ถก ‘เซ็กส์แฟร์ๆ’: ‘ถ้า Yes นาทีนี้ นาทีต่อไป No ก็คือ No’

นักวิชาการจากสมาคมเพศวิถีศึกษา ให้นิยาม Sexual Consent การยินยอมและได้รับการอนุญาตจากอีกฝ่าย เฉพาะเจาะจงในเวลานั้นๆ ไม่จำเป็นต้องจบกระบวนการ เสนอวิธีการสืบคดีทางเพศ ให้ความสำคัญกับการยินยอมของเหยื่อ ดูว่ามีความสามารถและมีเสรีภาพหรือไม่ ณ ขณะนั้น ย้ำต้องเข้าใจมายาคติเกี่ยวกับ Sexual Consent

กฤตยา อาชวนิจกุล (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ จัดงานเสวนา 'เซ็กส์แฟร์ๆ เพราะเราแคร์' ถึงเวลาสังคมไทยต้องเข้าใจ Sexual Consent ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยหนึ่งในวิทยากร คือ กฤตยา อาชวนิจกุล เลขาธิการสมาคมเพศวิถีศึกษา ได้กล่าวว่า ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ของหญิงไทยและเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของคนข้ามเพศ ส่วนผู้ชายที่ถูกละเมิดทางเพศมีจำนวนหนึ่งและเป็นเรื่องซับซ้อนพูดยากกว่าเพศอื่น

Sexual Consent คือการมีสุขภาวะทางเพศที่ดี

กฤตยาตั้งคำถามว่า ในสังคมไทยใครเป็นคนนิยามคำว่า ‘Sexual Consent’ เพราะในแง่ของการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจใครเป็นคนนิยามเรื่องอะไร คนนั้นจะมีอำนาจมาก เพราะฉะนั้นเมื่ออยู่ในระดับปัจเจกบุคคล ใครเป็นคนนิยามเรื่องนี้ อยู่ในสังคม ใครเป็นคนนิยามเรื่องนี้ อยู่ในสถานการณ์ที่ขึ้นโรงขึ้นศาล ใครเป็นคนนิยามเรื่องนี้ ตัวผู้ให้คำนิยามไม่มากก็น้อยคือคนกำหนดกฎเกณฑ์ของ Sexual Consent

กฤตยากล่าวต่อถึงเรื่องสุขภาวะทางเพศว่า เราต้องมีความรู้และอำนาจในการแสดงออกเรื่องเพศของเราด้วย ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ทางเพศ ทั้งหมดต้องอยู่ในมุมมองที่เราเคารพคนอื่น ไม่ใช้ความรุนแรง จะทำให้สุขภาวะทางเพศของเรามีความสุข เซ็กส์ต้องมาพร้อมการยินยอมพร้อมใจ แต่สังคมไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น

Sexual Consent คือการที่เรายินยอมตกลงและได้รับการอนุญาตจากอีกฝ่าย เซ็กส์ที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากอีกฝ่ายคือการข่มขืน ถ้าเขาไม่พูดอะไรไม่ใช่เขา Yes อย่าสันนิษฐานจากภาษากาย ต้องมีความชัดเจน ต้องถามอีกฝ่ายเสมอว่า Consent ไหม และ No ก็คือ No

Sexual Consent ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้หมดอารมณ์ จริงๆ แล้ว Sexual Consent มันเพิ่มความสนุกเรื่องเพศ เพราะเรารู้ว่าเราต้องการทำอะไรอย่างไรท่าทางแบบไหน แต่ถ้า Yes เมื่อห้านาทีที่แล้ว พอนาทีที่หกเขาไม่ Yes ก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามันไปถึงกลางลำแล้วก็ต้องถอนออก ไม่จำเป็นต้องจบกระบวนการ Yes จึงเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงในเวลานั้นๆ สามารถเปลี่ยนใจได้ Sexual Consent จึงไม่ใช่แค่ Yes No แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องทั้งความต้องการ แรงปรารถนา และระดับแตกต่างในการปะทะสังสรรค์ เป็นการเจราจาทั้งภาษากายและวาจา ถ้าจะมีสุขภาวะทางเพศที่ดี Sexual Consent เป็นเรื่องสำคัญมาก

Sexual Consent ในทางกฎหมายและการสืบคดีเรื่องเพศ

กฤตยากล่าวว่า เหล้าและยาเสพติดทำให้เรื่อง Consent พร่าเลือนมองไม่เห็น เพราะคนที่ตกในภาวะนี้ไม่สามารถยืนยัน Consent ตัวเองในทางกฎหมายได้

ถ้ามีประเด็นกฎหมายเกี่ยวข้อง การไม่ยินยอมพร้อมใจคือการข่มขืนหรือละเมิด ซึ่งตำรวจอังกฤษได้ทำ 4 เรื่องสำคัญในการสืบคดีเรื่องเพศ คือ

1.ดูความสามารถในการให้ความยินยอมพร้อมใจ ผู้ถูกละเมิดตกอยู่ในสภาพเมาเหล้าเมายาหรือไม่ มีปัญหาทางจิตเวชในการให้ความยินยอมหรือไม่ ตกอยู่ในภาวะไร้ความรู้สึกหรือกำลังหลับอยู่หรือไม่ ในประเทศไทยก็มีสถิติผู้หญิงที่มีปัญหาด้านสติปัญญาถูกละเมิดทางเพศสูง ตำรวจอังกฤษให้ความสำคัญกับตัวผู้ถูกละเมิดว่ามีศักยภาพพร้อมที่จะยินยอมหรือไม่

2.ดูเสรีภาพในการยินยอมพร้อมใจ ผู้กระทำอาจใช้กำลัง มีสถานะในอำนาจสูงจนสามารถทำอะไรก็ได้ เช่น สามี นายจ้าง ผู้นำทางศาสนา ครู หมอ ฯลฯ ผู้ถูกละเมิดมีสถานะต้องพึ่งพิงผู้กระทำทางการเงิน ทางสังคม ฯลฯ ความสัมพันธ์ทางอำนาจเป็นปัจจัยสำคัญในการถูกละเมิด ผู้ถูกละเมิดมีวุฒิภาวะพอหรือไม่

3.ดูขั้นตอนในการยินยอมพร้อมใจ ไทยเราไม่มีตำรวจผู้หญิงมากนัก และส่วนใหญ่ตำรวจไทยจะตั้งเป้าว่าคนที่ถูกละเมิดไปทำอะไรให้เขามาละเมิด แต่ตำรวจอังกฤษบอกว่าต้องสอบปากคำผู้ต้องสงสัยว่า หนึ่ง-รู้ได้อย่างไรว่าผู้ถูกละเมิดให้คำยินยอมและต้องยินยอมตลอดการมีเซ็กส์ด้วย สอง-ต้องมองว่าคนทำมุ่งเป้าไปที่เหยื่อคนนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในช่วงที่ผู้ถูกละเมิดเปราะบางมากที่สุดหรือไม่

4.ดูว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่ามีการให้ความยินยอม โดยข้อหนึ่ง-ผู้ต้องสงสัยตระหนักหรือละเลยต่อสัญญาณว่าผู้ถูกละเมิดไม่ได้ต้องการมีเซ็กส์หรือไม่ และสอง-ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าความยินยอมพร้อมใจที่จะมีเซ็กส์ในครั้งนี้เป็นความยินยอมแบบไหน แบบสอดใส่ข้างหน้าอย่างเดียว หรือข้างหลังด้วย หรือทางปากด้วย หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทุกอย่าง และรายละเอียดของการมีเซ็กส์ไม่ใช่เพียงการสอดใส่ ในหญิงขายบริการต่างประเทศอาจยินยอมให้สอดใส่ แต่ไม่ยอมให้จูบปากหรือจับหน้าอก

มายาคติเกี่ยวกับ Sexual Consent

กฤตยากล่าวต่อถึงเรื่องมายาคติและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Sexual Consent ซึ่งมีตั้งแต่ 1.การแต่งตัวไม่เกี่ยวข้องกับการถูกละเมิด 2.บาดแผลทางใจของผู้ถูกละเมิดอาจทำให้การให้ปากคำกับตำรวจไม่สอดคล้องกัน ต้องให้เวลา 3.เมาไม่ใช่สัญญาณว่าอยากมีเซ็กส์ แต่เมาทำให้อยู่ในสภาวะเปราะบางที่จะถูกเอาเปรียบทางเพศได้ง่าย 4.จากงานวิจัยอังกฤษพบว่าการถูกละเมิดทางเพศ ผู้ถูกละเมิดส่วนใหญ่ไม่ได้สู้อย่างรุนแรง แต่พยายามที่จะขัดขืนหรือพูดดีๆ กับผู้กระทำ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าเขายินยอม หรือการแจ้งความช้าก็ไม่ใช่ว่าเขายินยอมแล้วมาเปลี่ยนใจทีหลัง แต่การแจ้งความช้าอาจเป็นผลมาจากบาดแผลทางใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเป็นความกลัวต่อผู้กระทำ หรือเป็นวุฒิภาวะของคนถูกละเมิดเอง หรือกลัวการขึ้นศาล

กฤตยาชี้ว่า ถ้าตำรวจ ทนาย อัยการ ผู้พิพากษาเข้าใจ มายาคติเกี่ยวกับ Sexual Consent ก็จะไม่เกิดคำพิพากษาที่โหดร้าย เช่น ศาลฎีกาไทยเมื่อ 20-30 ปีก่อน พิพากษาว่าเป็นการยินยอมเพราะผู้หญิงถูกผลักลงไปนอนในที่ที่มีแต่หินกรวด แล้วมีหินก้อนหนึ่งแหลม ผู้หญิงขยับตัวดึงหินก่อนนั้นออก ทนายสามารถบอกได้ว่าผู้หญิงดึงหินก้อนนั้นออก ศาลบอกว่าอันนั้นยินยอมพร้อมใจ หรือในประเทศอิตาลี ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนนุ่งกางเกงยีนส์ ศาลอิตาลีบอกว่ากางเกงยีนส์ถอดยากเพราะฉะนั้นถ้าถอดออกมาได้ ไม่ใช่การข่มขืน แต่เป็นการสมยอม พอศาลพิพากษาวันรุ่งขึ้นผู้หญิงอิตาลีใส่กางเกงยีนส์กันหมดเพื่อเป็นการประท้วง

และสุดท้ายกฤตยากล่าวถึงเรื่องอายุของการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกกฎหมาย โดยทุกสังคมมีกฎหมายระบุว่าจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ต้องอายุเท่าไหร่ ถ้าอายุต่ำกว่านั้นแม้จะได้รับความยินยอมก็ผิดกฎหมาย เช่น ในไทยต้องอายุ 15 ปีขึ้นไป อเมริกา 16 ปี เกาหลีใต้สูงสุดในโลกคือ 20 ปี หรือประเทศในตะวันออกกลางมีเซ็กส์ได้ก็ต่อเมื่อแต่งงานเท่านั้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท