Skip to main content
sharethis

ประชาไท—15 ธ.ค. 2549 ภาคีคนฮักเจียงใหม่ยื่นหนังสือวอน มท.1 ระงับการอนุมัติโครงการก่อสร้างพนังกั้นสองฝั่งแม่น้ำปิง ระบุชัดเป็นการผลาญงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริง และยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิมให้หนักยิ่งขึ้น พร้อมชี้ขั้นตอนการทำงานโครงการที่ผ่านมา ขาดความโปร่งใส-ชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง
      
วานนี้(14 ธ.ค.49) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ศาสตราจารย์เฉลิมพล แซมเพชร ผู้ประสานงานภาคีคนฮักเจียงใหม่ ได้เป็นตัวแทนเข้าพบนายวิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือผ่านถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้พิจารณาระงับการอนุมัติโครงการก่อสร้าง คันป้องกันน้ำท่วมแม่น้ำปิง พร้อมมอบเอกสารข้อสังเกตและปัญหา เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวให้ประกอบการพิจารณา
      
ศาสตราจารย์เฉลิมพล กล่าวว่า การยื่นหนังสือในครั้งนี้ของภาคีคนฮักเจียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ต้องการ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท้องถิ่นตนเองอย่างยั่งยืน สมดุลและเป็นธรรม ก็เพื่อขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรงมหาดไทย ได้พิจารณาระงับโครงการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำปิง ตามโครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนจังหวัดเชียงใหม่(ระยะเร่งด่วน ระยะที่1) ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ได้ประมูลคัดเลือกเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 ก.ย.49 และรอเพียงขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณเท่านั้น
      
ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงภาคีคนฮักเจียงใหม่เท่านั้น ที่คัดค้านและตั้งข้อสังเกตถึงความไม่เหมาะสมของโครงการนี้ เพราะยังมีองค์กรประชาชนอีกหลายกลุ่ม ที่มีความเห็นเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความใส่ใจ และยังคงพยายามผลักดันการก่อสร้างโครงการให้ได้เร็วที่สุดด้วย ทั้งๆ ที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะก่อสร้างบริเวณใดแน่ เนื่องมาจากขั้นตอนการขยายลำน้ำแม่ปิงให้มีความกว้างเฉลี่ย 90 เมตร ยังไม่แล้วเสร็จ
      
สำหรับโครงการดังกล่าว หากเริ่มดำเนินการไปแล้วเห็นว่า จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่แล้ว เพราะอาจจะเกิดปัญหาน้ำล้นคันกั้นเข้าท่วมตัวเมือง และไม่สามารถระบายกลับลงสู่แม่น้ำได้ ขณะเดียวกันยังเสี่ยงต่อการสูญเสียงบประมาณแผ่นดิน ที่ต้องรื้อทิ้งสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวนี้ในอนาคตอีกด้วย หากโครงการขยายแนวลำน้ำและสิ่งรุกล้ำเริ่มดำเนินการ
      


นอกจากนี้ยังเป็นที่ชัดเจนว่า ขั้นตอนการทำงานและรายละเอียดของโครงการนี้ ขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่เน้นหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส เนื่องจากการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินทุกโครงการ ต้องยืนอยู่บนหลักการที่เป็นประโยชน์ มีเหตุผล ไม่ใช่เป็นโครงการที่ขัดแย้งกันเองกับโครงการของหน่วยงานอื่นๆ
      
ขณะที่นายวิชัย กล่าวว่า หนังสือขอให้พิจารณาระงับการอนุมัติโครงการก่อสร้าง คันป้องกันน้ำท่วมแม่น้ำปิงดังกล่าวนี้ จะเร่งนำเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาต่อไป
      
ส่วนความเห็นต่อโครงการนี้ในเบื้องต้น โดยส่วนตัวยังไม่สามารถแสดงความเห็นใดๆ ได้ เพราะเพิ่งเดินทางมารับตำแหน่งใหม่ได้ไม่นาน ต้องขอเวลาในการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้อย่างละเอียดเสียก่อน แต่ยืนยันว่าการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ เป็นสิ่งที่ตนเองให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีผู้นำเสนอเกี่ยวกับการทำแก้มลิง ให้แม่น้ำปิงทางตอนบนเหนือเมืองเชียงใหม่ ซึ่งได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมแล้ว โดยถือเป็นแนวทางหนึ่งของการแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจ
      
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดการปัญหาการบุกรุกพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำปิงว่า ในเบื้องต้นต้องขอเวลาในการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด แต่ยืนยันได้ว่าจะต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังแน่นอน โดยเฉพาะหากพบว่ามีรายใดที่รุกล้ำขวางทางน้ำของแม่น้ำปิง จะต้องถูกดำเนินการขั้นเด็ดขาด
      
พร้อมทั้งบอกว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ จากนี้ไปในช่วงที่ตนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่นั้น จะดำเนินการโดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด และเป็นที่พอใจของประชาชน ทั้งนี้จะไม่ใช้วิธีการสั่งการในการทำงาน แต่จะยึดประโยชน์ของท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง
      
อนึ่ง สำหรับข้อสังเกตและปัญหาเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมแม่น้ำปิง ซึ่งจัดทำโดยฝ่ายข้อมูลภาคีคนฮักเจียงใหม่ มีเนื้อหาทั้งหมดระบุว่า สถานการณ์ล่าสุด กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เปิดประมูลว่าจ้างผู้รับเหมา ก่อสร้างพนังกั้นน้ำแม่น้ำปิง ในชื่อการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำปิง ตามโครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (ระยะเร่งด่วน ระยะที่ 1) ไปเมื่อ 29 ก.ย. 2549 (หลังเหตุการณ์ยึดอำนาจ) โดยได้เอกชนจำนวน 2 ราย คือ บริษัท วิเศษไชย จำกัด จำนวน 1 โครงการ และ บริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ จำกัด จำนวน 5 โครงการ รวมมูลค่า 679,900,000 บาท ทั้งนี้จะลงนามในสัญญาก่อสร้างเมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณ
      
รายละเอียดโครงการย่อยทั้งหมด 6 โครงการ ประกอบด้วย 1.งานก่อสร้างฝั่งตะวันตก ช่วงสะพานป่าตัน-ฟ้าฮ่าม ถึงสะพานนครพิงค์ มูลค่า 116,800,000.00 บาท ของบริษัท วิเศษไชย จำกัด 2.งานก่อสร้างฝั่งตะวันตก ช่วงสะพานนครพิงค์ ถึง ฝายพญาคำ 111,300,000.00 บาท 3.งานก่อสร้างฝั่งตะวันตก ช่วงฝายพญาคำ ถึงสะพานเม็งรายอนุสรณ์ 111,400,000.00 บาท 4.งานก่อสร้างฝั่งตะวันตก ช่วงเม็งรายอนุสรณ์ถึงสะพานทางหลวงหมายเลข1141มูลค่า103,300,000.00 บาท 5.งานก่อสร้างฝั่งตะวันออก ช่วงสะพานนครพิงค์ ถึงค่ายกาวิละ มูลค่า 119,000,000.00 บาท และ 6.งานก่อสร้างฝั่งตะวันออก ช่วงค่ายกาวิละ ถึงสะพานเม็งรายอนุสรณ์ มูลค่า 118,100,000.00 บาท ซึ่ง 5 โครงการย่อยนี้เป็นของบริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ จำกัด
      
ความเป็นมาและข้อปัญหาของโครงการ
      
1.โครงการนี้เดิม เป็นโครงการที่เทศบาลนครเชียงใหม่ พยายามผลักดันมาก่อน ต่อมา กรมโยธาธิการฯ ในความดูแลของ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรมช.มหาดไทย ได้เข้ามาทำโครงการนี้เองหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมืองเชียงใหม่ปลายปี 2548
      
2. รายละเอียดของโครงการ ถูกกำหนดแล้วเสร็จมาตั้งแต่ต้นปี 2549 ดังปรากฏในคำสัมภาษณ์ของ นาย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2549 ดังนี้
      
กรมโยธาธิการและผังเมืองได้เสนอโครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำระยะทาง 20 กม. ด้วย โดยเขียนแบบเบื้องต้นแล้ว แผนงานดังกล่าว ได้เคยมีการนำเสนอมาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว และมีความพยายามเสนอของบประมาณหลายครั้ง แต่ยังเป็นที่วิพากษ์ถึงความจำเป็นและผลกระทบภูมิทัศน์เมือง โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการอย่างต่อเนื่อง จากเดิมจะมีความยาว 12.8 กม. ความสูงของคันเฉลี่ย 2.10 เมตร ล่าสุดจากเอกสารการเสนอแผนเข้าครม.พบว่ามีการปรับเปลี่ยนความสูงเฉลี่ยเหลือ 1.20 เมตร แต่ความยาวเพิ่มเป็น 19.4 กม. และงบประมาณเพิ่มสูงเป็น 2,217.1 ล้านบาท
      


โครงการนี้ใช้ชื่อว่างานป้องกันน้ำท่วมพื้นที่วงแหวนรอบใน และพื้นที่วงแหวนรอบกลางด้านใต้ ประกอบด้วย คันป้องกันน้ำท่วม ประตูระบายน้ำ ประตูท่อ สถานีสูบน้ำ และท่อระบายน้ำหลัก ค่าก่อสร้างรวม 1,926.1 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง "งานระยะเร่งด่วน" ที่ต้องเสร็จใน2ปี ประมาณ1,354.8 ล้านบาท และ "งานต่อเนื่อง" ประมาณ 571.3 ล้านบาท นอกจากนั้นมีการศึกษา จัดทำแผนหลัก ศึกษาความเหมาะสม เพื่อป้องกันน้ำขังในเขตเทศบาลฯ ใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังมืองในปีงบประมาณ 2549 จำนวน 29.1ล้านบาท รวมงบประมาณเพื่อการนี้ 2,217.1 ล้านบาท
      
ทั้งนี้งานเร่งด่วนที่จังหวัดเชียงใหม่เสนอ ประกอบด้วยการก่อสร้างคันกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำปิง ระยะทางรวม19.4 กม. แบ่งเป็น7สัญญา มูลค่าสัญญาต่ำสุด 114.4ล้านบาท สูงสุด 277.2 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณปี2549จำนวน 680 ล้านบาทและปีงบประมาณ 2550 จำนวน 574.8ล้านบาท ครอบคลุมเขตตัวเมืองเชียงใหม่ และจุดสำคัญสองฝั่งแม่น้ำปิง เช่นสะพานนครพิงค์ สะพานนวรัฐ ตลาดวโรรส ย่านไนท์บาซาร์โดยมีรัศมีครอบคลุมทั้งทางตอนเหนือและใต้ของเมืองด้านละประมาณ 5 กม.
      
นอกจากนี้ ยังมีงานต่อเนื่องอีกคือก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 7 แห่งวงเงิน 193.2ล้านบาท,ประตูระบายน้ำ 8 แห่ง วงเงิน 46ล้านบาท,ประตูท่อระบายน้ำ 15 แห่ง วงเงิน 15.5 ล้านบาท,ปรับปรุง/ขุดลอกคลองระบายน้ำ 6.5 กม. วงเงิน 15 ล้านบาท,ท่อระบายน้ำหลัก 5.3กม.วงเงิน 274.3 ล้านบาท,ปรับปรุงสาธารณูปโภค (ท่อระบายน้ำ/ประปา/ไฟฟ้า) 27.3 ล้านบาท"
      
3. ต่อมามีการประชุมราษฎรหลายครั้ง เพื่อชี้แจงโครงการนี้อ้างว่าเพื่อรับฟังความคิดเห็น มีการคัดค้านรูปแบบ และ ประสิทธิภาพการแก้ปัญหา ถึงขึ้นที่ ตัวแทนกรมโยธาธิการ รับจะไปปรับแก้แบบก่อสร้าง และ มีการยืนยันว่า จะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย ซึ่งปรากฏภายหลังว่า ไม่มีขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่อ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้มีกลุ่มราษฎร ประชาชนริมแม่น้ำปิง และนักวิชาการจำนวนมาก ออกมาคัดค้านโครงการนี้ มีการติดป้ายผ้าคัดค้านตลอดแนวแม่น้ำปิงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป
      
4. ในช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม 2549 คณะทำงานตรวจสอบการบุกรุกแม่น้ำปิง พบว่า มีการรุกล้ำลำน้ำตลอดแนวแม่น้ำในเขตตัวเมือง บางจุดเป็นคอขวด และเป็นสาเหตุหลักของการระบายน้ำต่อมามีการถกเถียงเรื่องมาตรการแก้ปัญหา จนที่สุดแล้ว ได้มีการยอมรับในระดับนโยบายว่า จะต้องขยายลำน้ำปิงช่วงที่แคบอย่างเร่งด่วนเพื่อให้มีความกว้างเฉลี่ย 90 เมตร ทั้งนี้จุดที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ บริเวณกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5
      
5. จากกรณีดังกล่าว ชี้ชัดว่า การเร่งก่อสร้างพนังกั้นแม่น้ำปิง ตามข้อเสนอของ กรมโยธาธิการฯ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ มิหนำซ้ำจะเป็นตัวเร่งให้เกิดน้ำท่วมภายในตัวเมืองมากขึ้น เพราะหากก่อสร้างตามแนวลำน้ำเดิมที่เล็กแคบ เป็นคอขวด ก็คือ การสกัดมวลน้ำให้ย้อนกลับไปเอ่อท่วมตัวเมืองนั่นเอง นอกจากนั้น การก่อสร้างแนวพนังก็คือการยอมรับแนวเขตการบุกรุกลำน้ำโดยปริยาย ดังนั้น การก่อสร้างโครงการนี้จะต้องกระทำหลังจากการแก้ปัญหาเรื่องแนวเขตลำน้ำเป็นที่ยุติเสียก่อน
      
6. หากเร่งก่อสร้างตามแผนงานดังกล่าว จะเป็นการสุ่มเสี่ยงที่รัฐต้องเสียงบประมาณในการรื้อทิ้ง และก่อสร้างใหม่อีกรอบ หากว่ามีการขยายแนวลำน้ำเป็นที่เรียบร้อย การเดินหน้าก่อสร้างโครงการนี้ขัดกับนโยบายรัฐบาลที่เน้นโครงการประหยัด และเป็นประโยชน์แท้จริง
      
7. มีข้อสังเกตถึงความพยายามของฝ่ายการเมือง ที่ต้องผลักดันโครงการนี้โดยเร็ว ทำให้ กระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนที่ผ่านมา ตลอดถึงการรับปากในประเด็นต่างๆ เช่นการแก้ไขแบบ การจะทำเฉพาะจุดที่เป็นปัญหาและสามารถก่อสร้างได้ก่อนเพียงจุดเดียว ฯลฯ กลายเป็นกระบวนการตบตา หลอกลวงประชาชน เพราะกรมโยธาธิการมีเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่ต้นปี 2549 แล้วว่า จะต้องก่อสร้างตามแบบและแนวเขตเดิมทั้งหมด แม้ว่า มีหลักฐานและข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนให้ชะลอการก่อสร้างไปก่อน ก็ไม่ได้รับการรับไว้พิจารณาอย่างแท้จริง
      
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า การเร่งผลักดันโครงการนี้ให้ทันภายในเดือนก.ย. 2549 นอกจากให้ทันปีงบประมาณ 2550 แล้ว ยังสอดคล้องกับช่วงเวลาใกล้กำหนดเลือกตั้งใหญ่ แต่บังเอิญที่เกิดเหตุรัฐประหารยึดอำนาจเสียก่อน

      
ข้อเสนอ ประกอบด้วย
      
1.ขอให้รัฐบาลระงับการอนุมัติการก่อสร้างโครงการนี้ทั้งหมด เพราะเงื่อนไขการประมูลระบุชัดว่า หากไม่มีการอนุมติงบประมาณก็ไม่ต้องลงนามในสัญญา และขอให้ ทบทวนแผนการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่โดยรอบคอบ เนื่องจากมีโครงการอีกจำนวนมากที่ถูกผลักดันจากกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นโครงการที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง
      
2. ขอให้ตรวจสอบกระบวนการผลักดันโครงการย้อนกลับไปที่ขั้นตอนการพิจารณา เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำผิดขั้นตอนหลายอย่าง เช่น ไม่ได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้วยการการหลีกเลี่ยงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ด้วยการแยกย่อยสัญญาออกเป็นช่วงๆ และไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นประชาชนอย่างตรงไปตรงมา
 



ทั้งนี้ ด้าน ศจ.เฉลิมพล แซมเพชร ผู้ประสานงานภาคีคนฮักเจียงใหม่ ได้เป็นตัวแทนเข้าพบนายวิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือผ่านถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้พิจารณาระงับการอนุมัติก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมแม่น้ำปิงอีกด้วย


 


000


ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net