Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในมุมมองทางการเมือง หรือในมิติ “ความเป็นการเมือง” (the political) ที่มีการแบ่งฝ่าย แยกมิตร แยกศัตรูชัดเจน การนิรโทษกรรมคดี 112 ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากที่สุด หรือเป็นไปไม่ได้เลยในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะแค่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ 112 ตามกระบวนการรัฐสภาก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัตสินว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เสียแล้ว และอยู่ระหว่างถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค

ตรงกันข้ามกับการทำรัฐประหารด้วยข้ออ้างปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งผิดกฎหมายมีโทษถึงประหารชีวิต แต่คณะรัฐประหารก็นิรโทษกรรมให้ตัวเองได้อย่างง่ายดาย ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยรับวินิจฉัย “คดีล้มล้างการปกครองและฉีกรัฐธรรมนูญ” ของคณะรัฐประหารเลย

ทำให้เกิดคำถามว่าศาลรัฐธรรมนูญมีไว้ทำไม? มีไว้ปกป้องรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยจริงหรือ ปกป้องจากอะไร จากคณะรัฐประหาร หรือจากพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

อีกอย่างการแก้ 112 ในยุครัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเพื่อเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้น ก็ทำได้อย่างง่ายดาย แต่การเสนอแก้ 112 ตามกระบวนการรัฐสภาเพื่อลดอัตราโทษลงให้สมเหตุสมผล และเพื่อให้ “การวิจารณ์หรือติชมโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ถูกยกเว้นความผิด ซึ่งเป็นการคุ้มครองเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกของประชาชนให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนชัดเจนขึ้น กลับเป็นเรื่องต้องห้าม และกลายเป็นการล้มล้างการปกครอง “ระบอบประชาธิปไตยฯ” เฉยเลย

ทำให้เกิดคำถามต่อ “การปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ” ว่าทำไมระบอบประชาธิปไตยฯ ที่ว่านี้ไม่คุ้มครองเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกของประชาชน ซึ่งเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย แต่กลับคุ้มครองสถานะและอำนาจที่สูงส่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสถาบันกษัตริย์มากกว่า

นี่คือความเป็นจริงในทางการเมืองที่ “อำนาจนำทางการเมือง” (political hegemony) ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลหรือรัฐสภา ซึ่งเป็นสถาบันอำนาจตัวแทนของประชาชน แต่อยู่ที่อำนาจนอกระบบรัฐสภาที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับ “ความยินยอม” (consent) ของประชาชนผ่านกระบวนการประชาธิปไตย จึงทำให้เราเชื่อว่าการนิรโทษกรรมคดี 112 เป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หากมองในทางปรัชญา กลับทำให้เราเห็น “ความมีเหตุผลสนับสนุน” (justification) การนิรโทษกรรม 112 ที่หนักแน่นมาก

1. เหตุผลเรื่องหลักความยุติธรรมสาธารณะ (the principles of public justice) หรือหลักความยุติธรรมทางสังคมและการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือ “หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม” ได้แก่ เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การชุมนุม หรือเสรีภาพในการอภิปรายประเด็นสาธารณะทางการเมืองได้ทุกเรื่องทั้งในและนอกสภา โดยบุคคลสาธารณะ หรือสถาบันทางสังคมและการเมืองใดๆ เช่น นักการเมือง พรรคการเมือง รัฐบาล ประมุขของรัฐ ฯลฯ ต้องไม่อยู่เหนือหลักเสรีภาพดังกล่าว

ปัญหาของบ้านเราคือ ฝ่ายปกป้องสถาบันกษัตริย์กับฝ่ายตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ไม่มีเสรีภาพที่เท่าเทียมในการแสดงออก ฝ่ายแรกนอกจากมีเสรีภาพแสดงออกในทางสรรเสริญสดุดีได้เต็มที่แล้ว ยังสามารถใช้ 112 และกลไกอื่นๆ ของรัฐล่าแม่มดฝ่ายหลังได้อีกด้วย ส่วนฝ่ายหลังไม่มีเสรีภาพในการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์ทั้งในสภา (เช่นกรณีก้าวไกลแค่เสนอแก้ 112 ที่ต้องผ่านกระบวนการอภิปรายในสภาก็ทำไม่ได้แล้วเป็นต้น) และนอกสภา (เช่นกรณีอานนท์ นำภาปราศรัยเรื่องปัญหาการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็โดน 112 แล้วเป็นต้น) การไม่มีเสรีภาพดังกล่าวคือ “ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง” หรือความไม่เป็นธรรมในการใช้สิทธิและเสรีภาพแสดงออกในทางการเมือง ซึ่งขัดหลักความยุติธรรมสาธารณะตามระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง

ดังนั้น การนิรโทษกรรมคดี 112 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้ที่สังคมเราจะเดินหน้าต่อในการสร้างระบอบประชาธิปไตยร่วมกันจากประชาชนทุกฝ่ายที่เห็นต่าง เพื่อสถาปนาหลักความยุติธรรมสาธารณะตามระบอบประชาธิปไตยให้เป็นจริงต่อไป

2. เหตุผลเรื่องคุณค่าของความจริง เราคงเคยได้อ่านข้อความว่า “เมื่อการวิจารณ์เป็นเรื่องต้องห้าม การสรรเสริญก็ไร้ความหมาย” เพราะการสรรเสริญภายใต้สภาพการถูกบังคับให้พูดถึงแต่ด้านดีของสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ก็ย่อมจะมากด้วยการประจบสอพลอเกินจริง และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าที่สรรเสริญว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ดีจริงตามคำสรรเสริญนั้นๆ หรือไม่ สุดท้ายแล้วการสรรเสริญก็เป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” ส่วนบุคคลหรือความรู้สึกของกลุ่มบุคคลที่ถูกปลุกกระแสเป็นพักๆ นานวันเข้าก็กลายเป็น “การทำตามๆ กันเป็นประเพณี” ตามที่ถูกเกณฑ์หรือบังคับให้ทำ และคนที่ทำๆ กันตามประเพณี ก็ทำกันอย่างปราศจากความรู้สึกซาบซึ้งในพิธีการสดุดีสรรสริญนั้นๆ จากใจจริง

เพราะเมื่อไม่สามารถรู้ได้ว่าคำสรรเสริญๆ นั้นเป็น “ความจริง” หรือไม่ เนื่องจากคำสรรเสริญนั้นๆ ไม่เคยถูกทดสอบด้วยข้อมูลอีกด้าน ความรู้สึกซาบซึ้งที่เคยเกิดจากการปลุกกระแสก็ค่อยๆ จางหาย กลายเป็นความชินชา หรืออาจเปลี่ยนเป็นความสงสัย และการตั้งคำถามต่างๆ ตามมา

ในด้านกลับกัน การลงโทษคนแบบ “อานนท์ นำภา” และนักกิจกรรมทางการเมืองคนอื่นๆ ด้วยมาตรา 112 ก็คือการปิดกั้นเสรีภาพในการตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบที่ทั้งลดคุณค่าของความจริง “ทุกด้าน” เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เอง และทำลายความจริงของเนื้อหาสาระของการตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบที่อาจเกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม รวมทั้งทำลายความจริงของเจตนารมณ์ของคนแบบอานนท์และคนอื่นๆ ที่ต้องการให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบสังคมอารยะ ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนและสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว

ยิ่งกว่านั้น หากกระบวนการพิจารณานิรโทษกรรม “คดีการเมือง” จากปี 2548 ถึงปัจจุบันของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมสภาผู้แทนราษฎรที่อ้างว่าจะพิจารณาการกระทำที่เกิดจาก “แรงจูงใจทางการเมือง” เป็นประเด็นสำคัญ ก็ยิ่งชัดเจนว่าการต่อสู้ของอานนท์และนักกิจกรรมทางการเมืองคนอื่นๆ ที่โดน 112 เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองอย่างแน่นอนที่สุด นั่นคือ แรงจูงใจทางการเมืองที่ต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นี่คือ “ความจริง” ที่ถูกละเลยอย่างจงใจ หากการนิรโทษกรรมคดีการเมืองไม่รวมคดี 112 ด้วย โดยอ้างว่าเป็น “ประเด็นอ่อนไหว” (ดู https://prachatai.com/journal/2024/05/109095)   

สิ่งที่เราต้องตั้งสติคิดกันให้ชัดเจนคือ การนิรโทษกรรมคดี 112 ต่างหากที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่มีวัฒนธรรมยอมรับและเห็นคุณค่าของความจริง เป็นสังคมที่อยู่กันด้วยความจริง และมีเสรีภาพในการพูดความจริงที่เกิดประโยชน์สาธารณะ มากกว่าที่จะอยู่กันด้วยการครอบงำให้ศรัทธาภักดีและหวาดกลัว โดยอ้างเรื่อง “ความอ่อนไหว” ต่อสถาบันกษัตริย์อย่างแสร้งมองข้ามความอ่อนไหวต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

3. เหตุผลเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในทางปรัชญา (สาย Kantian) เราพูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นคนในฐานะที่มันเป็น existence หรือเป็นสภาวะที่มีอยู่จริงและเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวมันเอง เราไม่ได้มีศักดิ์ศรีเพราะแต่งเครื่องแบบทหาร ศักดิ์ศรีแบบนี้ขึ้นกับเงื่อนไขของ “สถานภาพทางสังคม” ที่ซับซ้อน คุณอาจคิดว่าตนแต่งเครื่องแบบทหารแล้วมีศักดิ์ศรีกว่าอาชีพอื่นๆ หรือทหารยศสูงกว่ามีศักดิ์ศรีกว่ายศต่ำ เป็นต้น

แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถานภาพทางสังคมแบบใดๆ ไม่ว่าเงื่อนไขทางชนชั้นศักดินา ยศ ตำแหน่ง สายเลือด ความสามารถ ฉลาด โง่ เพศ ศาสนา และ ฯลฯ เรามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพราะเรามี “ความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและเสมอภาค” (free and equal human being) เหมือนกัน พูดอีกอย่างคือ เราต้องยอมรับความคิดพื้นฐานก่อนว่าเราทุกคนมี “ความเป็นคนเท่ากัน” ในฐานะที่ทุกคนต่างเป็นเจ้าของเสรีภาพและความเสมอภาค การปฏิบัติต่อกันอย่างละเมิดเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นคนจึงเป็นเรื่องที่ผิด เพราะเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเราเองและคนอื่นๆ

ดังนั้น การขังคุกอานนท์และคนอื่นๆ ที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย จึงเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง ซึ่งไม่ใช่เพียงอานนท์และนักกิจรรมทางการเมืองที่โดน 112 เท่านั้นที่ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นคน แต่ทุกคนล้วนถูกละเมิด เพราะทุกคนล้วนถูกละเมิดเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตย

อานนท์และเพื่อนๆ ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นคน ด้วยการที่รัฐไทยทำให้พวกเขากลายเป็น “นักโทษทางความคิด” (prisoner of conscience) ที่อยู่ในคุก แต่เราที่อยู่นอกคุกก็ไม่มีเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกตามหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเฉกเช่นกัน และจึงตกอยู่ในสภาพถูกบังคับไม่ให้มีศักดิ์ศรีความเป็นคนได้จริงเฉกเช่นกัน

การนิรโทษกรรมคดี 112 จึงเป็นการคืนอิสรภาพให้กับคนแบบอานนท์และเพื่อนๆ ที่เป็นนักสู้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนเองและของเราทุกคน และเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นคนแก่ประชาชนทุกคน

4. เหตุผลเรื่องความเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาค สัมพันธ์กับการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ ความคิดพื้นฐานที่ว่าความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีในตัวเอง หมายถึง “ความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและความเสมอภาค” ยังเป็นเพียง “ความเป็นมนุษย์เชิงนามธรรม” แต่ความเป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) คือการเปลี่ยนความหมายของความเป็นมนุษย์เชิงนามธรรมให้เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ นั่นคือ การมีสถานะความเป็นพลเมืองที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย, กฎหมายอื่นๆ และวัฒนธรรมทางสังคมและการเมืองที่เน้นคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียม โดยต้องไม่มีประมุขของรัฐ รัฐบาล หรือบุคคสาธารณะและสถาบันทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจใดๆ อยู่เหนือหลักเสรีภาพและความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย

การต่อสู้ของอานนท์และนักกิจกรรมทางการเมืองคนอื่นๆ ที่โดน 112 ก็คือการต่อสู้เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) หรืออยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบตามหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้จริง

การมีความเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้จริง ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับการมีระบบการปกครองที่เปิดโอกาสให้เราทุกคนได้ใช้เสรีภาพและมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในการแสดงความคิดเห็น การพูด การแสดงออกเพื่อสร้างกฎกติกา และนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่เอื้อต่อการมีสิทธิเท่าเทียมในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ที่รัฐจัดเตรียมให้ และเอื้อต่อการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมในด้านต่างๆ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของทุกคน โดยต้องไม่มีใครหรือชนชั้นใดมีอภิสิทธิ์ทางสายเลือด ศาสนา และอื่นๆ ในการครอบครองอำนาจและทรัพยากรสาธารณะเหนือคนส่วนใหญ่ในสังคมอย่างปราศจากการตรวจสอบ

ที่กล่าวมาคือหลักการและเหตุผลที่เราต้องนิรโทษกรรมคดี 112 หากเราต้องการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่พลเมืองมีศักดิ์ศรีความเป็นคนได้จริง และมีส่วนร่วมสร้างความเป็นธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ ได้จริง แม้บางคนอาจบอกว่าการพูดเรื่องหลักการ และเหตุผลในสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว เพราะใน “ทางการเมือง” เป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายที่มีอำนาจผูกขาดจะยอมให้นิรโทษกรรมคดี 112

แต่อย่างไรห็ตาม ความเป็นไปไม่ได้ เป็นเพียงความเชื่อที่ยังเป็นจริงตราบเท่าที่ความเป็นไปได้ยังไม่ปรากฏ หลายสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้ล้วนคือความเป็นไปไม่ได้ตามความเชื่อของคนในยุคก่อน อีกอย่างแม้ประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองมักไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผลที่ควรจะเป็น แต่ไม่มีสังคมใดหลีกเลี่ยงการถกเถียงในประเด็นหลักการและเหตุผลที่ใช้รองรับหรือกำหนดทิศทางที่ควรจะเป็นของระบบสังคมและการเมืองในอนาคตได้จริง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net