Skip to main content
sharethis
ผู้แทนกระทรวงแรงงานเปิดแนวทางผ่อนปรนปัญหาหลัง พ.ร.ก. แรงงานผลักแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ อัด ค่าปรับถูกก็ไม่สะดุ้ง รัฐบาลไม่มีนโยบายจดทะเบียนใหม่ เปิดกระบวนการแจ้งขอพิสูจน์สัญชาติลูกจ้างทั่วประเทศ 15 วัน ย้ำไม่ใช่จดทะเบียนใหม่ ประชาสังคมชี้ เอกชนบ่นอุบทำตามกฎหมายไม่ได้ กระทรวงแรงงานต้องชัดเจนกันมือมืดหาประโยชน์บนความสับสน
 
เมื่อ 21 ก.ค. 2560 สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “นโยบายแรงงานต่างด้าว ตาม พ.ร.ก. การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ” ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ ชั้น 12 อาคารเกษม อุทยานิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
มีการเชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน พิชิต นิลทองคำ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน นาวาเอกดรณ์ ทิพนันท์ จากกองทัพเรือ มาในฐานะผู้แทนจากหน่วยงานราชการอื่น  มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศใน มาในฐานะตัวแทนนายจ้าง ศ.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา และสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ตัวแทนภาคประชาสังคม ในงานมีป้ายตัวแทนลูกจ้างแต่ไม่มีใครมา มีผู้ให้ความสนใจเต็มห้องประชุม

ผู้แทนกระทรวงแรงงานอัด ค่าปรับถูกก็ไม่สะดุ้ง รัฐบาลไม่มีนโยบายจดทะเบียนใหม่

พิชิต นิลทองคำ
 
พิชิต กล่าวว่า แท้จริง พ.ร.บ.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เดิมก็มี พ.ร.บ. อยู่แล้วตั้งแต่ปี 2521 และมี พ.ร.ก. การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย ปี 2559 บังคับอยู่แล้ว ในนั้นมีหลักเกณฑ์กำหนดการจ้างงานคนต่างด้าวอยู่แล้ว แต่ได้มีการรวมเนื้อหาของกฎหมายทั้งสองมาเป็น พ.ร.ก. ฉบับใหม่ เนื้อหาส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ก็มาจากกฎหมายข้างต้น หลักเกณฑ์จริงๆ ไม่ได้เปลี่ยนไป เพียงแต่จะเพิ่มส่วนแก้ไขให้เป็นประโยชน์ทั้งกับนายจ้างและคนต่างด้าว รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมมีโอกาสเข้ามาดูแลคนต่างด้าวที่ทำงานอยู่ กฎหมายฉบับนี้คุ้มครองแรงงานต่างด้าวทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ช่างเทคนิค ช่างฝีมือต่างๆ อาจารย์ชาวต่างชาติที่มาทำงานในไทย ไม่ใช่เพียงแค่แรงงาน 3 สัญชาติ เมียนมาร์ เขมร ลาว เพียงแต่มามีการตื่นตระหนกเพราะอัตราค่าปรับใหม่สูงขึ้น แต่พอค่าปรับต่ำก็ใช้แรงงานผิดกฎหมายกันอยู่ดี
 
ก่อนที่จะมีการร่างกฎหมายมีการประชาสัมพันธ์แต่อาจจะทำไม่ทั่วถึง ก็ยอมรับว่าเป็นความผิดของกระทรวงแรงงาน แต่ก็ต้องอยู่ที่ความใส่ใจของผู้ที่จะใช้ด้วยเช่นกัน แต่พอกฎหมายออกมาแล้วก็มีผลกับเศรษฐกิจ เกิดความโกลาหล แรงงานต่างด้าวหลายคนตกใจและเดินทางกลับไป รัฐบาลก็ได้มีมาตรการให้ผ่อนคลายและให้ปรับตัว จึงมีการเลื่อนการบังคับใช้ในส่วนค่าปรับ แต่ตอนนี้ที่จ้างงานผิดกฎหมายก็ยังผิดอยู่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องเสีย โดยให้เวลา 6 เดือนไปดำเนินการให้ถูกต้อง แต่ที่มองวันนี้คือ คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานส่วนใหญ่ในไทยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ชาติ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ จากข้อมูลกรมจัดหางานมียอดขออนุญาตทำงานทั้งสิ้น 2 ล้าน 6 แสนคน แต่จำนวนแรงงานต่างด้าวที่แท้จริงนั้นมีเท่าไหร่ไม่มีใครทราบข้อเท็จจริง ผลสำรวจบางสำนักก็คาดการณ์มากน้อยไม่เท่ากับขณะนี้มีคนมาอยู่ที่สมุทรสาครราว 2-3 ล้านคน แต่ที่สมุทรสาครมีคนขึ้นทะเบียนอยู่เดิม 4-5 แสนคน แปลว่าถ้าเดินชนคน 10 คน ก็คงเป็นคนต่างด้าวถึง 7 คน แต่ว่า 7 คนนั้นเป็นคนเถื่อนทั้งหมดหรือเปล่า แต่เราจะบริหารจัดการอย่างไรให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานนั้นทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อบางงานคนไทยไม่ทำ ลูกหลานเราไม่ทำ จึงมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามา แต่เราไม่อยากให้มีการใช้คนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะนั่นอาจจะนำไปสู่การบังคับแรงงาน ขัดหนี้แรงงาน กระทั่งไปสู่การค้ามนุษย์ การเข้ามาถูกต้องก็จะช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ไปได้ แต่ ณ วันนี้ กฎหมายออกมาแล้วทำอย่างไร เมื่อมีปัญหา รัฐบาลก็มีมาตรการการผ่อนคลายซึ่งเน้นอยู่ที่คนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ คือคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ทางรัฐบาลผ่อนผันให้นายจ้างนำคนต่างด้าวให้ไปดำเนินการให้ถูกต้องตาม กฎหมายภายในวันที่ 1 ม.ค. 2561 มาตรการดังกล่าวต้องการให้คนต่างด้าวไปทำเอกสารที่ประเทศต้นทางเสีย เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายเปิดจดทะเบียนคนต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้เปิดจดทะเบียนเพราะเปิดแล้วก็ไม่รู้จบ เรามีการเปิดจดทะเบียนครั้งใหญ่มาแล้ว 4 ครั้ง แต่ก็ยังมีการทะลักมาอย่างต่อเนื่อง 

เปิดกระบวนการแจ้งขอพิสูจน์สัญชาติลูกจ้างทั่วประเทศ 15 วัน เล็งประสานเมียนมาร์ - กัมพูชาตั้งศูนย์พิสูจน์ในไทย ย้ำไม่ใช่จดทะเบียนใหม่

พิชิตกล่าวว่า ในวันที่ 24-7 ก.ค. 2560 กระทรวงแรงงานได้ตั้งศูนย์รับแจ้งความต้องการของนายจ้าง เพื่อทราบข้อมูลว่านายจ้างมีคนอยู่ในมือเท่าไหร่ภายใน 15 วัน ถามว่าทำไมให้เวลาสั้นหนักหนา เพราะว่าถ้าหากนายจ้างมีคนอยู่ในมืออยู่แล้วก็แค่ให้ลูกจ้างกรอกเอกสารมายื่นให้ใช้เวลาวันเดียวก็น่าจะเสร็จแล้ว เราเปิดศูนย์ในการรับแจ้งทั่วประเทศในทุกจังหวัด ให้นายจ้างที่มีลูกจ้างต่างด้าวอยู่ กรอกแบบฟอร์มจ้างคนต่างด้าวมายื่นให้ที่ศูนย์ฯ ภายใน 15 วัน เราจะได้รู้ว่ามีคนต่างด้าวที่ยังไม่จดทะเบียนเท่าไหร่ ใน กทม. คาดว่าจะมีจำนวนมาก จึงเปิด 10 ศูนย์ ประมาณจากยอดการจดทะเบียนครั้งล่าสุดของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 มียอดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสูงสุดเป็นจำนวน 1 ล้าน 5 แสนคน ซึ่งเป็นการจดทะเบียนครั้งสุดท้ายของรัฐบาล กระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมา แรงงานเหล่านั้นก็ยังอนุญาตให้ทำงานอยู่ ครั้งสุดท้ายที่มีประกาศต่ออายุการทำงานในปี 2559 เหลือ 1 ล้าน 1 แสนคน ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีการเปลี่ยนนายจ้างหรือมีการเคลื่อนย้ายก็ว่ากันไป ครั้งนี้เราจึงเปิดรับแจ้งความต้องการสำหรับนายจ้างที่มีแรงงานทำงานอยู่แล้วเท่านั้น ยื่นเพื่อส่งตัวให้ลูกจ้างกลับไปขอรับเอกสารจากประเทศต้นทางแล้วกลับมาขออนุญาตทำงาน ตั้งแต่กระบวนการก่อนการส่งตัวต้องมีการคัดกรองความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างก่อนหลังจากวันที่ 7 ส.ค. เมื่อปิดศูนย์ฯ เพื่อป้องกันการขนแรงงานเข้ามาใหม่ แล้วจึงจะให้ใบอนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางกลับทำเรื่องที่ประเทศต้นทาง 
 
ขณะนี้ กระทรวงแรงงานได้ประสานงานกับประเทศต้นทางไว้ ถ้าเมียนมาร์จะส่งเจ้าหน้าที่มาจัดตั้งศูนย์ตรวจสัญชาติและออกเอกสารให้คนของเขาในประเทศไทย ดังนั้นคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ก็ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ ซึ่งขณะนี้เมียนมาร์เข้ามาดำเนินการให้กับแรงงานกลุ่มเดิมที่ถือบัตรชมพูในพื้นที่ 5 จังหวัด ที่สมุทรสาคร 2 แห่ง สมุทรปราการ 1 แห่ง ที่แม่สาย แม่สอด และระนองซึ่งเป็นชายแดน 3 แห่ง โดยศักยภาพการออกหนังสือให้อยู่ที่วันละ 500 คน รวมต่อวันสามารถทำได้วันละ 3,000 คน และทางเมียนมาร์จะส่งเจ้าหน้าที่มาเพิ่มเติมเพื่อออกหนังสือให้กับคนกลุ่มใหม่ด้วย นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการให้  ในส่วนกัมพูชา ได้มีการเจรจาให้กัมพูชาส่งทีมเข้ามาดำเนินการ โดยตั้งศูนย์อยู่ที่ระยอง แต่พร้อมกระจายคนออกไปในพื้นที่ที่มีคนทำงานเยอะเพื่อแรงงานจะได้ไม่ต้องเดินทาง หลังวันที่ 1 ม.ค. 2561 นายจ้างต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว บางท่านอาจจะบอกว่ายุ่งยาก แต่กฎหมายนี้เป็นการส่งเสริมการควบคุม ไม่ใช่กฎหมายในการส่งเสริมและให้บริการ เราอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานตามความจำเป็น มันก็ต้องมีกฎ กติกาที่ดูแลการเข้ามา มันต้องมีการดูแลจากประเทศต้นทาง ปลายทางเพราะมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่นโยบายบริหารจัดการคนต่างด้าวต้องการจริงๆ คือ การขาดแคลนแรงงานเพราะคนไทยไม่ทำ แรงงานต่างด้าวก็เข้ามา เราไม่ได้ห้าม แต่ขอให้เข้ามาตามความจำเป็นและความเหมาะสม ให้สามารถควบคุมดูแลได้ไม่ให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวเป็นภาระของประเทศไทยที่ต้องมาช่วยดูแล ภาระขององค์กรภาคเอกชนที่ต้องเช้ามาช่วยเหลือเขา เกิดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างหรือกระบวนการที่พาเข้ามาก็ดี กฎหมายนี้มีกำหนดบทลงโทษทั้งนายจ้าง ผู้ลักลอบ และมีการเปิดช่องให้ผู้ประกอบธุรกิจการนำเข้าแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายให้เป็นคนกลางระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้ และผ่อนผันในเงื่อนไขที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติในอดีตหลายๆ เรื่องให้มีประโยชน์มากขึ้น รวมถึงให้ทางภาคประชาสังคมได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ด้วย
 
ในภาคการประมงที่เกี่ยวข้องที่มีปัญหาการขาดแคลนเพราะโดนกฎหมายหลายตัวบังคับ ทางภาครัฐก็พยายามช่วยดูแลในการเจรจากับประเทศต้นทางให้ส่งแรงงานเข้ามา ทั้งนี้ ประเทศต้นทางก็ยังรอดูท่าทีว่าไทยจะดูแลแรงงานของเขาได้ดีเพียงใด มีรายได้ สวัสดิการเหมาะสมหรือไม่เมื่อเทียบกับการทำงานบนบกที่สภาพการทำงานสะดวกสบายกว่า ภาครัฐก็ไปเจรจากับทางเมียนมาร์ กัมพูชา แต่ก็ยังมีคนที่ลักลอบเข้ามาทำงานอยู่ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะดูแลอย่างไร ไม่ใช่กระทรวงแรงงานออกกฎหมายฉบับเดียวแล้วควบคุมได้หมดทุกเรื่อง ในด้านความมั่นคงพื้นที่ชายแดนก็ต้องช่วยกันดูแล เมื่อคนต่างด้าวเข้ามาทำงานแล้วชุมชนก็มีปัญหาหลายเรื่องหลายอย่าง ก็ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับอื่น
 
พิชิตยังกล่าวในตอนท้ายงานเสวนาอีกว่า กฎหมายเมื่อออกมาแล้วก็เป็นนโยบายของรัฐ จะให้ยกเลิกนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจะให้แก้ไขในส่วนที่มีข้อผิดพลาดคงมีความเป็นไปได้ กฎหมายลูกที่จะออกมาก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ในประเด็นการผ่อนผันตามประกาศครั้งนี้ ทำให้คนที่ทำงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะกี่วันก่อนมีประกาศให้กระทำการพิสูจน์ความเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง ไม่ใช่การจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่ 
 
ผู้ตรวจการกรมจัดหางานกล่าวว่า ก่อนจะออก พ.ร.ก. ได้มีการเชิญตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามารับฟัง แต่การทำกฎหมายที่เร่งรีบ ทำให้การเชิญผู้มีส่วนได้เสียไม่ครอบคลุม มีการเชิญกลุ่มเอกชน กลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ มีการจัดสัมมนา แต่อาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด กฎหมายฉบับนี้ได้มีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหลักในการพิจารณา กระทรวงแรงงานไม่ได้คิดจะเพิ่มโทษให้สูงขนาดนี้ แต่ทางภาครัฐเห็นว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องที่ออกมาก่อน มีการกำหนดบทลงโทษไว้สูง เช่น พ.ร.ก. ประมง มีโทษปรับ 4 แสน - 8 แสนบาท และมีการลงโทษกับแรงงานต่างด้าว ก็เลยยกให้ พ.ร.ก. มีโทษในระดับเสมอกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมา รัฐบาลก็ย้อนกลับมาทบทวน โดยจะมีภาคประชาสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องดูกันต่อไป ทางภาครัฐยอมรับทุกข้อคิดเห็นเมื่อมี พ.ร.ก. ออกมา ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็มีการพูดกัน  “แต่คนที่นั่งอยู่ในสภาก็มีการใช้คนต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ท่านทำเอง แล้วท่านผลักดันเอง แล้วท่านไม่มีจิตสำนึกในการที่จะทำให้ถูกต้องหรืออย่างไร ให้เป็นตัวอย่างที่ถูกต้องกับคนอื่น” ที่เขาจ้างได้เพราะเขาใช้อำนาจบารมีในการคุ้มครอง ไม่มีใครกล้าไปตรวจ แต่พอกฎหมายแรงขึ้นมาก็กลัว มาร้องโวยวาย โดยพิชิต กล่าวว่า ตนเองก็คิดว่าบทลงโทษที่ออกมานั้นแรงเกินไป แต่ต้องมองในอีกมุมว่าถ้าผู้คนมีจิตสำนึกในการปฏิบัติตามกฎหมายก็จะมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ
 
ทั้งนี้ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเรียกเก็บเงินกับชาวต่างด้าวที่เดินทางกลับนั้น พิชิตกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะกับบุคคล องค์กร ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและรายงานเรื่องให้ภาครัฐทราบ

ประชาสังคมชี้ เอกชนบ่นอุบทำตามกฎหมายไม่ได้ กระทรวงแรงงานต้องชัดเจนกันมือมืดหาประโยชน์บนความสับสน

สมพงษ์ สระแก้ว

สมพงษ์ กล่าวว่า มีความเห็นที่แตกต่างกันไปในเรื่อง พ.ร.ก. ที่ออกมา ในส่วนธุรกิจส่วนหนึ่งก็บอกว่าควรยกเลิกแล้วเขียนใหม่ ส่วนคนที่เห็นด้วยก็คือภาครัฐที่จะมองในมิติความมั่นคงมากๆ ที่อยากจัดการเรื่องนี้ให้อยู่หมัด แต่การจัดการภาคประมงที่ทำให้อยู่หมัดมาแล้วก็ไม่เหมือนจัดการแรงงาน
 
เมื่อฟังจากผู้ประกอบการก็มักได้ยินว่า การปฏิบัติตามกฎหมายไม่สามารถทำได้ ยิ่งเป็นการสร้างปัญหา เช่น กลุ่มที่มีเอกสารบัตรสีชมพูหรือหนังสือเดินทาง ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีอะไรเลย มีเงื่อนไขมากซึ่งไม่ถูกเขียนในกระดาษที่ว่า ถ้าจะเอาแรงงานที่ไม่มีอะไรเลยมาจ้างก็ต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าทำงานกับผู้ประกอบการมาก่อน  6 เดือน แต่ปรากฎการณ์แห่เดินทางกลับที่เพิ่งเกิดจากผลการประกาศใช้กฎหมายและนโยบายต่างๆ ขึ้นก็ทำให้มีปัญหา แล้วถ้าแรงงานที่เพิ่งหาได้หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีคำถามขึ้นมาว่า ในกรณีเหล่านี้จะยกหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจหรือไม่ ในเรื่องการจับกุม ไม่เว้นแม้แต่ตำรวจ แต่ทหารกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็มีข่าวการเรียกรับสินบน ทางตำรวจก็บอกว่าไม่มีเอกสารก็กลับไม่ได้แม้รัฐบาลจะประกาศผ่อนปรนด้วย ม.44 ตรงนี้ก็เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้แรงงานไม่สามารถที่จะอยู่แบบถูกต้องได้ เลยฟันธงว่า ถ้าช่วงนี้กระทรวงแรงงานไม่สามารถสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบโดยตรงและชัดเจนให้ได้ก็คงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแรงงานในระบบมีจำนวนประมาณ 2 ล้าน 6 แสนคน ที่เหลือประมาณครึ่งคือทำงานผิดนายจ้างหรือทำงานผิดประเภท และมีอีกจำนวนมากที่ไม่ปรากฎในสารบบ ในสายตาผมคิดว่าคงประมาณ 2 ล้านคน ประมาณจากการผุดขึ้นมาของหอพัก โรงงานขึ้นมามากมายในสมุทรสาคร ก็ไม่รู้ว่าทั้งหมดจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไรถ้าเจอเงื่อนไขลักษณะนี้ 
 
สุดท้ายกลุ่มเหล่านี้พอเจอเรื่องความตื่นตระหนก พากันกลับบ้าน ตอนนี้ก็ยังไหลกลับ แต่พอฟังความรู้สึกจากฝั่งพม่า ทางการพม่าก็คงรู้สึกคล้ายกับรัฐบาลไทยที่อยากให้การย้ายถิ่นเป็นไปอย่างถูกต้อง แต่เมื่อเดินทางกลับไปแล้ว การจะกลับเข้ามาก็มีต้นทุนสูง แล้วจะต้องทำอย่างไร 
 
กลุ่มแรงงานที่ไม่มีอะไรจะต้องทำให้ง่ายและเงื่อนไขน้อย ถ้าเงื่อนไขเยอะจะเปิดช่องให้กับใคร เราก็ทราบกันอยู่ อยากให้มีมาตรการกับกลุ่มนี้เหมือนที่ทำตอนปี 2557 คือให้ขึ้นมาเลย แล้วรวมถึงกลุ่มผู้ติดตามที่กังวลกันว่าจะเป็นภาระ แต่เท่าที่ติดตามพบว่า กลุ่มดังกล่าวได้รับการศึกษา ฝึกทักษะ กลายเป็นแรงงานที่เป็นคุณภาพในสังคมไทย 
 
ขณะนี้เป็นช่วงที่งง เพราะนายจ้างรู้เรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.ก. และกระบวนการจดแจ้งน้อยมาก ตอนนี้แต่ละจังหวัดก็มีเรียกประชุมนายจ้าง ซึ่งผมเชื่อว่าแต่ละจังหวัดพูดไม่เหมือนกัน เมื่อวานหลังประชุมเสร็จมีผู้ประกอบการมานั่งบ่นให้ฟังว่าทำไม่ได้ เพราะเจอเงื่อนไขการพิสูจน์ทราบความสัมพันธ์ ล่าสุดเมื่อวานทางเราไปช่วยเหลือแรงงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ แรงงานที่เข้ามากับนายหน้ามีแต่พาสปอร์ต แต่ไม่มีวีซ่าทำงาน โดยเงื่อนไขก็ต้องส่งกลับ แต่ถ้าส่งกลับไปแล้วทำอย่างไร ในเมื่อลงทุนมาแล้ว แล้วพอไปเจอขบวนการนายหน้าก็มาใหม่ ประเด็นนี้ต้องทบทวน ไม่เช่นนั้นจะสร้างปัญหาเรื้อรังแน่นอน
 
ในช่วงการวางเงื่อนไข หลักเกณฑ์ต่างๆ ผมคิดว่าน่าจะเป็นช่วงที่ทางกระทรวงแรงงานบริหารจัดการให้ดี ต้องรับฟังผู้ประกอบการ ทางภาคประชาสังคมให้เยอะๆ เพราะพอผ่อนคลายแล้ว กระทรวงแรงงานเริ่มมีมาตรการออกมา เราได้รับการประชาสัมพันธ์เรื่อยๆ แล้วก็มีการเปลี่ยนเรื่อยๆ คนที่รู้เยอะกว่าคือพวกโบรคเกอร์ที่หากินกับเรื่องนี้ ทำให้ไม่รู้ว่าต้องเชื่อใครระหว่างภาครัฐกับโบรคเกอร์ที่คุยกันตลอด แล้วปัจจุบันส่วนที่กลับบ้านไป บางคนกลับไปแล้วก็ลักลอบกลับมาใหม่เพราะที่บ้านไม่มีอะไรทำ รอเวลาให้สถานการณ์ผ่อนคลาย แล้วกลุ่มนี้มาแล้วพอลงทะเบียนไม่ได้ ก็กลับไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายใหม่ ถ้าวางเงื่อนไขที่ไม่สามารถจัดการที่ดีได้ก็ไม่สำเร็จแน่นอน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net