Skip to main content
sharethis

หลังจาก ปตท. ร่วมดำเนินกิจการน้ำมันกับออสเตรเลียและตั้งแหล่งขุดเจาะในทะเลติมอร์ จนเกิดการรั่วขึ้นเมื่อราวสองเดือนก่อน ล่าสุดขณะพยายามสกัดการรั่วไหลเกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ซ้ำ พรรคเขียวออสเตรเลียเผยเป็นภัยครั้งใหญ่ นักอนุรักษ์เกรงกระทบสิ่งแวดล้อม คาดผลกระทบอาจอยู่ไปถึง 20 ปี

 
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการพบรอยรั่วหลุมขุดเจาะน้ำมันเวสท์แอตลาส ของบริษัทร่วมทุน ปตท.สพ. ในออสเตรเลีย ซึ่งเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าชาวประมงราว 7,000 คนได้รับผลกระทบ จากการมีน้ำมันถูกปล่อยออกสู่ทะเลติมอร์หลายพันบาร์เรล
 
ในรายงานจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจยังระบุอีกว่า จนถึงปัจจุบันมีชาวประมงสูญเสียรายได้ไปแล้วมากกว่า 80 เปอร์เซนต์ ส่วนกองทุนสัตว์ป่าโลกกล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของออสเตรเลีย
 
ทางสำนักข่าวไทยรายงานว่า บริษัทร่วมทุน ปตท.สพ. เข้าซื้อกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในออสเตรเลียช่วงต้นปี 2552 โดยมีแหล่งน้ำมันคือ Jabiru + Challis, Montara และ Cash Maple ซึ่งในช่วงต้นปีนั้นเอง แหล่งน้ำมันที่ชื่อ Montara มีการพัฒนามาส่วนหนึ่งแล้วก่อนที่ทาง ปตท.สพ. จะมารับช่วงต่อ และพบว่ามีน้ำมัน/ก๊าซ รั่วออกมาดังกลาว
 
สำนักข่าวไทยระบุอีกว่าทาง ปตท.สผ. ได้ประสานงานกับรัฐบาลออสเตรเลียเรื่องการขจัดคราบน้ำมันและดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด รวมทั้งวางแผนการสกัดการรั่วไหลของน้ำมันและก๊าซฯ ซึ่งด้วยกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดของออสเตรเลีย และ ปตท.สผ. เลือกที่จะหยุดการรั่วไหลด้วยการเจาะหลุมใหม่เข้าไปสกัดการรั่วไหลที่ก้น หลุม ใช้ความพยายามอยู่ 5 ครั้ง มาประสบความสำเร็จในครั้งที่ 5 เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายนนี้ การทำงานทั้งหมดนี้อาศัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านคือ บริษัท Alert Well Control และประสานงานกับรัฐบาลออสเตรเลียอย่างใกล้ชิด ขณะที่เข้าไปควบคุมการรั่วไหลที่ก้นหลุม เกิดเพลิงไหม้ที่ปากหลุมโดยไม่ทราบสาเหตุ
 
กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ในวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมาแท่นขุดเจาะน้ำมันเวสท์แอตลาสก็เกิดเพลิงลุกไหม้ระหว่างการพยายามอุดรอยรั่ว ส่งผลให้เกิดไฟลุกท่วมบนแท่นขุดเจาะที่อยู่ห่างจากชายฝั่งออสเตรเลีย ราว 250 กม. ส่วนสำนักข่าวไทยรายงานว่าทางบริษัทได้เตรียมการสกัดกั้นการรั่วไหลด้วยการอัดโคลนเข้าไปอีก และทันทีที่ดับไฟได้ก็จะส่งทีมขึ้นไปตรวจสอบความเสียหาย
 
ด้านสื่อต่างประเทศ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวไว้ในเว็บไซต์อัลจาซิร่า ว่าเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้จะยิ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม จากที่การรั่วไหลของน้ำมันก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว
 
โดย บ็อบ บราวน์ หัวหน้าพรรคสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย บอกว่าเหตุน้ำมันรั่วไหลและเพลิงไหม้ครั้งนี้ถือเป็น "หนึ่งในเหตุภัยพิบัติที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย" โดยเขาชี้ว่าเรื่องนี้เกิดจากการที่รัฐบาลละเลยปล่อยให้บริษัทดำเนินการแก้ปัญหาอุดรูรั่วเอง
 
รัฐมนตรีด้านทรัพยากรของออสเตรเลีย แถลงว่าในช่วงนี้จะเน้นปฏิบัติการในด้านการลดความรุนแรงของเหตุเพลิงไหม้ โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
 
อัลจาซีร่า ระบุอีกว่านับตั้งแต่การรั่วไหลของน้ำมันในวันที่ 21 ส.ค. มีน้ำมันดิบไหลลงทะเลติมอร์ 400 ถึง 2,000 บาร์เรล ต่อวัน ส่วนเว็บไซต์ความมั่นคงทางทะเลของรัฐบาลออสเตรเลียบอกว่ามีการรั่วไหลของน้ำมันราว 300 ถึง 400 บาร์เรล
 
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประเมินว่ามีน้ำมันดิบราว 10 ล้านลิตรแล้วที่ไหลลงทะเลติมอร์ ทำให้เกิดผลกระทบกับสัตว์ทะเลและผลกระทบดังกล่าวจะดำรงอยู่ถึง 20 ปี
 
ในวันที่ 3 พ.ย. บลูมเบิร์ก รายงานว่าทางบริษัท ปตท.สพ. จะใช้ความพยายามครั้งที่ 4 ในการอุดรูรั่ว และทาง ปตท.สผ. จะจ่ายค้าชดเชยในการทำความสะอาดและควบคุมการรั่วไหลให้กับหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลของรัฐบาลออสเตรเลีย เป็นจำนวนเงิน 177 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 5,200 ล้านบาท)
 
เหล่านักสำรวจทางธรรมชาติระบุว่าในแถบชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือมีปลาวาฬอยู่ราว 22,000 ตัว ขณะที่หน่วยงานการท่องเที่ยวของรัฐบาลออสเตรเลียบอกว่าพื้นที่ในแถบดังกล่าวเป็นพื้นที่ "หนึ่งในโลกที่ยังคงหลงเหลือเขตสำหรับสัตว์" ซึ่งรวมถึงงูทะเล, พะยูน และเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล
 
ขณะเดียวกันทางออสเตรเลียก็ปฏิเสธผ่านสำนักข่าว AAP ของออสเตรเลียว่า การรั่วไหลของน้ำมันดังกล่าวไม่ได้ ล่วงล้ำเข้าไปถึงชายฝั่งอินโดนีเซีย ด้านเอกอัครราชทูตออสเตรเลียในอินโดนีเซียบอกว่าน้ำมันจำนวนน้อย ไม่หนาแน่น และไม่เป็นอันตราย ทำให้ไม่พบผลกระทบในด้านลบกับสภาวะแวดล้อมทางทะเล ในเขตเศรษฐกิจขอินโดนีเซีย
 
 
 
ที่มา เรียบเรียงจาก
 
Fire crews battle Timor rig blaze, Al Jazeera, 02-11-2009
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net