” กับคณะรัฐประหาร ถ้าคณะรัฐประหารเข้ามาล้ำแดนความเป็นอิสระของศาลหรือเข้ามาแตะต้องวัฒนธรรมองค์กร แต่กับกรณีที่คณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลอันขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงนั้น ศาลไทยกลับยอมรับ หรือกรณีที่หัวหน้าคณะรัฐประหารใช้อำนาจเผด็จการตามมาตรา ๑๗ แบบสฤษดิ์ ศาลไทยกลับนิ่งเฉยไม่รับคำฟ้องโดยให้เหตุผลว่าไม่มีอำนาจ ตลอดจนกรณีที่คณะรัฐประหารตราธรรมนูญการปกครองชั่วคราวเพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญเดิม โดยมีเนื้อหาที่ขัดกับหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ให้อำนาจเผด็จการแก่หัวหน้าคณะรัฐประหารเพียงผู้เดียว ศาลไทยกลับยืนยันว่าทำได้
 
อาจเหมือนที่เสน่ห์ จามริกตั้งข้อสังเกตไว้ใน “การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ” ว่าท่าทีของฝ่ายตุลาการที่ต่อต้านประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๙ อย่างจริงจังถึงขั้นชุมนุมประท้วงนั้น เพราะเนื้อหาของประกาศฉบับนี้กระทบต่อการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการ น่าเสียดายที่ท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจนรุนแรงขององค์กรตุลาการเช่นนี้กลับไม่เกิดขึ้นกับการก่อการรัฐประหารหรือประกาศคณะรัฐประหารที่มีเนื้อหาไม่เป็นธรรมอื่นๆ
 
เมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา ๓๐๙ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติว่า บรรดาการใดๆ ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราขอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฏหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้แล้ว คงแทบไม่ต้องคาดหวังเลยว่าศาลไทยจะประกาศไม่ยอมรับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน
 
นับแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มีบททดสอบหลายกรณีขึ้นไปสู่ศาล ศาลมีโอกาสหลายครั้งในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับรัฐประหารหรือผลผลิตของรัฐประหาร แต่คำตอบที่สังคมได้รับยังคงอยู่ในสูตรเดิมๆ ประเภทที่ว่า “คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์” หรือทันสมัยหน่อยก็เช่น “บทบัญญัติในมาตรา ๓๐๙ ของรัฐธรรมนูญรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้กับรัฐประหารและผลผลิตของคณะรัฐประหาร”
จนกระทั่งมาถึงคดีที่สังคมสนใจไม่มากเท่าไรนัก อย่างคดีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ (คดีหมายเลขแดงที่ อม.๙/๒๕๕๒) ดังที่ปรากฏตามข่าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า นายยงยุทธจงใจแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จโดยปกปิดข้อเท็จจริงไม่แจ้งให้ทราบ จึงต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา ๕ ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. ให้จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๔,๐๐๐บาท แต่นายยงยุทธไม่เคยมีคดีถูกลงโทษจำคุก จึงให้รอลงโทษไว้ ๑ ปี
ผลของคำวินิจฉัยอาจไม่เกินความคาดหมายของนายยงยุทธ ผู้สนับสนุนนายยงยุทธ ผู้สนับสนุนขั้วการเมืองขั้วเดียวกับนายยงยุทธ ตลอดจนศัตรูทางการเมืองของนายยงยุทธ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ ในคำวินิจฉัยส่วนตนของผู้พิพากษาท่านหนึ่งที่ร่วมเป็นองค์คณะในคดีนี้ (เสียงข้างน้อย) ได้ประกาศชัดเจนและตรงไปตรงมาถึงการไม่รับรองรัฐประหาร
 
ผมมีข้อสังเกตสั้นๆ สามประเด็น
 
หนึ่ง ผู้พิพากษาท่านนี้เห็นว่าศาลมีพันธกิจในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และปกปักรักษาประชาธิปไตย
 
สอง ผู้พิพากษาท่านนี้เห็นว่าหากศาลรับรองรัฐประหาร ย่อมเป็นการส่งเสริมให้เกิดรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป
 
สาม ผู้พิพากษาท่านนี้เห็นว่าโลกปัจจุบัน นานาอารยะประเทศไม่ยอมรับรัฐประหาร เมื่อกาละและเทศะเปลี่ยนไปจากเดิม ศาลจึงไม่อาจรับรองรัฐประหาร ดังที่เคยปรากฏตามคำพิพากษาในอดีต
 
ขอคารวะในความกล้าหาญ ความกล้าที่จะเป็นหินก้อนแรกของท่านผู้พิพากษากีรติ กาญจนรินทร์ หินก้อนแรกที่หย่อนลงไปในสายธารประวัติศาสตร์ ประกาศให้สังคมได้รับรู้ว่า...
 
ในนิติรัฐ “แบบไทยๆ” และประชาธิปไตย “แบบไทยๆ” เป็นไปได้ที่ศาลจะไม่ยอมรับรัฐประหาร
 
....
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net