Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 25 ส.ค.47 "สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช" วิพากษ์นโยบายเอฟทีเอ" ทักษิณ" ขาดยุทธศาสตร์ร่วม ทั้งไม่ได้เกิดประโยชน์กับประเทศเหมือนกันทั้งหมด เสนอชะลอแผนทำเอฟทีเอออกไปก่อน จนกว่าจะมีมาตรการรองรับ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า
รัฐบาลควรชะลอแผนเจรจาและเปิดการค้าเสรีแบบทวิภาคี(เอฟทีเอ) และเปิดช่องให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาร่วมกัน

ทั้งนี้ เขาได้อ้างผลการศึกษาเอฟทีเอของทีดีอาร์ไอซึ่งแบ่งการเจรจาออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ เอฟทีเอไทย-จีน-ญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลต่อการค้าและประโยชน์ของประเทศไทยถึง 80 % ขณะที่กลุ่มที่สอง ได้แก่ ออสเตรเลียและอินเดีย ซึ่งให้ประโยชน์ กับประเทศไทยเพียง 10 % ของกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มที่สาม ได้แก่ เปรู และบาเรน ให้ประโยชน์เพียง 10 % ของกลุ่มที่สอง

ผมขอเสนอให้หยุดการทำเอฟทีเอก่อน จนกว่าจะกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันได้ และต้องมีมาตรการรองรับที่ไปไกลกว่ามาตรการทางการค้า " ดร.สมเกียรติกล่าว

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การทำเอฟทีเอ จะส่งผลต่อภาคธุรกิจบริการมากกว่าภาคสินค้าและภาษี แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครพูดถึงประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตามในแง่ดีก็จะทำให้การลงทุน และระบบการกำกับดูแลภาคธุรกิจมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น อีกทั้งยังถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าประเทศไทยกำลังมีการปฎิรูปธุรกิจ

แต่การทำเอฟทีเอก็พบความเสี่ยงหลายด้าน กล่าวคือ ประเทศใหญ่จะพัวพันการค้าเข้ากับการเมือง ซึ่งไม่ปรากฏบนโต๊ะการเจรจาการค้า ผู้บริโภคอาจได้ประโยชน์จากเอฟทีเอ แต่ผู้ประกอบการอาจต้องแข่งขันและปรับตัวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานและฐานการผลิต เกิดการผูกขาดธุรกิจบริการจากลุ่มทุนประเทศยักษ์ใหญ่

นอกจากนี้ยังเกิดความเสี่ยงจากกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาผลักดันให้เกิดการเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งทำได้ง่ายกว่า WTO

" ปัจจุบันรัฐบาล ยังไม่มีการเชื่อมโยงนโยบาย การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เข้ากับการทำเอฟทีเอ ขาดความเชื่อมโยงนโยบายการปรับโครงสร้าง การผลิตของไทยรวมทั้งขาดนโยบายด้านธุรกิจบริการ ซึ่งไม่ควรเชื่อถือข้อมูลจากผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ต้องมีข้อมูลจากผู้ผลิตและผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้องด้วย และที่สำคัญรัฐขาดนโยบายคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติที่ชัดเจน "

รายงานโดย : พิณผกา งามสม
ศูนย์ข่าวประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net