Skip to main content
sharethis

มาริษแจงเรื่องทักษิณพบกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ตนก็เพิ่งทราบข่าวไม่รู้รายละเอียด แต่ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย อาจเป็นฝ่ายกลุ่มในพม่าต้องการเองจะปรึกษาใครก็เป็นสิทธิของเขา ส่วน ‘ทวี’ ปัดไม่ได้ยินข่าวเรื่องนี้

7 พ.ค.2567 หลังจากเมื่อวานนี้สำนักข่าวชายขอบรายงานโดยอ้างถึงแหล่งข่าวด้านความมั่นคงชายแดนไทย ถึงกรณีทักษิณ ชินวัตร ได้พบกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ 5 กลุ่มในพม่าโดยการปะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่เชียงใหม่ นอกจากสำนักข่าวขอบแล้ว Voice of America ภาษาพม่ายังรายงานถึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

รายงานระบุว่ากลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ที่ทักษิณพบทั้ง 5 กลุ่มนั้นได้แก่ ได้แก่ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party-KNPP)องค์การแห่งชาติคะฉิ่น Kachin National Organization (KNO) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือเอ็นยูจี (National Unity Government-NUG) และสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานใต้ซึ่งมี พล.อ.เจ้ายอดศึกเป็นผู้นำซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในเจรจาสันติภาพ โดยการพบปะแต่ละครั้งเป็นการหารือถึงสถานการณ์สู้รบในพม่าและในวงหารือยังต้องการให้ทักษิณเข้ามามีบทบาทในการหาทางออกของสงครามกับรัฐบาลทหารพม่า

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ทางด้านรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าวโดยมีทั้งทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ปฏิเสธว่าตนไม่เคยได้ยินเรื่องดังกล่าวเมื่อถูกถามถึงการตรวจสอบว่าเกินขอบเขตพักโทษหรือไม่ และยังมี มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ระบุว่าเพิ่งได้ยินข่าวไม่ทราบรายละเอียด แต่ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย

ในรายงานข่าวของมติชนออนไลน์ รายงานถึงคำให้สัมภาษณ์ของมาริษด้วยว่า เรื่องที่ทักษิณพบกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่านั้นตนได้ทราบข่าวมาแต่ไม่ทราบรายละเอียดและไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย และยอมรับว่าทักษิณเป็นคนกว้างขวางและมีเพื่อนฝูงมากซึ่งทางพม่าคงเห็นว่าทักษิณมีความสามารถช่วยได้ หากทางการพม่า รัฐบาล หรือชนกลุ่มน้อยขอให้ทักษิณช่วยก็เป็นเรื่องของเขาและถือเป็นสิทธิของเขาที่จะไปปรึกษาหารือกับใคร 

ทั้งนี้ รมว.ต่างประเทศได้ย้ำในการให้สัมภาษณ์ด้วยว่าประเด็นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทยและไม่ได้ทราบในรายละเอียดของข่าวดังกล่าว

ส่วนจุดยืนของรัฐบาลไทยต่อประเด็นความขัดแย้งในพม่า มาริษระบุว่าต้องการให้เกิดความสงบในพม่าและที่ผ่านมาไทยเองพยายามจะเป็นตัวกลางในการเจรจาโดยดำเนินการตามกรอบและร่วมมือกับอาเซียนด้วย บางอย่างดำเนินการอยู่แต่ขอไม่เปิดเผย แต่สิ่งสำคัญคือต้องการเห็นความสมานฉันท์ปรองดองเกิดขึ้นในพม่าเพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็จะกระทบกับไทยด้วย ส่วนเรื่องที่เป็นนโยบายตนขอไปพูดคุยกับทางกระทรวงให้เหมาะสมก่อนว่ารายละเอียดควรเป็นอย่างไร แต่ยืนยันว่ายังไม่ได้พูดคุยกับหน่วยงานด้านความมั่นคง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net