Skip to main content
sharethis

พริษฐ์ และ ชูศักดิ์ แนะเปิดประชุมสภาวิสามัญโดยเร็ว ถกแก้ไขกฎหมายประชามติ ปัจจุบันมี 2 ร่างคือพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย คาดเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน เพื่อให้นำมาสู่การเริ่มทำประชามติแก้ไข รธน.ครั้งแรก ส่วนกรอบเวลาทับเลือกตั้ง อบจ.หรือไม่นั้น รัฐบาลต้องเอาไปคิดต่อ

 

2 พ.ค. 2567 ยูทูบ The reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (2 พ.ค.) พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล และ ชูศักดิ์ ศิรินิล พรรคเพื่อไทย ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนร่วมกัน หลังชี้แจงในที่ประชุมคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564

ชูศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เขาและพริษฐ์ในฐานะผู้ให้คำปรึกษาในเรื่องรัฐบาลจะทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ และเข้าใจว่า ครม.มีมติให้ทำประชามติ 3 ครั้งและแก้ไขกฎหมายประชามติ พ.ศ. 2564 ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งตรงนี้สาธารณชนอาจเข้าใจว่าเริ่มนับหนึ่งทำประชามติแล้ว แต่มติ ครม.ชัดเจนว่า ต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเสียก่อน ถ้าแก้ไขกฎหมายเสร็จแล้ว จึงเริ่มทำประชามติเมื่อไรหลังจากนั้น

ชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการประชามติของนิกร จำนง จะต้องไปยกร่างแก้ไขกฎหมายประชามติเสียก่อน ร่างที่เขาจะยกไม่ต่างอะไรมากนักที่เขาเสนอ หรือร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือการแก้ไขเรื่อง  การได้เสียงข้างมากโดยอย่างน้อย 2 เกณฑ์ (double majority) ความหมายคือต้องเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ เกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ขั้นต่อมา เมื่อแก้ไขกฎหมายประชามติเสร็จ ก็จะมีการนำเสนอประชามติครั้งที่ 1

ชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ต่อไปจะผ่านขั้นตอนปกติคือผ่านสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งสภาฯ มีความเห็นตรงกันว่าจะเร่งรัดเอากฎหมายนี้เข้าสภาฯ ในการเปิดสมัยวิสามัญที่จะถึงเร็วๆ นี้เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายรวดเร็วขึ้น

ชูศักดิ์ ศิรินิล

พริษฐ์ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของพรรคก้าวไกล และผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ คิดว่ามี 3 ประเด็นหลักที่ได้จากการประชุมคือได้ค้นพบว่า เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีตัวแทนของรัฐบาลที่อาจจะสื่อสารผิดพลาดออกไปเรื่องกรอบเวลาในการทำประชามติ เพราะสื่อสารว่าการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นปลาย ก.ค.ถึงปลาย ส.ค. 2567 ทำให้มีการตีความว่าการประชุม ครม.เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าเป็นการนับหนึ่งเรื่องการทำ พ.ร.บ.ประชามติฯ ครั้งแรก ซึ่งตามกรอบเวลาระบุว่าต้องทำภายใน 90-120 วัน

สส.ก้าวไกล ระบุว่า อย่างไรก็ตาม เขาพบว่ายังไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรก แต่เป็นการออกมติออกมาว่าจะเริ่มนับหนึ่งต่อเมื่อนับหนึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้ “เสร็จ” เสียก่อน ดังนั้น หากยังไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ จะไม่สามารถนับหนึ่งได้ และไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาในการจัดทำประชามติได้ ซึ่งเป็นเวลาที่ชัดเจนแล้วว่าจะไม่ได้เป็นไปตามกรอบเวลาปลาย ก.ค.-ส.ค. 2567 ที่ตัวแทนรัฐบาลสื่อสารออกมาก่อนหน้านี้

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ตามที่ชูศักดิ์ ศิรินิล ได้ระบุว่าในเมื่อมติ ครม. กำหนดออกมาว่าต้องแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ให้เสร็จ และบังคับใช้ตามกฎหมายก่อน ถึงจะเริ่มนับหนึ่ง ทางเขาและชูศักดิ์เห็นตรงกันว่าในเมื่อมีร่าง 2 ร่างของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ถูกบรรจุเข้าสู่การประชุมแล้ว อยากให้ ครม.เห็นชอบในการ "เปิดประชุมวิสามัญโดยเร็วที่สุด" โดยพริษฐ์ มองว่า เมื่อเปิดประชุมโดยเร็วที่สุดโดยอาจจะไม่ต้องรอการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2568 ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเดือน มิ.ย.นี้ให้เสร็จก่อนก็ได้

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า ตอนี้คาดว่าจะมีร่างของ ครม. เข้ามาประกบเป็นร่างที่ 3 ด้วยเช่นกัน แต่ในมุมมองของเขา ถ้าไม่ทันก็มี 2 ร่างคือร่างของพรรคแกนนำรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ก็สามารถเดินหน้าต่อได้ และถ้ารัฐบาลมีข้อเสนอ สามารถให้ความเห็นในชั้น กมธ.

พริษฐ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 ของพรรคก้าวไกล คือการทบทวนประเด็นคำถามของประชามติ ตราบใดที่ยังไม่มีการนับหนึ่ง พวกเขาหวังอยากให้รัฐบาลมีการทบทวนคำถาม โดยเปลี่ยนเป็นคำถามที่เปิดกว้างมากขึ้นว่า ‘ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่’ เพราะมองว่าโอกาสให้ประชามติผ่านมากกว่า ซึ่งทำให้คนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ติดเรื่องหมวด 1 หรือ 2 ลงคะแนนอย่างเป็นเอกภาพมากกว่า ส่วนเรื่องจุดยืนของรัฐบาลไม่ต้องการให้มีการแก้ไขหมวด 1 หรือ 2 ทางพรรคก้าวไกลเข้าใจดี แต่มองคำถามเปิดกว้างแบบนี้ได้โดยรักษาจุดยืนของตัวเอง เพราะว่าหากประชามติผ่านความเห็นชอบไปแล้ว รัฐบาลมีสิทธิเปิดร่างแก้ไขรัฐบาลเกี่ยวกับ สสร. ไม่ให้ สสร.มีอำนาจในการแก้ไขหมวด 1 หรือ 2 อยู่ดี ผมเสนอด้วยความปรารถนาดีที่อยากจะเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ ประชามติครั้งแรกนั้นผ่านไปได้ด้วยดี โดยที่รัฐบาลยังรักษาสิทธิในการรักษาจุดยืนของตัวเองในการล็อกหมวด 1 หรือ 2 แม้ว่าจะต่างจากพรรคก้าวไกล แต่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้แม้ว่าจะใช้ประชามติที่เปิดกว้าง

พริษฐ์ ชิวารักษ์

พริษฐ์ กล่าวว่า ย้ำว่านี่เป็นแนวทางของ ครม. ไม่ได้เป็นข้อเสนอของพรรคใดพรรคหนึ่ง ดังนั้น คำถามคือ พ.ร.บ.ประชามติจะถูกแก้ไขเสร็จเมื่อไร ซึ่งข้อเสนอของเขาคือ ถ้า ครม.ยืนยันตามแผนนี้ว่าทำประชามติ 3 ครั้ง และเริ่มทำครั้งแรกเมื่อ พ.ร.บ.ประชามติ ถูกแก้ไขแล้ว ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือ ต้องรีบแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติโดยเร็วในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ และก็พยายามจะทำให้กระบวนการพิจารณาทั้งชั้น สภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือชั้นวุฒิสภา ผ่านไปได้โดยเร็ว

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า ส่วนคำถามว่า สว.ชุดใหม่มาเมื่อไร ต้องถาม กกต. เนื่องจากระเบียบ กกต.ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ว่าจะต้องประกาศผลภายในเมื่อไร เพราะฉะนั้น ถ้า กกต.ออกมาให้ความชัดเจนต่อสังคม ว่าหลังมีการคัดเลือกระดับประเทศเสร็จแล้ว ได้รายชื่อ 200 คน จะมีการประกาศผลเมื่อไร ตรงนี้่จะทำให้เราวางแผนปฏิทินการทำงานได้ราบรื่นขึ้น

ชูศักดิ์ คาดว่า การทำกฎหมายประชามติคาดว่าไม่น่าเสร็จเกิน 6 เดือน เป็นไปได้การเริ่มต้นทำประชามติครั้งที่ 1 นับไปประมาณ 6 เดือนหลังจากนี้ ส่วนเลือก อบจ. รัฐบาลต้องเอาไปคิดต่อ 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net