Skip to main content
sharethis

สองครูฝึกทหาร (จำเลย) ขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ฟ้องทหารที่ศาลพลเรือนขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีพลทหารกิตติธรเสียชีวิต หลังเข้ารับการทหารเกณฑ์พลัด 1/66

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ นัดตรวจพยานหลักฐาน โดยเจ้าพนักงานคดี ในวันนี้พนักงานอัยการยื่นบัญชีพยานบุคคล จำนวน 19 ปาก โจทก์ร่วมยื่นบัญชีพยาน 8 ปาก และจำเลย (ทหารครูฝึกและผู้ฝึก รวมสองนาย) ยื่นบัญชีพยาน 14 ปาก นอกจากนี้จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการฟ้องคดีทหาร ในศาลพลเรือนขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ คดีนี้ศาลอาญาทุจริตฯ ภาค 5 รับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ปท. 1/2566 ในข้อหาร่วมกันกระทำการโหดร้ายฯ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 กรณีพลทหารกิตติธร เวียงบรรพตเสียชีวิต หลังเข้ารับการเกณฑ์ทหารใหม่ พลัดที่ 1/66 ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ พลทหารกิตติธร เวียงบรรพต ทหารเกณฑ์พลัดที่ 1/66 ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย เข้ารับการเกณฑ์ทหารตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ภริยาได้เดินทางไปรับพลทหารกิตติธรและพบว่ามีอาการอิดโรย ตัวซีด ไข้ขึ้น มีอาการร้อนและหนาวสลับกัน ซึ่งจากการสอบถามของญาติแจ้งว่าพลทหารกิตติธร มีอาการป่วยมาหลายวันและพยายามขอให้ทางค่ายส่งมารักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ภริยาของพลทหารกิตติธรเห็นอาการของพลทหารกิตติธรหนักมาก จึงยืนกรานขอให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราชในระหว่างวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2566 ก่อนที่พลทหารกิตติธรเสียชีวิตในวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ด้วยภาวะคือติดเชื้อในกระแสเลือด

สองครูฝึก (จำเลย) ได้ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเขตอำนาจศาลทหาร โดยได้ชี้แจงว่า “โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลนี้โดยอาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 3 และมาตรา 34 จึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 199 ซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการทหารและขณะ เหตุในการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยทั้งสองยังคงรับราชการทหาร อีกทั้งการฝึกวินัย ทหารนั้นมีหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่จำเป็นในการเตรียมความพร้อมในการรบหากมีสงคราม ซึ่งหากการ กระทำของข้าราชการทหารถูกตรวจสอบโดยศาลอื่นอันมิใช่ศาลทหารนั้น ย่อมมีผลกระทบต่อการปฏิบัติ ธำรงวินัยทหาร และกระทบต่อความรักษาความมั่นคงของประเทศ”  ศาลอาญาทุจริตฯ มีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว และให้โจทก์ยื่นคำคัดค้านภายใน 7 วัน ก่อนส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้ความเห็นต่อการยื่นคำร้องดังกล่าวว่า “การยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการฟ้องคดีทหารในศาลพลเรือนขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่นั้น พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหายปี 2565 เป็นกฎหมายใหม่ที่บัญญัติให้แม้การกระทำผิดโดยทหารก็ให้พิจารณาคดีในศาลพลเรือน การฟ้องคดีของอัยการทุจริตภาค5 เป็นไปตามกฎหมายใหม่ที่บัญญัติไว้ สอดคล้องกับมาตรา199 รัฐธรรมนูญปี 2560แล้ว อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการสากลที่คดีละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ทหารต้องพิจารณาคดีในศาลที่เป็นอิสระ”

นับแต่พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย มีผลบังคับใช้เมื่อกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา คดีนี้อาจถือเป็นคดีแรกและยังคงเป็นคดีเดียวในขณะนี้ที่อัยการสั่งฟ้องด้วยข้อหาอาญาตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ คดีนี้จึงเป็นคดีสำคัญยิ่งที่จะสร้างบรรทัดฐานและมาตรการป้องกันในการฝึกทหาร ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นกรณีดังกล่าวกับทหารใหม่คนใดอีก มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมกันติดตามความคืบหน้าคดีและการส่งคำร้องของจำเลยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าพลทหารกิตติธรและครอบครัวที่เดินหน้าต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริงและได้รับการชดใช้เยียวยา รวมถึงสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย  เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับพลทหารเกณฑ์คนใดได้อีก และยุติวัฒนธรรมลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเป็นจริง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net