Skip to main content
sharethis
ยอดศูนย์รับแจ้ง 2 วัน นายจ้าง 24,168 ราย ลูกจ้าง 74,396 ราย กทม.มากสุด การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย ครม.ไฟเขียวร่าง ปฏิญญาร่วม CLMVT ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านแรงาน CLMVT ครั้งที่ 2

26 ก.ค.2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานเปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวและสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 ณ ศูนย์การค้า IT Square หลักสี่พลาซ่า วันนี้ (26 ก.ค. 60) ว่า “ขอเชิญชวนนายจ้างที่มีลูกจ้างไม่มีใบอนุญาตทำงาน ไม่มีเอกสารอะไรเลย ช่วงนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยกันจัดระบบแรงงานต่างด้าว โดยสามารถมาแจ้งได้ที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศทั้ง 100 แห่ง ตั้งแต่วันนี้ – 7 สิงหาคม 2560 ซึ่งนายจ้างสามารถมายื่นเอกสารที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ว่ามีลูกจ้างอยู่กี่คน แล้วรับใบนัดหลังจากนั้นวันที่ 8 สิงหาคม – 6 กันยายน 2560 ให้นายจ้างพาลูกจ้างมาตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง การตรวจลงตรา (Visa) การตรวจโรค และการออกใบอนุญาตทำงาน(Work Permit)เพราะฉะนั้น ช่วงนี้นายจ้างต้องรีบมาจัดการให้ลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมายตามระยะเวลาที่กำหนด สำหรับกรณีเปลี่ยนนายจ้างหรือ ขอโควต้าใหม่ที่จะนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ยังสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ได้ตลอดเวลาแต่ไม่ต้องรีบมาดำเนินการในช่วงนี้ เพราะอาจจะเกิดความล่าช้าขึ้นได้

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า สำหรับศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว IT Squareยังไม่พบรายงานปัญหาหรืออุปสรรคแต่อย่างใด เจ้าหน้าพร้อมให้บริการอย่างรวดเร็ว สามารถรองรับผู้มาลงทะเบียนได้ 2,000 คน/วัน ส่วนข้อมูลการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวทั้ง 100 ศูนย์ ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2560 - วันนี้ เวลา 14.00 น. มีผู้มาลงทะเบียน นายจ้างกว่า 30,000 คน ลูกจ้างกว่า 100,000 คน ซึ่งจังหวัดที่มีผู้มาลงทะเบียนมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมา คือ เชียงใหม่ 

เผยยอดศูนย์รับแจ้ง 2 วัน นายจ้าง 24,168 ราย ลูกจ้าง 74,396 ราย กทม.มากสุด

นอกจากนี้ อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เผยว่า ศูนย์เฉพาะกิจเพื่ออำนวยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ศฉต.) กระทรวงแรงงาน ได้รายงานผลการปฏิบัติงานประจำวันที่ 25 ก.ค.60 ซึ่งเป็นวันที่สองของการเปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ทั่วประเทศ 100 ศูนย์ โดยเป็นศูนย์รับแจ้งใน กทม. 11 ศูนย์ และส่วนภูมิภาค 89 ศูนย์ พบว่า ตัวเลขสะสม(ข้อมูลวันที่ 25 ก.ค. ณ เวลา 17.00 น.) มีนายจ้างมาใช้บริการแล้ว 24,168 ราย แยกเป็นนายจ้างที่มาขอรับบริการที่ศูนย์ฯ 21,256 ราย และนายจ้างที่ยื่นคำขอลงทะเบียนออนไลน์ 2,912 ราย ลูกจ้างต่างด้าว 74,396 คน แยกเป็นแรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนที่ศูนย์ฯ 69,655 คน และขอลงทะเบียนออนไลน์ 4,740 คน แรงงานต่างด้าวที่มีการยื่นคำขอจ้าง 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา 46,058 คน กัมพูชา 17,791 คน และลาว 10,520 คน รวมทุกสัญชาติ 74,396 คนเมื่อจำแนกตามประเภทกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ เกษตรและปศุสัตว์ 17,238 คน กิจการก่อสร้าง 11,573 คน และจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 7,374 คน

อนันต์ชัย กล่าวต่อว่า ศูนย์รับแจ้งฯ ที่มีการยื่นขอจ้างคนต่างด้าวมากที่สุด 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 17,989 คน เชียงใหม่ 3,661 คน ปทุมธานี 3,554 คน นครปฐม 3,333 คน และราชบุรี 2,516 คน ทั้งนี้ จากรายงานผลการดำเนินงานให้บริการนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติทั่วประเทศ ยอดสะสมระหว่างวันที่ 23 มิ.ย. - 25 ก.ค.60 พบว่า มีนายจ้าง/สถานประกอบการมาใช้บริการแล้ว 658,589 ราย แยกเป็น การขอโควตา 393,113 ราย ขอใบอนุญาตทำงาน 96,401 ราย ขอต่อใบอนุญาตทำงาน 13,536 ราย ขอเปลี่ยนนายจ้าง 51,111 ราย ขอเพิ่มท้องที่การทำงาน 29,241 ราย แจ้งออกจากงาน 54,981 ราย และขอหนังสือรับรองออกนอกพื้นที่ 20,206 ราย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศต้นทางแล้ว 34,056 ราย ส่วนผลการให้บริการสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 ระหว่างวันที่
23 มิ.ย. - 24 ก.ค.60 พบว่า มีผู้ใช้บริการ 22,367 ราย ส่วนใหญ่จะสอบถามเรื่องการขออนุญาตทำงาน รองลงมาการเปลี่ยนนายจ้าง และการเพิ่มท้องที่การทำงาน ตามลำดับ

กระทรวงแรงงาน จึงขอเชิญชวนนายจ้างที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสารให้รีบมาดำเนินการที่ศูนย์ฯ ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด 100 ศูนย์ทั่วประเทศ หรือยื่นผ่าน www.doe.go.th ตั้งแต่บัดนี้ - 7 ส.ค.60 เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนและทันตามเวลาที่กำหนด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ครม.ไฟเขียวร่าง ปฏิญญาร่วม CLMVT ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย 

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า คณะรัฐมนตรีมี (ครม.) มติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบต่อ (ร่าง) ปฏิญญาร่วม CLMVT ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย สำหรับ การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านแรงาน CLMVT ครั้งที่ 2 2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ให้การรับรองปฏิญญาร่วม CLMVT ด้าน การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านแรงาน CLMVT ครั้งที่ 2 และ  3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไข (ร่าง) ปฏิญญาร่วม CLMVT ดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ กระทรวงแรงงาน ดำเนินการ ได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง

สาระสำคัญของร่างปฏิญญาร่วมฯ ซึ่งกลุ่มประเทศ CLMVT ให้ความสำคัญในด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย ดังนี้

                1. เพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย รวมถึงระบบการจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงาน

                2. ส่งเสริมการข้ามแดนและการจ้างงานโดยถูกกฎหมายผ่านข้อตกลงทวิภาคี

                3. แก้ไขสาเหตุของปัญหาของการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบไม่ปกติและแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นระบบ

                4. สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป คนหางาน คนงาน นายจ้าง หน่วยงานจัดส่งแรงงานเอกชน รวมถึงหน่วยงานผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องในประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย

                5. พัฒนาหลักสูตรสำหรับการอบรมก่อนการเดินทางเพื่อให้ความรู้และเตรียมความรู้พื้นฐาน เช่น สัญญาจ้างแรงงาน ภาษา วัฒนธรรม และประเพณี และกฎหมายและข้อห้ามในประเทศปลายทาง เป็นต้น

                6. ส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบและส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัยจากประเทศต้นทางมายังประเทศปลายทาง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net